window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

ฮีลใจยังไง หากรู้สึกว่า ‘เรายังเลี้ยงลูกได้ไม่ดีเพราะไม่มีเวลาให้มากพอ’

เมื่อ 5 วันที่แล้ว
ฮีลใจยังไง หากรู้สึกว่า ‘#เรายังเลี้ยงลูกได้ไม่ดีเพราะไม่มีเวลาให้มากพอ ???? บทความโดย #คุณนายข้าวกล่อง
.
#อยากมีเวลาให้ลูกมากกว่านี้จัง’ – นี่คงอาจเป็นความในใจของคุณแม่ผู้เป็น Working Women หลาย ๆ คน ที่มักอาจเกิดขึ้นเวลากลับมาบ้านแล้วรู้สึกเหนื่อยล้าจากงานมาก ๆ หรือกลับมาแล้วก็ยังไม่ว่างเพราะต้องดูแลบ้านช่อง ต้องทำกับข้าว หรือบางคนยังอาจต้องทำงานต่อ ทำให้บางทีเราก็จำเป็นต้องตัดสินใจเอาตัวออกห่างจากลูก ๆ เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้เวลากับลูกก็อาศัยพลังงานไม่น้อยเหมือนกัน หรือบางทีการที่เราเข้าหาเขาในสภาวะที่ใจยังไม่พร้อม ก็อาจยิ่งทำให้ลูกและเรายิ่งแย่ก็ได้เหมือนกัน
.
#ความรู้สึกผิดของการทำหน้าที่แม่ที่มีต่อลูก (Maternal Guilt)’ จึงอาจเป็นสิ่งที่ผุดขึ้นได้กับคุณแม่ที่กำลังทำงาน ซึ่งก็อาจเป็นความรู้สึกที่สร้างความรบกวนต่อจิตใจแม่ ๆ อย่างเราไม่น้อยเลย เพราะเชื่อว่าลึก ๆ ในใจของเรา หลายคนก็คิดว่ามันคงไม่แฟร์เท่าไหร่ที่จะบอกตัวเองเหมือนกันว่าเราทำหน้าที่นี้ไม่ดีพอ แต่บางทีในเวลาที่เราไม่ไหวแล้วดันเผลอไปดุลูก มันก็คงอดไม่ได้ที่จะกลายเป็นเหตุผลสนับสนุนความคิดนี้ หรือคงทำให้เรายิ่ง question ในการเลี้ยงลูกของเราเอง และทำให้เรายิ่งกดดันตัวเองเพื่อทำให้กลายเป็นคุณแม่ที่ดีกว่านี้ ที่นอกจากต้องเป็นคุณแม่ที่สามารถทำงานได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง หรือบางคนต้องกลับมาบ้าน ดูแลสามี ดูแลบ้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เก็บกวาดเช็ดถูห้อง ทำกับข้าว ซักผ้า และมีเวลากลับมาดูแลลูกแล้ว เราต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ให้เผลอดุลูกด้วย เพื่อทำให้การเลี้ยงลูกของเราดีและมีประสิทธิภาพที่สุด ก้อนความรู้สึกผิดในใจของคุณแม่ก็เลยยังคงอยู่และสร้างผลกระทบต่อเราเป็นลูปอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีเท่าไหร่
.
แถมงานวิจัยยังบอกด้วยว่าก้อนความรู้สึกผิดนี้ยังดูมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลในอนาคตด้วยเช่นกัน แม้หลายคนคงจะพยายามแก้ปัญหาด้วยหาบาลานซ์การทำหน้าที่แม่และการเป็น Working Women เพื่อจัดการกับความรู้สึกนี้ แต่บางทีก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันบาลานซ์ยากเหลือเกิน ความรู้สึกผิดนี้ก็เลยยังวนลูปอยู่กับเราเรื่อย ๆ ต่อไปที่เหมือนดูเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมือนไม่มีที่สิ้นสุดสักที
.
แล้วเราจะทำการ ‘ฮีลใจ’ ของเราจากก้อนความรู้สึกผิดนี้ได้อย่างไร? - งานวิจัยล่าสุดปี 2023 ของคุณ Nur Başer Baykal ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Bartin University ประเทศตุรกี ได้ลองสัมภาษณ์ถึงคุณแม่ลูกเล็กวัย 2-6 ขวบ ผู้ยังคงต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวไปด้วยจำนวน 10 คน เพื่อสำรวจประสบการณ์ที่คุณแม่เหล่านี้เจอที่ทำให้เกิดความรู้สึกผิด รวมถึงวิธีการฮีลใจตัวเองกับความรู้สึกนั้นว่าพวกเขาทำกันอย่างไรบ้าง
.
ซึ่งผลจากการสำรวจสรุปว่า นอกจากแม่ ๆ เหล่านี้จะพยายามฮีลใจด้วยการหาเวลาพักผ่อนให้กับตัวเอง หรือพยายามเข้าหาสามี หรือคนในครอบครัวคนอื่น ๆ เพื่อช่วยดูแลลูกแทนเพื่อจัดการความรู้สึกผิดแล้ว (เพราะอย่างน้อยมีคนช่วยดูแลลูกตอนที่เราไม่อยู่)
.
สิ่งที่ #คุณนายข้าวกล่อง ทึ่งและเซอร์ไพรส์มาก ก็คือพวกเขาจัดการความรู้สึกผิดเหล่านี้ได้จากการตระหนักรู้ว่าความรู้สึกผิดนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะ ‘พวกเขาติดกับดักกับอุดมคติจากค่านิยมทางสังคมที่พยายามหล่อหลอมภาพของการเป็นคุณแม่ที่เพอร์เฟค’ ทำให้พวกเขาสามารถยอมรับที่จะไม่มีเวลาเลี้ยงลูกที่มากพอได้ เพราะหากพูดกันในชีวิตจริง การที่เราจะเป็นคุณแม่ที่มีเวลาเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่พร้อมกับทำงานไปด้วย แถมบางคนยังต้องรับผิดชอบหน้าที่ดูแลบ้านช่องอีก มันก็คงเป็นไปได้ยากมาก ๆ เหมือนกันที่เราจะทำมันได้ในทุกอย่าง เพราะเวลาเราก็มีจำกัด และเราก็ไม่ได้มีหลายร่างที่จะสามารถจัดการทุกอย่างได้จริง ๆ
.
และจริง ๆ แล้วหากมองในอีกมุมหนึ่ง ภาพของการเป็น ‘คุณแม่ที่เพอร์เฟค’ ที่ต้องทำได้ทุกอย่าง มันก็อาจเป็นหนึ่งในกระบวนการจัดสรรสังคมแบบ ‘ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy)’ ที่สร้างค่านิยมให้การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของคุณแม่เป็นหลักได้เหมือนกัน ทำให้เหล่าคุณแม่จำเป็นต้องทำให้เต็มที่ และอาจมีความกลัวที่จะไม่ถูกเป็นที่ยอมรับว่าเป็น ‘คุณแม่ที่ดีพอ’ ด้วยหากไม่ได้ทำหน้าที่นี้ตามที่สังคมบอกไว้ แตกต่างจากเหล่าคุณพ่อที่เป็น Working Men ที่อาจไม่ได้รู้สึกผิดมากนักหากเทียบกับเหล่าคุณแม่
.
การตระหนักรู้ถึงกลไกเบื้องหลังของความรู้สึกผิดนี้ที่มาจากกุศโลบายเพื่อจัดระเบียบสังคม จึงอาจเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยทำให้จัดการความรู้สึกผิดได้เพราะสามารถ ‘อนุญาตที่จะเป็นคุณแม่ที่ไม่เพอร์เฟค’ ได้มากขึ้น เพราะเอาเข้าจริง หากคำว่าเพอร์เฟคเป็นอย่างที่สังคมว่าไว้ เชื่อว่าก็คงมีคุณแม่ที่ไม่เพอร์เฟคอยู่บนโลกนี้อีกหลายคน และเราก็คงตอบตัวเองลึก ๆ ข้างในได้ว่า ‘เราก็ทำเต็มที่ในส่วนของเราแล้วจริง ๆ’ เช่นกัน
.
และอีกหนึ่งสิ่งที่เหล่าคุณแม่ในงานวิจัยคิดเหมือนกันเพื่อจัดการกับความรู้สึกผิด ก็คือพวกเราตระหนักรู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การทำหน้าที่ของการเป็นคุณแม่ที่เพอร์เฟค แต่คือการมั่นใจว่าลูกของพวกเราได้รับความรักอย่างแท้จริง หรือมั่นใจได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับลูก มันเป็นความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและปลอดภัยจริง ๆ (secure attachment) ซึ่งทักษะเหล่านี้คุณแม่ทุกท่านสามารถมาเรียนรู้ต่อเพิ่มเติมได้ฟรีที่ https://www.netpama.com/
.
สุดท้ายนี้ #คุณนายข้าวกล่อง ขออนุญาตฝากบทสัมภาษณ์ของเหล่าคุณแม่ในงานวิจัยเอาไว้ให้กับทุกคน เผื่อเอาไว้เป็นกำลังใจ หรือไอเดียในการฮีลใจของพวกเรากันต่อไปนะคะ หรือว่าหากผู้ปกครองท่านใดอยากแบ่งปัน อยากแชร์วิธีการฮีลใจความรู้สึกที่เราไม่มีเวลาเลี้ยงลูกมากพอของตัวเอง สามารถแชร์ในคอมเมนต์กันได้เลยค่ะ (เปิดช่วงเวลาผู้ปกครองซัพพอร์ตผู้ปกครองกันเถอะ! 55555)
.
‘สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นแม่ไม่ใช่การทำหน้าที่แม่บ้าน แต่คือการ make sure ว่าลูกของเราได้รับความรักจริง ๆ’
.
‘สิ่งสำคัญที่สุดคือลูกเราสัมผัสได้ถึงความรักที่เรามอบให้ ฉันบอกรักลูกของฉันทุกวัน ปกติเวลาอยู่บ้านฉันมักจะมีอารมณ์รุนแรง เวลาฉันกลับมาถึงบ้านฉันเลยพยายามใช้เวลาอยู่กับลูกเพียงเล็กน้อยแต่ให้มีคุณภาพที่สุด’
.
‘คุณไม่จำเป็นต้องคุณแม่ที่เพอร์เฟคถึงจะเป็นคุณแม่ที่ดีได้ คุณไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ทุกอย่าง แค่เป็นคุณแม่ที่ดีก็เพียงพอแล้ว’
.
อ้างอิง
Baykal, Nur Başer. "Maternal workload, maternal guilt and the coping strategies of working mother." Psychological Applications and Trends 2023, Apr (2023): 70-74.

Positive Parenting Anywhere Anytime มาเลี้ยงลูกเชิงบวกกับ 'เน็ตป๊าม้า' หลักสูตรออนไลน์สอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก

Empower Families, Enrich Societies
เสริมพลังครอบครัว, สร้างพลังสังคม


#Netpama #เน็ตป๊าม้า #คัมภีร์เลี้ยงลูกเชิงบวก #เลี้ยงลูกเชิงบวก
หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PAMA