window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

ความ ‘ก้าวร้าว’ มาจากไหน? – ทำความเข้าใจความก้าวร้าวในมุมมองใหม่ กับซีรี่ส์ดราม่ายอดฮิตติดกระแสใน Netflix ‘Adolescence (วัยลน คนอันตราย)’

เมื่อ 1 สัปดาห์ที่แล้ว
ความ ‘ก้าวร้าว’ มาจากไหน? – ทำความเข้าใจความก้าวร้าวในมุมมองใหม่ กับซีรี่ส์ดราม่ายอดฮิตติดกระแสใน Netflix ‘Adolescence (วัยลน คนอันตราย)’ บทความโดย #คุณนายข้าวกล่อง
.
เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากสำหรับลิมิเต็ดซีรี่ส์สัญชาติอังกฤษใหม่ล่าสุดอย่าง ‘Adolescence (วัยลน คนอันตราย)’ ที่นอกจากหนังจะตีแผ่ถึงความโหดร้ายของสังคมปัจจุบันที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นได้อย่างชัดเจนและคงชวนให้ชาวผู้ปกครองและคนดูหลายคนวิตกกังวลน่าดูแล้ว (ใช่ค่ะ ขนาดคุณนายข้าวกล่องดูเองยังนั่งเครียดเองเลย 55555) หนังยังได้แสดงแง่มุมที่น่าสนใจของตัวละครหลักอย่าง ‘เจมี่ มิลเลอร์ (Jamie Miller)’ ได้อย่างดีมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฉากที่เขาได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาคลินิก ‘บริโอนี่ แอริสตัน (Briony Ariston)’ (ที่นักแสดงเล่นดีมากทั้งคู่ ดีมากจนตกใจเพราะเด็กที่แสดงเป็นเจมี่ เพิ่งเข้าสู่การแสดงต่อหน้ากล้องจริง ๆ จัง ๆ จากหนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรกเอง!) ซึ่งสามารถทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นเหลือเกินว่า เพราะอะไรเด็กเงียบ ๆ ที่รักการเรียน ฉลาด ดูไม่มีพิษมีภัยเพราะก็เป็นแค่เด็กตัวเล็ก ๆ วัย 13 ปี ถึงสามารถแสดงความก้าวร้าว จนไปถึงขั้นก่อเหตุฆาตกรรมฆ่าคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ
.
ซึ่งวันนี้ #คุณนายข้าวกล่อง จะขออนุญาตลองช่วยชาวผู้ปกครองทุกท่านมาลองตีแผ่และทำความเข้าใจเรื่องนี้กันในมุมที่ตนเองพอจะเข้าใจ เพื่อที่อย่างน้อยเราในฐานะผู้ดูแลลูก จะได้ข้อมูลหรือไอเดียใหม่ ๆ เพื่อนำไปปรับใช้และทำความเข้าใจกับลูกของเราต่อไป
.
#ความก้าวร้าว เกิดขึ้นเพื่อปกป้อง #ความเปราะบาง ภายในจิตใจ
อ้างอิงจากฉากพูดคุยกับนักจิตวิทยา (ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นครั้งที่ 3 ที่ได้คุยแล้ว) นักจิตวิทยาในเรื่องค่อย ๆ ถามคำถามเจมี่เพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงของความคิด ไปจนถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นที่ทำให้เขาตัดสินใจฆ่าเพื่อนผู้หญิงร่วมชั้นของตัวเองหรือเคที่ โดยระหว่างการพูดคุยจะเห็นได้ว่าเจมี่ได้พยายามต่อต้านนักจิตวิทยาอยู่ตลอดตั้งแต่ช่วงต้น ไม่ว่าจะเป็นการคอยถามถึงสาเหตุของการตอบคำถามต่าง ๆ การใช้คำพูดที่เปลี่ยนแปลงไป การขอดูสิ่งที่นักจิตวิทยาจดในกระดาษ รวมไปถึงการพยายามถามเรื่อง personal ของนักจิตวิทยาเอง ซึ่งเชื่อว่าหลายคนที่ดูตรงนี้อาจรู้สึกเริ่มรู้สึกกลัวเด็กคนนี้ หรือเริ่มรู้สึกอึดอัดเหมือนกับที่นักจิตวิทยาที่รู้สึกกระอักกระอ่วน แม้ว่าเธอจะไม่ได้แสดงมันออกมาตรง ๆ ก็ตาม
.
แต่หากเราลองมองดูในมุมของเจมี่ การที่ถูกตำรวจจับและต้องเข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์ แถมต้องมาเจอใครหลาย ๆ คนมานั่งซักถามประวัติของตัวเอง และยิ่งเป็นการพูดคุยที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ตนทำไม่ดีและไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมมาก ๆ ด้วยแล้ว มันก็คงยากเหมือนกันที่จะรู้สึก ‘ปลอดภัย’ และ ‘เชื่อใจ’ ใครสักคนหนึ่งได้ การแสดงพฤติกรรมต่อต้านอย่างเช่นการไถ่ถามถึงทุกอย่างเพื่อสำรวจให้แน่ใจว่าคน ๆ นั้นจะ ‘ไม่หลอกให้เขาตายใจ’ หรือ ‘เพื่อเช็คว่าบุคคลนี้ไม่ได้อันตราย’ ก็คงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ ซึ่งในจุดนี้ทางนักจิตวิทยาก็พยายาม clarify หลายอย่าง รวมถึงพยายามอธิบายถึงขอบเขตทางวิชาชีพของเธอเพื่อทำให้เจมี่เข้าใจด้วย เพื่อทำให้เจมี่เข้าใจและเห็นว่าเธอไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายเขาจริง ๆ เพียงแต่อยากที่จะช่วยเหลือและทำความเข้าใจเขามาก ๆ เพียงเท่านั้น ซึ่งเธอก็รับมือกับมันได้อย่างดีมาก
.
ซึ่งหลังจากที่การพูดคุยค่อย ๆ ดำเนินไป ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นการดำเนินการพูดคุยอย่างราบเรียบ เพราะมันทำให้เจมี่รู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่หลายครั้งจนทำให้ต้องโมโหออกมา แต่สุดท้ายแล้วเราก็ได้พบว่าจริง ๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้เขาแสดงพฤติรกรรมที่รุนแรงออกไป เพราะว่าเขามีมุมมองต่อตนเองที่ไม่ดีมากจริง ๆ มากเสียจนกลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับเขา รวมไปถึงครอบครัวของเขาเองที่เขารักมากเช่นกัน นั่นเลยเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่อยากยอมรับว่า ‘เขารู้สึกอับอายต่อพ่อ’ ‘รู้สึกว่าเขาไม่มีอะไรดีเลย’ ‘เขามีหน้าตาน่าเกลียด (จนต้องรอเวลาที่ผู้หญิงอ่อนแอมากทางอารมณ์ถึงไปขอเขาเดต)’ ‘ผู้หญิงมีอำนาจการเลือกคู่มากกว่าผู้ชาย (เลยทำให้เลือกจะกดขี่ผู้หญิงเพื่อกลบเกลื่อนความเปราะบางนี้ของตัวเอง)’ ไปจนถึงไม่อยากยอมรับว่าเขาเป็นคนฆ่าเพื่อนแม้จะมีหลักฐานชัดเจนแล้วก็ตาม
.
เพราะการยอมรับว่าทุกอย่างทั้งหมดนั้นว่าเกิดขึ้นจริง มันยิ่งตอกย้ำว่าเขาแย่ และไม่สมควรได้รับการยอมรับจากสังคมหรือความรักจากใครอีกก็ได้จริง ๆ ซึ่งมันคงเจ็บปวดมากสำหรับเด็กอายุ 13 ปีคนหนึ่งเหมือนกันที่จำต้องรู้สึกแปลกแยก ไม่มีใครเอาเพราะเป็นคนไม่ดี แม้กระทั่งคุณพ่อของตัวเองที่เขารักมากที่สุดก็ตาม
.
เพราะฉะนั้น การที่เด็กคนหนึ่งก้าวร้าว ไม่ได้แปลว่าเขาเกิดมาพร้อมกับความรุนแรง หรือจำต้องเติบโตมากกับความรุนแรงเพราะลอกเลียนการกระทำนี้มาจากสิ่งรอบข้างหรือผู้ปกครองเสมอไป แต่มันสามารถมาจากการที่ ‘ตัวตนของเขาไม่แข็งแรงมาก ๆ’ มากเสียจนทำให้กังวลต่อการเข้าสังคม กลัวการไม่เป็นที่ยอมรับ ไปจนถึงอาจมีพฤติกรรมต่อต้านเพื่อหลีกเลี่ยงการยอมรับความจริงที่เขาไม่เอาไหน หรือมีพฤติกรรมต้องการการยืนยันจากคนรอบข้างตลอดเวลาว่าตัวเขานั้นดีสำหรับสังคมจริง ๆ เหมือนกับที่ทั้งในระหว่าการพูดคุยเจมี่เองพยายามร้องขอการยืนยัน (validation) จากนักจิตวิทยาอยู่เรื่อย ๆ จนถึงช่วงท้ายของ session ที่เขาถามออกไปเลยว่านักจิตฯ ชอบตัวเขามั้ย (ที่ไม่ใช่แบบเชิงชู้สาว) เพราะในอีกมุมเขามองว่านักจิตฯ น่าจะเข้าใจเขาและยอมรับเขาได้จริง ๆ เพื่อช่วยให้เขาเห็นด้วยกับอีกด้านหนึ่งของเขาว่าเขาก็เป็นคนดี (แบบที่สังคมบอก) เหมือนกัน
.
การรีบด่วนสรุปว่า #เด็กก้าวร้าวคือเด็กไม่ดี และสรรสร้างวิธีการแก้ไขปัญหาจาก mindset นั้น เลยเป็นทฤษฎีที่อาจใช้ไม่ได้เสมอไป รวมถึงอาจไม่ได้ช่วยให้แก้ไขปัญหาที่ต้นตอเสียทีเดียว เพราะแท้จริงแล้วมีอะไรอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมการก้าวร้าวนั้นมากมาย แถมเหตุผลเบื้องหลังนั้น บางเรื่องมันก็ฟังดูน่าเศร้าไม่น้อยเลย ☹
.
#การค่อย ๆ ทำความเข้าใจเขาอย่างไม่ตัดสิน และ #ค่อย ๆ validate ตัวตนของเขาเรื่อย ๆ เช่น
(ในกรณีของเจมี่)
‘จริงอยู่ที่พ่อรู้สึกแย่ตอนเห็นลูกเล่นฟุตบอลไม่ได้ แต่การที่พ่อรู้สึกแย่ไม่ได้แปลว่าลูกเล่นไม่ดี หรือพ่อไม่รักลูก’
.
นี่คงเป็นวิธีที่ทำให้เขาสามารถยอมรับและชื่นชมความเป็นตัวเองได้ และสามารถ create การตีความได้ว่าการที่คนอื่นรู้สึกไม่ดีไม่ได้แปลว่าเราแย่เลยทำให้เขารู้สึกไม่ดี เพราะในกรณีนี้ จริง ๆ แล้วตัวคุณพ่อเองรู้สึกแย่ไม่ใช่เพราะจากที่เจมี่เล่นฟุตบอลไม่ได้ แต่เสียใจเพราะเขาเข้าใจความรู้สึกของเจมี่ รวมถึงอาจกำลังโทษตัวเองด้วยเหมือนกันที่อาจเป็นพ่อที่ไม่ดีพอและทำให้ลูกต้องเจอกับเหตุการณ์นี้ สิ่งนี้จะช่วยทำให้ลูกสามารถยอมรับการกระทำที่ไม่ดีของตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้เร็วและดีขึ้นนั่นอนาคตนั่นเอง
.
และหากผู้ปกครองท่านใดต้องการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจความเป็นวัยรุ่น ไปจนถึงกระบวนการเลี้ยงลูกอื่น ๆ ที่มีส่วนดีต่อเราและลูกเพิ่มเติมได้ในอนาคต สามารถลองเข้ามาศึกษากันต่อได้เลยที่ www.netpama.com

Positive Parenting Anywhere Anytime มาเลี้ยงลูกเชิงบวกกับ 'เน็ตป๊าม้า' หลักสูตรออนไลน์สอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก

Empower Families, Enrich Societies
เสริมพลังครอบครัว, สร้างพลังสังคม


#NetPAMA #WatchAndLearn #เน็ตป๊าม้า #Adolescence
หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PAMA