window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

วิธีสร้างคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ให้ลูกในแบบพ่อแม่ทำได้จริงทุกวัน

เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว
วิธีสร้างคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ให้ลูกในแบบพ่อแม่ทำได้จริงทุกวัน
บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์

ในปัจจุบันอาจมีค่านิยมวัด “คุณค่าของเด็ก” จากผลการสอบ รางวัลจากการแข่งขัน ความสามารถพิเศษ หรือแม้แต่หน้าที่การงานพ่อแม่และฐานะของครอบครัว

พ่อแม่บางคนจึงลงทุนพาลูกไปเรียนพิเศษ เสริมความสามารถส่งแข่งชิงรางวัลหลายๆสนาม หากลูกเก่งและโดดเด่น สร้างความภาคภูมิใจให้ตนเองและผู้อื่นได้น่าจะทำให้ลูกรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง

แต่ในความเป็นจริง หากคุณค่าของลูกถูกวัดด้วย “ความสมบูรณ์แบบ” อาจกลายเป็นความกดดันที่สร้างบาดแผลในใจ กังวลกับความรู้สึกไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ต้องเก่งขึ้นกว่านี้เพื่อแข่งขันกับผู้อื่นอยู่เสมอ

"ไม่มีใครจะทำให้ลูกรู้สึกต้อยต่ำได้ หากเขาเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเองมากพอ"

คุณค่าในตัวเอง (self-esteem) คือการรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่า มีความมั่นคงทางใจจากภายใน รู้สึกเป็นที่รัก จึงรักและภูมิใจในตนเอง เคารพและยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองและผู้อื่น จึงไม่ยอมให้ใครรังแกหรือด้อยค่าง่ายๆ มี Growth Mindset กล้าที่จะลงมือทำโดยไม่กลัวความล้มเหลว เพราะรู้คุณค่าตนเองจึงอยากทำดี มุ่งมั่นพาตัวเองประสบความสำเร็จ

พ่อแม่สามารถสร้างคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ให้ลูกได้ในทุกวันโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนใดๆ ได้ดังนี้

รักและเข้าใจในตัวตนของลูก ภูมิใจแม้วันนี้ลูกจะเป็นเพียงเด็กธรรมดาคนหนึ่ง มองหาข้อดีของลูกอยู่เสมอ เช่น เกรดไม่ดีแต่ลูกมีความรับผิดชอบไม่ขาดเรียน ถึงไม่โดดเด่นแต่ลูกเป็นเด็กร่าเริงมีน้ำใจ พูดถึงข้อดีของลูกให้เขาฟังบ่อยๆ ย้ำให้เขารู้ว่า ลูกดีพอและดีขึ้นได้เสมอ

สร้างวินัยและฝึกทักษะให้ลูกตามวัย ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองและช่วยงานบ้านตามอายุ เมื่อเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วยแม่ ช่วยเหลือเพื่อนและครูได้อีกจะยิ่งทำให้ลูกภูมิใจ หากเพื่อนหรือใครมาว่าเขา “ไม่ดี ไม่เก่ง” ลูกจะไม่หวั่นไหวเพราะมั่นใจว่า เขาทำได้ มีคุณค่ากับทั้งตนเองและผู้อื่น

อย่าตัดปัญหาด้วยการบ่นแล้วทำให้ลูก หากลูกไม่ทำให้ทำให้ลูกดู แล้วพาลูกทำด้วยกัน ชื่นชมเมื่อทำเสร็จจนลูกทำได้เป็นนิสัย วิธีนี้ลูกมักจะยอมทำแต่โดยดีเพราะคำชมจะทำให้ลูกรู้สึกมีค่า (ศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทที่1-2 ปัจจัยในการปรับพฤติกรรมลูกและเทคนิคการสื่อสารได้ฟรี ในคอร์สจัดเต็ม)
อยากให้ลูกเป็นแบบไหน ให้ชมลูกจนเชื่อว่าเขาเป็นคนอย่างนั้น ชมให้บ่อยในสิ่งดีๆที่เขาทำ หากชมถูกวิธีจะไม่ต้องกลัวลูกเหลิง ชมที่การกระทำชี้ให้ลูกเห็นคุณสมบัติที่ดีของตัวเอง (ศึกษาเทคนิคการชมเพิ่มเติมได้ฟรี ในบทที่3 ในคอร์สจัดเต็ม)

”ลูกทำการบ้านก่อนทั้งๆที่อยากจะออกไปเตะบอลกับเพื่อน แม่ภูมิใจมาก ลูกเป็นเด็กมีความรับผิดชอบจริงๆ “

ฝึกให้ลูกได้สื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตนเอง ให้ลูกได้มีสิทธิ์เลือกและเรียนรู้ผลที่ตามมา เช่น เลือกเสื้อผ้า งานอดิเรก เลือกวิชาเรียน ยอมให้เขาได้ล้มเหลว ตัดสินใจผิดหรือทำพลาดบ้าง เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และแก้ไข

การที่รู้ว่ามีสิทธิ์ในตัวเอง เมื่อโดนรังแก ลูกจะกล้าบอกความต้องการหรือปฎิเสธเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตน กล้าตัดสินใจลงมือทำ เรียนรู้วิธีรับมือและแก้ไขเมื่อเจอปัญหาด้วยความมั่นใจ ก้าวข้ามอุปสรรคจนประสบความสำเร็จในที่สุด

ปลูกฝังให้ลูกเคารพตนเองและผู้อื่น สอนให้ลูกรู้จัก คิด วิเคราะห์ แยกแยะคำวิจารณ์ ยอมรับและปรับปรุงหากมันคือความจริง เพราะ “คนทุกคนไม่สมบูรณ์แบบ เราต่างเรียนรู้และพัฒนาตัวเองจากความผิดพลาดได้เสมอ“

หากพบคนที่ชอบรังแกและด้อยค่าผู้อื่น สิ่งที่คนผู้นั้นพูดไม่ใช่คุณค่าของเราแต่คือตัวตนของเขา ข้างในเขาอาจไม่มั่นใจและต้องการความช่วยเหลือ ช่วยเขาหากเราพอช่วยได้ หรือรู้จักวิธีหลบหลีกเพื่อปกป้องจิตใจตัวเอง

หมั่นฝึกให้ลูกได้คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองเพื่อเตรียมพร้อม อาจทำได้โดยผ่านเรื่องราวของผู้อื่น เช่น อ่านนิทาน นิยาย หรือจากประเด็นข่าว ชวนลูกคุยฝึกให้ลูกคิด ตัดสินใจว่า ทำไมพวกเขาถึงทำแบบนั้น /เพราะอะไรหากเป็นลูกอยากจะทำอย่างไร

สุดท้ายแต่สำคัญที่สุดคือ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก อยากให้เขาทำแบบไหนจงทำแบบนั้นให้ลูกเห็น เพราะลูกมักจะดูที่เราทำมากกว่าฟังเราสอนเสมอ

Net PAMA ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง self-esteem ให้กับลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่ สำหรับท่านที่ต้องการฝึกวินัยให้ลูก ชมลูกให้เป็นเพื่อให้ลูกอยากทำดี ลงโทษแบบไม่ให้ลูกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง สื่อสารให้ถูกวิธีเพื่อลูกเกิดความภูมิใจ สามารถเข้าไปลงทะเบียนเรียนได้ฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในคอร์สจัดเต็มที่จัดทำโดยทีมจิตแพทย์และนักจิตวิทยาที่ https://www.netpama.com/ มัมมี่B รับประกันว่า สามารถนำไปใช้ได้จริงและคุ้มค่าทุกนาทีแน่นอนค่ะ ! 



#NetPAMA #เน็ตป๊าม้า #คัมภีร์เลี้ยงลูกเชิงบวก 
 
 
หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa