window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

ทะเลาะกับลูกแบบไหนถึงยิ่งเข้าใจและรักกัน เทคนิคใช้ได้ผลกับลูกทุกวัยโดยเฉพาะลูกวัยรุ่น

เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว

การทะเลาะกันในครอบครัวเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อเกิดความไม่เข้าใจหรือมีความคิดที่ขัดแย้งกัน 

“ หยุดพูดเดี๋ยวนี้นะ ! หยุดเถียงแล้วฟังแม่” 

เมื่อแม่โกรธ อารมณ์ที่กำลังขึ้น อาจทำให้เราตวาดหรือเสียงดังใส่ลูกเพื่อควบคุมให้ลูกฟังเรา แต่ในความเป็นจริง หากลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ฟังเขา ลูกก็จะไม่ฟังเราเช่นกัน


การใช้อารมณ์เข้าปะทะ คำพูดเอาชนะ หรือความพยายามที่จะควบคุมอีกฝ่ายโดยไม่รับฟังเหตุผล การกระทำเหล่านี้ต่างหากที่จะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกัน


พ่อแม่สามารถทำให้การทะเลาะกลายเป็นการปรับความเข้าใจ ทำให้เราและลูกเข้าใจกันมากขึ้นได้ดังนี้

ถึงพ่อแม่จะโกรธแต่ยอมรับและฟังลูกพูดจนจบ
ควบคุมอารมณ์โกรธของพ่อแม่ด้วยสติ บอกตรงๆให้ลูกเข้าใจถึงความรู้สึกและความต้องการของพ่อแม่ (ด้วยเทคนิคป๊าม๊า I-message)

“แม่โกรธมากนะที่ลูกเสียงดังใส่แม่ แม่พร้อมจะฟังนะถ้าลูกพูดดีๆ  ” 

ในการฟังลูก อย่าขัดหรือพูดแทรก
ฟังให้จบเพื่อที่จะเข้าใจความรู้สึกและสิ่งที่ลูกต้องการบอก จากนั้นสะท้อนความรู้สึกและความต้องการของลูกออกมา เพื่อแสดงว่า พ่อแม่รับฟังและเข้าใจเขา จะทำให้ลูกเปิดใจรับฟังเราเช่นกัน (ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก บทที่ 2 เทคนิคการสื่อสาร)
“แม่เข้าใจว่าลูกหงุดหงิดที่ถูกแม่บ่น และกลัวว่าจะทำงานส่งครูไม่ทัน เพราะใกล้กำหนดส่งแล้ว“ 

แก้ไขปัญหาตรงหน้าโดยคุยกันเฉพาะปัญหาในวันนี้ 
เรากำลังทะเลาะกันเรื่องอะไร จะแก้อย่างไร อย่ารื้อฟื้นเรื่องเก่าๆ อย่าตำหนิว่าเป็นเพราะนิสัยของลูก เพราะจะยิ่งทำให้ต่างฝ่ายต่างยิ่งโกรธจนไม่รับฟังกัน

“ ลูกก็นิสัยแบบนี้ ผลัดวันประกันพรุ่ง ครูสั่งตั้งนานแล้วไม่ทำ แล้วมาโวยวาย ” ❌

“ใกล้กำหนดส่งงานแล้ว แต่ลูกยังทำไปนิดเดียว ลูกจะวางแผนทำงานนี้อย่างไรให้เสร็จทันดี“✅

ชวนลูกคิดเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในการสอนให้ใช้วิธี ชื่นชมลูกก่อนตำหนิ หาข้อดีที่เป็นความจริงเพื่อชื่นชมเขาก่อน ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่เห็นข้อดีของเขาไม่ได้จ้องแต่จะจับผิด ทำให้ลูกลดกำแพงลง พร้อมที่จะเปิดใจที่จะพูดคุยและรับฟังเรา และ หากจะตำหนิให้พูดไปที่พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง อย่าต่อว่าที่ตัวตนหรือนิสัยลูก ( ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก บทที่ 3 เทคนิคการชม และ บทที่5 เทคนิคการลงโทษ)

“ ถ้าลูกไม่ขี้เกียจ ทำงานตั้งแต่วันที่ครูสั่งก็คงไม่ต้องเร่งแบบนี้ ”❌

“แม่ดีใจนะที่ลูกมีความรับผิดชอบที่จะทำงานส่งตามเวลา ลูกคิดว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร แล้วลูกจะป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ในอนาคตได้อย่างไรบ้าง “✅

เป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์ยอมรับขอโทษและแก้ไขเมื่อเกิดข้อผิดพลาด
ในช่วงการถกเถียงกัน หากเราเผลอใช้อารมณ์กับลูกมากเกินไป ขอให้ยอมรับและขอโทษลูกด้วยความจริงใจ ลูกจะเรียนรู้จากพ่อแม่ในการจัดการอารมณ์ตนเอง ยอมรับผิด ขอโทษและแก้ไขเมื่อทำผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน
“แม่ขอโทษที่เมื่อกี้หงุดหงิดมาก เลยพูดไม่ดีกับลูกเลย แม่จะพยายามควบคุมอารมณ์ตัวเองให้มากขึ้นนะ “
.
.

การทะเลาะกันด้วยท่าทีเหมาะสม โดยพยายามใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ ถือเป็นการสื่อสารในครอบครัวรูปแบบหนึ่ง หากเราและลูกได้เรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ตนเอง ถกเถียงแต่รับฟัง จะช่วยให้พ่อแม่ได้เห็นตัวเองในมุมของลูก ได้ทำความเข้าใจและปรับตัวเข้าหากัน ทั้งหมดนี้จะทำให้เราและลูกยิ่งรักและเข้าใจกันมากยิ่งขึ้นแน่นอน ♥️


สำหรับท่านที่ต้องการเรียนรู้การเลี้ยงลูกเชิงบวกแบบ คอร์ส online เพื่อสร้างระเบียบวินัยและความสัมพันธ์ที่ดีภายในบ้าน ทั้งหมดได้ถูกรวบรวมไว้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ www.netpama.com มีทั้งคลิปวีดิโอเรื่องราว ตัวอย่างคำพูดที่สามารถนำไปใช้เลยได้จริง โดยเรียนฟรี!ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ


บทความโดย มัมมี่ B ชวนเมาท์

 

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa