window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

วิธีการสื่อสารความโกรธแบบไม่ทะเลาะ ด้วย “ข้อความป๊าม้า”

เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

พ่อแม่ไม่ควรโมโหให้ลูกเห็น จริงไหม ?

วิธีการสื่อสารความโกรธแบบไม่ทะเลาะ ด้วยข้อความป๊าม้า


พ่อแม่ที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ปรี๊ดแตกระเบิดอารมณ์ใส่ลูกบ่อย ๆ จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กวิตกกังวล ขี้กลัวและขาดความภูมิใจในตัวเอง

เมื่อพ่อแม่ขี้หงุดหงิด ขี้โมโห ลูกก็จะได้รับแต่คำตำหนิต่อว่าที่กระทบตัวตนและจิตใจ

พอโตขึ้น เด็กบางคนสะสมความโกรธเอาไว้  กลายเป็นเด็กก้าวร้าว เกเร อันธพาล

เด็กบางคนก็สะสมความเศร้าและความกลัวเอาไว้จนกลายเป็นซึมเศร้า วิตกตกกังวล

.

การที่พ่อแม่โกรธ หรือโมโหบ่อย ๆ กระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึกรวมทั้งพฤติกรรมของลูกอย่างแน่นอน

มีคนใจร้อนอยู่ในบ้าน ยังไงบ้านก็ร้อน

.

แล้วพ่อแม่ไม่ควรโกรธให้ลูกเห็นเลยเหรอ ?

.

พ่อแม่หลาย ๆ ท่านรู้ดีว่าผลกระทบของอารมณ์ลบนั้นส่งผลเสียต่อลูกอย่างไร จึงพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งด้วยการแสดงออกให้ลูกเห็นแต่ด้านดี พยายามเก็บอารมณ์ความรู้สึก ทำเหมือนว่าตัวเองไม่เป็นอะไร แม้ว่าจะรู้สึกโกรธแค่ไหนก็ตาม เพราะไม่อยากให้ลูกต้องสัมผัสกับอารมณ์ทางลบของพ่อแม่ กลัวว่าลูกจะเสียใจ กลัวว่าจะทำให้ทะเลาะกัน กลัวว่าความสัมพันธ์จะสั่นคลอน


แม้บางทีสิ่งที่ลูกทำก็ทำให้คนเป็นพ่อแม่รู้สึกเจ็บปวด ขุ่นเคืองใจ แต่ก็เลือกที่จะไม่พูดออกไปเสียดีกว่า ยิ่งพูดเดี๋ยวจะยิ่งโมโห กลายเป็นจุดชนวนระเบิดให้บ้านลุกเป็นไฟ

.

#เรามักจะหลีกเลี่ยงการบอกอื่นว่ากำลังโกรธเพราะกลัวการทะเลาะ

#แต่การไม่บอกออกไปก็ยิ่งทำให้เราไม่เข้าใจกัน

.

การสื่อสารอารมณ์ให้คนรอบข้างรับรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร เป็นเรื่องที่ควรทำมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางบวกหรืออารมณ์ทางลบก็ตาม เพราะเราจะได้เข้าใจกันมากขึ้น ได้ตระหนักว่าสิ่งไหนที่เรากระทำแล้วทำให้คนอื่นไม่สบายใจ และอะไรบ้างที่คนอื่นกระทำแล้วทำให้เรารู้สึกไม่โอเค

เมื่อรู้แบบนี้ #เราจะได้พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่ด้วยกันได้โดยที่ไม่เผลอไปทำร้ายความรู้สึกของกันและกัน


ในครอบครัวก็เช่นเดียวกัน เมื่อลูกทำพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกโกรธหรือไม่สบายใจ #พ่อแม่สามารถสื่อสารอารมณ์โกรธนั้นให้ลูกรู้ได้

ลูกจะได้เข้าใจพ่อแม่ ได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมอะไรที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกโกรธ ทีหน้าทีหลังจะได้ระมัดระวังให้มากขึ้น

แล้วลูกก็จะได้เรียนรู้อีกว่าเวลาที่เขาโกรธหรือคับข้องใจ  เขาเองก็สามารถบอกกล่าวอารมณ์ความรู้สึกนั้นให้คนอื่นรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อารมณ์หรือกำลัง

.

วิธีการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกทำได้โดยการบอกความรู้สึกของพ่อแม่ บอกพฤติกรรมที่ลูกทำแล้วทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่ดี และบอกสิ่งที่ถูกต้องที่ลูกควรทำ

หากได้บอกครบทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ไม่ทำให้บ้านลุกเป็นไฟอย่างแน่นอน


“แม่โกรธนะ ที่เมื่อกี้หนูผลักน้อง แม่อยากให้หนูเล่นกับน้องเบา ๆ”

“เมื่อกี้พ่อเสียใจมากนะ ที่เห็นลูกโมโหแล้วเสียงดังใส่แม่ ถ้าอารมณ์เย็นขึ้นแล้วพ่ออยากให้ลูกไปหาแม่แล้วขอโทษแม่นะ”

“แม่ไม่พอใจนะ ที่หนูไม่บอกความจริงกับแม่ แม่อยากให้หนูพูดความจริง”


ข้อความด้านบนคือตัวอย่างของ “ข้อความป๊าม้า” หรือเรียกอีกชื่อว่า “I- Message” 

เป็นวิธีการการสื่อสารความรู้สึกทางลบของพ่อแม่โดยไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่กำลังใช้อารมณ์คุยกับเขา แม้ว่าในประโยคจะมีคำว่าเสียใจหรือโกรธก็ตาม

.


#ข้อความป๊าม้าคือเทคนิคการสื่อสารอารมณ์ที่ไม่ทำลายความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองของลูก

เพราะ ‘ ข้อความป๊าม้า ’ ไม่มีคำไหนที่ไปกระทบตัวตนของลูก ไม่ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนกำลังถูกพ่อแม่ตัดสินว่าเป็นคนไม่น่ารักหรือนิสัยไม่ดี เหมือนประโยคเหล่านี้ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยครั้ง

“แม่พูดไม่รู้จักฟัง ทำไมหนูเป็นเด็กดื้อแบบนี้นะ”

“แบ่งของเล่นให้น้องหน่อยไม่ได้เหรอ ทำไมหนูไม่มีน้ำใจเลย”

“ทำไมลูกขี้เกียจทำการบ้านขนาดนี้ล่ะลูก”


หากลูกได้ยินจากพ่อแม่ว่าตัวเองเป็น ‘เด็กดื้อ’ ไม่มีน้ำใจ’ หรือ ‘เป็นคนขี้เกียจ’  จากปากพ่อแม่ซ้ำไปซ้ำมา  วันหนึ่งเขาก็จะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนแบบที่พ่อแม่บอกจริง ๆ

ในทางกลับกัน หากพ่อแม่ใช้ข้อความป๊าม้าบอกกับลูกว่าพฤติกรรมนั้นที่ลูกทำ ทำให้พ่อแม่รู้สึกอย่างไร และพ่อแม่อยากให้ลูกปรับปรุงแก้ไขด้วยวิธีการใด ลูกก็จะไม่สับสน ไม่ต้องมาเดาใจว่าพ่อแม่อยากให้ทำอะไร #การใช้ข้อความป๊าม้าจะทำให้ลูกเข้าใจเจตนาของพ่อแม่มากขึ้น


แทนที่จะพูดว่า “แกไปเถลไถลที่ไหนมาถึงได้กลับมาบ้านเอาตอนนี้”

ลองเปลี่ยนเป็น “แม่กังวลนะที่ลูกกลับบ้านช้า แม่อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เล่าให้แม่ฟังหน่อย”


เมื่อพ่อแม่ใช้ข้อความป๊าม้าบ่อยแค่ไหน ความสัมพันธ์ในบ้านจะดีขึ้นตามไปด้วยเท่านั้น

หากต้องการฝึกฝนวิธีการใช้ข้อความป๊าม้า คุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ที่ www.netpama.com ในบท 2 เรื่องเทคนิคการสื่อสาร

.

 

และอีกสิ่งที่พ่อแม่ควรระวังก่อนที่จะสื่อสารอารมณ์ออกไปก็คือ #เวลาโกรธอย่าเพิ่งพูดอะไร ถ้ายังไม่หายโกรธ ให้เดินหนีออกจากสถานการณ์นั้นไปก่อน ไปสงบสติอารมณ์ผ่อนคลายตัวเองให้หายโกรธแล้วค่อยกลับมาคุยกับลูก

หรือถ้าเป็นไปได้อาจจะพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวเพื่อตกลงกันก่อนว่า..

“ต่อไปนี้ถ้าพ่อแม่โกรธหรือโมโห เราจะแยกกันก่อน พ่อแม่ขอเวลาทำใจให้เย็น ๆ แล้วเราค่อยกับมาคุยกัน”  

เพราะเวลาที่โกรธ พ่อแม่อาจจะพูดอะไรไปโดยไม่ทันยั้งตัวเอง ซึ่งจะมาพร้อมกับน้ำเสียง สีหน้า สายตาที่แสดงถึงอารมณ์โมโหอย่างเต็มที่ อาจทำลูกรู้สึกกลัว ต่อไปลูกก็จะโกหกเพื่อปิดบังความผิด


แต่หากเผลอระเบิดอารมณ์ใส่ลูกไปแล้ว #พ่อแม่เองก็ต้องขอโทษลูกให้เป็น 


เมื่อพ่อแม่คุมอารมณ์ได้แล้ว ค่อยกลับมาคุยกับลูกด้วยท่าที สีหน้า น้ำเสียงที่เป็นปกติ แล้วสุดท้ายความโกรธก็จะไม่นำไปสู่การทะเลาะกัน

.

เด็กทุกคนก็อยากจะแบ่งปันความรู้สึกของตัวเองให้กับพ่อแม่ ไม่ว่าจะความสุขหรือความทุกข์ ลูกก็อยากให้พ่อแม่ได้รับรู้ เพราะพ่อแม่คือคนสำคัญของเขา เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อแม่สื่อสารอารมณ์ถูกวิธี ลูกก็จะกล้าสื่อสารอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน

 .

หากพ่อแม่ท่านไหนต้องการเรียนรู้วิธีการฝึกสติให้เลี้ยงลูกได้อย่างใจเย็น สามารถรับชม Live วิดีโอ ย้อนหลัง ในหัวข้อ “เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ปรี๊ดแตก” ได้ที่  https://fb.watch/pEuTwyoWbw/


Net PAMA ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวค่ะ :-)


หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดต้องการศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก หรือศึกษาทักษะพื้นฐานในการสื่อสารเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนในครอบครัว สามารถเข้ามาศึกษาได้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ www.netpama.com เรียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่านำไปใช้จริงได้แน่นอนค่ะ


บทความโดย ซันเดย์

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa