คิดก่อนแชร์ลูกแม่ปลอดภัย
คิดก่อนแชร์ลูกแม่ปลอดภัย…
รู้เท่าทันก่อนโพสต์ภาพและเรื่องราวลูกลงบนโลกโซเชียล
บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์
ในปัจจุบันการแชร์รูป คลิปวิดีโอหรือเรื่องราวของลูกในโลกโซเชียลเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มพ่อแม่ ก็ลูกเราช่างน่ารักเกินต้าน ทุ่มเทเลี้ยงลูกมา บางเรื่องก็เป็นความภาคภูมิใจที่เราอยากอวดกับใครๆบ้าง และบันทึกเป็นเรื่องราวที่น่าจดจำเก็บไว้ ต่างคนก็ต่างแชร์ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ซึ่งในมุมพ่อแม่อาจคิดว่า…ก็ไม่เห็นจะมีอะไรเสียหายตรงไหน
แต่อะไรที่มากเกินไปมักมีผลเสียตามมาเสมอโดย Collins Dictionary ได้บัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาคือคำว่า Sharenting ผสมคำว่า Share + Parenting เข้าด้วยกัน เอาไว้ใช้เรียกพ่อแม่ที่แชร์ภาพ คลิป เรื่องราวและข้อมูลส่วนตัวของลูกมากเกินไปซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบกับลูกได้ในอนาคต
สำคัญมากที่พ่อแม่จะต้องตระหนักและรู้เท่าทัน “ผลกระทบ” ที่จะเกิดกับลูก เพราะแน่นอนเราเองก็คงไม่อยากให้สิ่งที่เราโพสไปนั้นกลับกลายเป็นอาวุธร้ายที่ย้อนมาทำลายลูกรักของเราใช่ไหมคะ
แล้วการโพสรูป คลิปวิดีโอ หรือเรื่องราวของลูกในโลกโซเชียลจะทำร้ายลูกเราได้อย่างไรนั้น มาดูกันค่ะ
ลูกถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว
บางรูปหรือบางคลิปของลูกที่พ่อแม่ดูแล้วรู้สึกว่า น่ารักจังเลย เช่น รูปโชว์พุง หรือรูปที่ใส่ชุดชั้นในตัวเดียว หรือคลิปวิดีโอที่ลูกกำลังเต้นท่าแปลกๆ กำลังเถียงพ่อ หรือร้องให้อาละวาด เมื่อถูกแชร์ต่อ สิ่งที่ลูกต้องเจอคือ คอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ รูปร่าง หน้าตา หรือพฤติกรรมในคลิป โดยที่คนเหล่านั้นไม่ได้รู้จักนิสัยแท้จริงของเด็ก อย่างที่เราเห็นบ่อยๆในภาพหรือคลิปไวรัลเกี่ยวกับเด็กที่แชร์ต่อกัน และ อาจจะนำไปสู่การเผยแพร่เพื่อการกลั่นแกล้งและสร้างความอับอาย การถูกคุกคามทางเพศ กระทบจิตใจของลูกทั้งปัจจุบันและในอนาคต
เป็นช่องทางการส่งข้อมูลส่วนตัวของลูก ให้กับผู้ประสงค์ร้ายและมิจฉาชีพ
การ check in บอกกิจวัตรประจำวันของลูก ชื่อโรงเรียน ชุดนักเรียน สถานที่เรียน ที่อยู่ ชื่อหมู่บ้าน และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ล้วนเป็นข้อมูลชั้นดีให้มิจฉาชีพ และผู้ประสงค์ร้าย ซึ่งน่ากังวลและเป็นอันตรายต่อลูกมาก
สร้างความกดดันและอึดอัดใจให้ลูก
บางเรื่องที่พ่อแม่แชร์ เช่น ผลคะแนนสอบ ผลการสอบแข่งขัน ตัวตนหรืออุปนิสัยต่างๆ ของลูกพร้อมแคปชั่นแห่งความภาคภูมิใจในเชิงแสดงว่าลูกคือไอดอลตัวอย่างในโลกโซเชียล (หรือในใจแม่) มุมหนึ่งก็คือความภาคภูมิใจ แต่ถ้าลองคิดในมุมของลูกการที่ต้องทำเป้าหมายตัวเองให้สำเร็จก็ยากแล้ว ต้องสู้เพื่อพ่อแม่ก็เพิ่มความกดดันเข้าไปอีก หากต้องมาคอยกังวลกับสายตาแห่งความคาดหวังของคนอื่นในโลกโซเชียลด้วย แค่คิดก็รู้สึกอึดอัดแทนลูกจริงๆ
แล้วพ่อแม่จะโพสภาพและเรื่องราวของลูกไม่ได้เลยเหรอ?
ในประเทศไทยยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กจริงจังเหมือนอย่างในบางประเทศ เราคงต้องกลับมายึดเรื่องของ การเคารพสิทธิส่วนบุคคลเป็นที่ตั้ง หากพ่อแม่ต้องการจะแชร์เรื่องราวหรือภาพของลูก เรามีข้อแนะนำที่จะลดผลกระทบต่อลูกรักของเราให้มากที่สุดดังนี้ค่ะ
คนเราทุกคนมีสิทธิส่วนบุคคล พ่อแม่มีสิทธิ์ในการโพสต์ในพื้นที่ส่วนตัวของเรา แต่อย่าลืมนะคะ ทุกครั้งที่จะแชร์เรื่องลูกขอให้คำนึงสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเค้าเช่นกัน มาเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นถึงการเคารพสิทธิของคนอื่น โดยเริ่มที่การเคารพสิทธิของลูกกันนะคะ พ่อแม่ยุคไซเบอร์ เราทำได้ค่ะ
สำหรับพ่อแม่ที่สนใจร่วมเป็นสมาชิกเน็ตป๊าม้า สามารถลงทะเบียนคอร์สเรียนต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเชิงบวกได้ทาง www.netpama.com ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย !