การมี Empathy ช่วยในเรื่องการเลี้ยงลูกอย่างไร ?
#PositivePsyTalks
ว่าด้วยเรื่องความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) – พื้นฐานสำคัญของการสร้างสัมพันธภาพที่แข่งแกร่ง ด้วยการทำความเข้าใจผู้อื่น ผ่านการเอาตัวเองเข้าไปสวม ‘รองเท้า’ ของเขาคนนั้น โดย #คุณนายข้าวกล่อง
.
Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจ ดูเหมือนจะคำที่ใครหลายคนเริ่มพูดถึงหรือได้ยินกันมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องที่เยี่ยมมาก! เพราะเรามองว่าสกิลความเห็นอกเห็นใจนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดูจะช่วยทำให้สังคมเราอ่อนโยนกันมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลทำให้โลกที่แสนตึงเครียดและโหดร้าย....ดูน่ากลัวน้อยลงขึ้นมาบ้าง
.
แต่ความเห็นอกเห็นใจที่เราพูดถึงกันนี้ จะหน้าตาตรงกันกับที่ทุกคนคิดกันหรือเปล่า? วันนี้ #คุณนายข้าวกล่อง เลยมาชวนทำความรู้จัก ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ผ่านมุมมองของศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกกัน
.
หากเราพูดถึงคำนี้ในวงการนักจิตหรือนักบำบัดฯ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ถือว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักสำคัญของการทำงานสายนี้เลยก็ว่าได้ มันถือเป็น core หลักที่ผู้ปฏิบัติวิชาชีพนี้พึงมี ดังที่คุณคาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) นักจิตวิทยาสายมนุษยนิยม (Humanistic Psychology) คนดีคนเดิมได้กล่าวเอาไว้ในส่วนของการทำการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแก่เหล่านักจิตฯและนักบำบัด เพราะมันช่วยทำให้เราสามารถเข้าถึง เข้าใจ และช่วยเหลือ Client หรือผู้มารับบริการสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ๆ
.
ส่วนใหญ่แล้ว Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจในเชิงจิตวิทยา หลายคนมักใช้คำว่าอธิบายว่ามันคือการ ‘Put yourself in someone’s shoes’ หรือถ้าให้แปลก็คือการพยายามจินตนาการว่าหากเราเป็นเขา ที่ต้องเจอเรื่องราวชีวิต เจออุปสรรคต่าง ๆ อย่างที่เขาต้องเผชิญและฝ่าฟันมา เราน่าจะมีความรู้สึก หรือการกระทำอย่างไร เหมือนกับการที่เราลองสวมใส่รองเท้าของคนนั้น ๆ ลองเอาตัวเองเข้าไปสัมผัสประสบการณ์นั้น ๆ สัมผัสถึงความสาก ความลื่น ความอับของรองเท้าคู่นั้น แล้วลองดูว่าเราน่าจะเป็นอย่างไรบ้าง จะเจ็บ เศร้า ทุกข์ระทม โมโหร้าย หรือมีความสุขอันท่วมท้น อย่างที่คน ๆ นั้นเป็นหรือเปล่า เพื่อที่เราจะได้เข้าใจถึงความเป็นเขาคนนั้นได้มากขึ้น สามารถเข้าใจถึงความรู้สึก ความคิด ทัศนคติ หรือความเชื่อต่าง ๆ ที่เขามีได้มากขึ้น ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร
.
ซึ่งมันแตกต่างจากการที่เราพยายามเข้าใจคนอื่นด้วยการ ‘เอาประสบการณ์ของเราเป็นตัวตั้ง’ หมายถึง เราพยายามเข้าใจคนอื่นด้วยการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเจอ ไปใช้เป็นฐานเพื่อทำความเข้าใจคนอื่น ซึ่งผลที่ได้จากการใช้วิธีการนี้ก็คือมันจะกลายเป็น ‘การตัดสินคนอื่น’ แทน ทำให้เราอาจจะมีการพูด หรือการแสดงกิริยาบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับเรื่องราวที่เขาเล่าออกมา เช่น อาจจะมีการเล่าถึงเรื่องราวของเราขึ้นมาแทน พูดถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เราเคยใช้เวลาเจอประสบการณ์แบบนั้น หรือพูดถึงเรื่อนอื่น ๆ ไปเลย ซึ่งนั่นอาจส่งผลทำให้บุคคลนั้นรู้สึกไม่สบายใจ บางทีอาจจะรู้สึกแย่ต่อตัวเอง (ที่ไม่สามารถจัดการปัญหาได้แบบเรา) หรืออาจจะรู้สึกแย่เพราะเห็นได้ว่า ‘เราไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งที่เขาเล่าให้เราฟังเลย’ (เอาแต่พูดเรื่องของตัวเองให้เราฟังอย่างเดียว)
.
นอกจากนี้ การทำความเข้าใจผู้อื่นด้วยการเอาประสบการณ์ของเราเป็นตัวตั้ง ยังส่งผลทำให้เกิดความรู้สึกสงสาร (sympathy) ได้ด้วย หรือกล่าวคือเป็นการที่เรารู้สึกแย่ต่อคน ๆ นั้น โดยเลือกที่จะทำความเข้าใจเขาด้วยการ ‘มองข้ามเรื่องราวและความรู้สึกแย่ ๆ’ หรือ ‘ไม่เอาตัวเองเข้าไปเผชิญความรู้สึกหรือเรื่องราวของเขา’ และใช้ประสบการณ์ของตัวเองในการทำความเข้าใจแทน ซึ่งแม้ว่าหลายคนอาจจะมองว่ามันก็ดูเป็นเรื่องที่ดีเพราะเราก็มีการตอบสนองว่ารู้สึกแย่เหมือนกันกับที่เขารู้สึก แต่ เพราะการตอบสนองนั้นมันไม่ได้มาจากการที่เราพาตัวเองเข้าไปอยู่ในประสบการณ์ที่เขาเจอจริง ๆ สุดท้ายแล้วบุคคลนั้นก็เลยยังคงรู้สึกได้ว่า ‘เราไม่ได้เข้าใจเขาเลย’ อยู่ดีเหมือนเดิม ซึ่งนั่นสืบเนื่องทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาแย่ลง ทำให้เขาอาจเลือกที่จะออกห่างจากเราแทนในภายหลัง เพราะไม่อยากต้องมาสัมผัสถึงความรู้สึกแย่ที่เราไม่เข้าใจเขาเลยอีกครั้ง (จากที่เราก็รู้สึกแย่กับเหตุการณ์ที่เจออยู่แล้ว)
.
แล้วการมี empathy ช่วยในเรื่องการเลี้ยงลูกอย่างไร?
หากลองมองในมุมของนักจิตและนักบำบัด Empathy มีส่วนช่วยในเรื่องของการสร้างสัมพันธภาพระหว่างเรากับคนไข้หรือผู้มารับบริการเป็นอย่างมาก เพราะมันทำให้คนไข้รู้สึกปลอดภัยและอยากสื่อสารกับเรามากขึ้น
.
เพราะฉะนั้น หากเราเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์จากนักจิต-คนไข้ มาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างลูก-ผู้ปกครอง การที่เราทำความเข้าใจคนอื่นแบบใช้หลัก Put yourself in someone’s shoes ก็สามารถช่วยทำให้สัมพันธภาพระหว่างเรากับลูกดีขึ้นได้เหมือนกัน เพราะมันทำให้เวลาลูกมีปัญหา เขาจะเลือกที่จะเข้าหาเราแทนที่จะออกห่างจากเรา เพราะเขา sense พ่อแม่รับฟังและเข้าใจเขาจริง ๆ
.
แล้วเราสามารถเพิ่ม empathy ให้กับตัวเองได้อย่างไรบ้าง?
เริ่มต้นด้วย ‘การฟัง’ – เพราะ empathy คือการทำความเข้าใจเขาจากการเอาตัวเองไปอยู่ในประสบการณ์ของคน ๆ นั้น เพราะฉะนั้น การได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ของบุคคลนั้นเลยเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมันจะเริ่มต้นไม่ได้เลยหากเราไม่เงียบและตั้งใจฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น
.
และหากอยากฟังให้มีประสิทธิภาพจริง ๆ เวลาฟังไม่ใช่สักแต่ว่าฟังแค่เรื่องราวอย่างเดียว แต่ให้ลองฟังไปถึง ‘ความรู้สึก’ ของเขาด้วย เพราะมันจะช่วยทำให้เราเข้าใจเขาในระดับที่ลึกขึ้น เข้าใจถึงความทุกข์ทรมาน ความเหน็ดเหนื่อย จากประสบการณ์นั้น ๆ มากขึ้น ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากน้ำเสียง หรือแม้กระทั่งท่าทางบางอย่างระหว่างที่เขาเล่า เช่น น้ำเสียงที่สั่นเครืออาจแสดงออกให้เห็นถึงอารมณ์เศร้าหรือกลัว หรือการถอนหายใจซ้ำ ๆ ที่อาจแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจ และระหว่างฟังก็ควรจะแสดงท่าทางที่ทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการฟังด้วย เช่น เวลาฟังไม่ควรจะทำอะไรอย่างอื่นไปด้วย ควรนั่งฟังอย่างเดียวเพื่อทำให้เห็นว่าเราทุ่มเทและใส่ใจกับเรื่องเล่าของเขาจริง ๆ
.
‘เปิดใจให้กว้าง’ – หนึ่งสิ่งที่มักจะขัดขวางการเสริมสร้าง empathy นั่นก็คือ การที่เราอาจจะยึดถือความเชื่อ ทัศนคติ หรือมุมมองบางอย่างของเรามาก ๆ จนทำให้กลายเป็นไปบล็อกการรับฟังข้อมูลของบุคคลนั้น ทำให้สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถทำความเข้าใจเขาได้จริง ๆ
.
ใช่แหละ เวลาเราเห็นลูกเราทำอะไรไม่ดี หรือมีทัศนคติบางอย่างที่มันไม่ตรงกับเรา หรือเรามองว่ามันเป็นรูปแบบความคิดที่แย่ มันก็คงไม่แปลกที่จะทำให้เราตกใจ รับไม่ได้ หรือไม่อยากจะฟังต่อ แต่เราอยากให้ทุกคนลองวางความไม่เข้าหูนั้นลง แล้วลองฟังถึงคำอธิบาย ที่มาที่ไปของของการมีทัศนคติ ความคิด หรือการตัดสินใจทำพฤติกรรมนั้น ๆ ของเขาดูก่อน เพื่อเราจะได้เข้าใจได้มากขึ้นว่าเหตุใดเขาถึงมีความคิดแบบนั้น ซึ่งสิ่งนี้แหละที่จะทำให้เราสามารถเห็นอกเห็นใจเข้าได้มากขึ้นจริง ๆ เพราะสุดท้ายแล้วมันก็คงต้องมีอะไรสักอย่างอยู่เบื้องหลังแหละ ที่ทำให้สุดท้ายแล้วเขามีความเชื่อหรือเลือกที่จะทำสิ่งนั้น (แม้เขาอาจจะรู้อยู่แล้วด้วยว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ตาม)
.
และหากผู้ปกครองท่านใดอยากเรียนรู้ทักษะการฟังที่เสริมสร้าง empathy เพิ่มเติม สามารถเข้ามาศึกษาได้ฟรีที่ www.netpama.com ได้เลยค่ะ
.
บทความโดย: คุณนายข้าวกล่อง