ฟังลูกด้วยหัวใจจะคุยอะไรก็รู้เรื่องไม่ต้องทะเลาะกัน
เป็นไปได้ไหมว่า ที่คนเราคุยกันไม่รู้เรื่องในทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะว่า เราไม่ได้จะรับฟังเพื่อที่จะทำความเข้าใจ แต่เราฟังเพื่อที่จะหาคำตอบของปัญหา (ที่บางครั้งก็อาจจะไม่มีคำตอบตายตัว)
เคยไหมที่เรากำลังมีความทุกข์จากเรื่องอะไรสักอย่าง และบางครั้งก็อยากจะบอกใครสักคน อยากให้มีใครสักคนที่มีเวลาและมีใจพอที่จะคอยรับฟัง นอกจากเมื่อเล่าไปแล้ว รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเล่า เราก็อาจจะเก็บเรื่องไม่สบายใจเอาไว้ หรือไม่ ก็ไปเล่าให้คนอื่นๆฟังแทน
.
ถ้าเป็นลูก คนที่อยากจะเล่าอะไรให้ฟัง ก็คงเป็นพ่อแม่ ถ้าเรากำลังเล่าเรื่องที่ทุกข์ใจให้ใครฟัง เราอยากให้เค้ารับฟังเราจริงๆ การรับฟังจริงๆ ต้องเป็นการรับฟังด้วยความเข้าใจ คือ ความใส่ใจในอารมณ์ความรู้สึก
.
หมออยากจะเทียบให้ฟังถือตัวอย่างการรับฟังสองแบบ คือ รับฟังด้วยสมอง และ รับฟังด้วยหัวใจ
ขอยกตัวอย่างแม่ลูกคู่หนึ่งนะคะ ใกล้ตัวดี
.
ตัวอย่างของแม่ที่ฟังด้วยสมอง:
ลูก: แม่จ๋า วันนี้หนูหงุดหงิดมาก
แม่: ทำไมล่ะลูก
ลูก: ก็นิดหน่อยน่ะสิ มาเล่นหุ่นยนต์ของหนู บอกแล้วว่าให้จับเบาๆ แต่นิดหน่อยมันจับซะแรง หุ่นก็เลยแขนหัก หนูต้องต่อใหม่หมด เซ็งอ่ะ
แม่: อ้าว ก็ทำไมไม่เก็บให้ดี ทีหลังก็ไม่ต้องให้เพื่อนเค้าเล่น หนูเองก็ผิดนะ ที่ใจดีไม่เข้าเรื่อง รู้อยู่ว่านิดหน่อยมันซนจะตาย มันก็สมแล้วนะ อยากไม่ฟังแม่เองนี่นา ทีหลังก็...
ลูก: (แม่ยังพูดไม่จบ) เบื่อแม่อ่ะ ไม่ฟังหนูเลย ทีหลังไม่เล่าให้ฟังดีกว่า (แล้วก็เดินเข้าห้องนอนแล้วปิดประตู)
.
แม่ที่ฟังด้วยสมอง แม้ว่าจะหวังดีกับลูก แต่รีบไปหน่อยที่จะแนะนำ ตำหนิลูกในสิ่งที่เห็นว่าผิด พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด แต่ลืมไปว่า สิ่งที่พูดต้องการไม่ใช่คำตำหนิ แนะนำ แต่แค่อยากให้แม่ฟังจริงๆ ไม่ขัด และรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเขาตอนนั้น
.
ตัวอย่างของแม่ที่ฟังด้วยหัวใจ:
ลูก: แม่จ๋า วันนี้หนูหงุดหงิดมาก
แม่: ทำไมล่ะลูก
ลูก: ก็นิดหน่อยน่ะสิ มาเล่นหุ่นยนต์ของหนู บอกแล้วว่าให้จับเบาๆ แต่นิดหน่อยมันจับซะแรง หุ่นก็เลยแขนหัก หนูต้องต่อใหม่หมด เซ็งอ่ะ
แม่: อ๋อ กันดั้มที่ลูกเพื่งต่อเสร็จน่ะเหรอลูก
ลูก: ก็น่านน่ะสิ มันน่าโกรธมั้ยล่ะ
แม่: ตัวที่ลูกนั่งต่ออยู่หลายวันเลยนี่นา ถ้าแม่เป็นลูก ก็คงจะหงุดหงิด น่าเสียดายมากนะ
ลูก: ก็ใช่น่ะสิแม่ เฮ้อออ
แม่: (พยักหน้า)
ลูก: แต่ก็นะ ทำไงได้ ก็ต้องต่อใหม่ไปแหละนะ (ยิ้ม) แต่ดีจังนะ พอเล่าให้แม่ฟัง มันสบายใจขึ้น มึแรงต่อใหม่ละล่ะ ทีหลังไม่เอาไปโรงเรียนดีกว่าเนอะ แม่เนอะ
แม่: จ้า ลูก
.
แม่ที่ฟังลูกด้วยหัวใจ จะแสดงทีท่าสนอกสนใจฟังลูกด้วยความจริงใจ มองหน้าสบตา วางมือจากงานที่กำลังทำอยู่ ปล่อยให้ลูกเล่าเรื่องไม่สบายใจ โดยที่ไม่ขัด แม้ว่าจะรู้สึกขัดใจกับสิ่งที่ลูกเล่า แต่ก็ไม่วิจารณ์ ไม่ขัดขึ้นมา ยอมรับในความรู้สึกของลูก ยอมรับในสิ่งที่เป็น และเมื่อลูกอารมณ์ดีขึ้น ค่อยแนะนำ หรือช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรดี
.
แล้วถ้าเราเป็นลูก เราจะอยากจะให้แม่รับฟังเราแบบไหน เราตอบตัวเองได้ ลูกเราก็คงไม่ต่างไปเท่าไหร่
ไม่ใช่เฉพาะลูก แม้แต่ คนอื่นๆที่อยู่รอบข้าง ก็เช่นกัน
.
เรียบเรียงโดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ
ภาพประกอบโดย พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์