13 วิธีช่วยลูกเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ
สถานการณ์ covid-19 ในช่วงนี้ยังคงน่าเป็นห่วงมากๆ ทำให้ลูกรักต้องเรียนออนไลน์อย่างเลี่ยงไม่ได้ คุณหมอจึงมีคำแนะนำดีๆ มาฝากพ่อแม่ 13 ประการ ดังนี้
- เปิดใจยอมรับว่าการเรียนออนไลน์ของลูกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการมองหาข้อดีของการเรียนออนไลน์ เช่น การเรียนออนไลน์จะช่วยพัฒนาทักษะไอทีของลูก
- เมื่อมีข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์ควรแจ้งให้ครูประจำชั้นทราบโดยเร็วเพื่อให้โรงเรียนช่วยหาแนวทางแก้ไ
- พ่อแม่ควรเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชั่นต่างๆที่ลูกจำเป็นต้องใช้ในการเรียนออนไลน์
- สถานที่เป็นสิ่งสำคัญ ควรจัดห้องหรือสถานที่ในการเรียนออนไลน์ให้เหมาะสมไม่มีเสียงรบกวน หรือสิ่งเร้าที่จะทำทำให้ลูกวอกแว่ก และควรขอความร่วมมือผู้ใหญ่ในบ้านไม่ให้รบกวนลูกระหว่างเรียน
- พยายามจัดตารางสำหรับทำกิจวัตรประจำวันให้ใกล้เคียงกับช่วงปกติที่ลูกไปโรงเรียนเท่าที่เป็นไปได้
- ศึกษาวิธีการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อป้องป้องกันไม่ให้ลูกแอบเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมระหว่างการเรียนออนไลน์
- พูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่ได้เรียนในแต่ละวัน ช่วยทบทวนและตรวจทานการบ้านที่ได้รับมอบหมาย
- ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรช่วยเหลือกันในการช่วยลูกเรียนออนไลน์ เพราะเป็นงานที่หนักและท้าทย อย่าปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง
- การเรียนรู้ของลูกยังเกิดขึ้นได้มากจากประสบการณ์ต่างๆที่ลูกสัมผัสในชีวิตแต่ละวัน ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรละเลยการทำกิจกรรม offline เช่น วาดรูป อ่านนิทาน ฯลฯ ร่วมกันกับลูก
- อาจยังมีอีกหลายครอบครัวที่ประสบปัญหาเดียวกัน ดังนั้นการติดต่อกับผู้ปกครองของเพื่อนลูก และให้มีกิจกรรมร่วมกันหรือช่วยเหลือกันในการจัดการการเรียนก็เป็นสิ่งที่ดี
- ร่วมมือกับคุณครู ติดต่อพูดคุยกับคุณครูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่ลูกต้องเรียนและสิ่งที่คุณครูอยากให้ผู้ปกครองช่วย
- พ่อแม่ต้องบอกกับตัวเองไม่ให้เครียดหรือวิตกกับการเรียนออนไลน์ของลูกมากจนเกินไป เพราะลูกไม่จำเป็นต้องได้ทุกสิ่งทุกอย่างจากการเรียนออนไลน์ ทักษะอื่นๆที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
- หมั่นสำรวจอารมณ์ และระดับความเครียดของตัวเอง พยายามไม่กดดันทั้งตัวเองและลูกเพราะหากกดดันมากนั้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อทั้งตัวพ่อแม่และลูก ๆ
เรียบเรียง
1. รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล (ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)
2. ศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ (ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
3. ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า (ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณณ์มหาวิทยาลัย)
4. ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ (ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี)
5. อ.นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข (ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)
ภาพประกอบ
Annie Spratt on Unsplash
พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์