ทำอย่างไรไม่ให้เด็กเครียดจากโควิด-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนเครียด วิตกกังวล หรือกลัว ไม่เว้นแม้แต่เด็ก เด็กหลายคนโดยเฉพาะเด็กเล็ก ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองกำลังเครียดหรือกังวล ผู้ใหญ่บางคนเวลาเครียดแล้วนิ่งเฉย ไม่พูดไม่จากับใคร บ้างก็เครียดแล้วเก็บตัวแยกตัว บ้างก็เครียดแล้วหงุดหงิดโวยวาย ‘เหวี่ยง’ ใส่คนรอบข้าง บางคนเครียดแล้วเกิดอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือรับประทานมากขึ้น เด็กที่เครียดก็มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันกับผู้ใหญ่ได้เช่นกัน ในเด็กเล็กอาจแสดงออกเป็นการร้องไห้ งอแง มีพฤติกรรมถดถอย ขี้อ้อน ติดพ่อติดแม่มากขึ้น ดื้อ พูดยากมากขึ้น ฝันร้าย ตื่นกลางดึก
สาเหตุที่ทำให้เด็กเครียดในสถานการณ์โควิด-19
- การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน: การที่ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน อยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ไม่ได้ไปในที่ที่อยากไป ไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ หรือไม่ได้เจอคนที่อยากเจอ
- การอยู่ท่ามกลางบรรยากาศความเครียด ความวิตกกังวลของผู้ใหญ่ในบ้าน: อย่าลืมว่าเด็กเป็นนักแอบฟังตัวฉกาจ เมื่อได้ยินอะไรที่ไม่ดีมา เด็กอาจจะจินตนาการ ขยายความน่ากลัวของสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว ที่สำคัญคือ อารมณ์ลบ ความเครียด ความวิตกกังวล และความกลัว สามารถติดต่อถึงกันได้ง่ายกว่าและรวดเร็วกว่าเจ้าโควิด-19 เสียอีก
- ความขัดแย้งของคนในครอบครัว: เมื่อคนส่วนใหญ่ต้องทำงานจากที่บ้าน (work from home) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายคน มีอะไรที่ต้องปรับตัวและเรียนรู้ในเวลาสั้นๆ สามีภรรยาต้องมาแย่งพื้นที่ แย่งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์กันเพื่อทำงาน แถมยังต้องเจอหน้ากันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความเครียด และอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งกัน แน่นอนว่าเด็กอาจเห็นและอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนี้
- ข่าว ข้อมูลต่าง ๆ ที่กระหน่ำเข้าสู่เด็กผ่านสื่อต่าง ๆ: การหมกมุ่นเสพสื่อมากเกินไปของผู้ใหญ่ในบ้าน การเปิดทีวีหรือสื่อสังคมออนไลน์เพื่อติดตามข่าวโควิด-19 เกือบตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นข่าวเกี่ยวกับความสูญเสียความตาย หรือมีภาพที่น่ากลัว ย่อมไม่เป็นผลดีกับสุขภาพจิตของทุกคนในบ้าน ยิ่งกับเด็กด้วยแล้วยิ่งอันตราย อย่าลืมว่าเด็กเขาเลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น ต้องทนฟังหรือเห็นข่าวที่ผู้ใหญ่ยัดเยียดให้ ทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม
แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เด็กเครียด
- พูดคุยกับเด็กในเรื่องนี้ (เมื่อเด็กพร้อม) พยายามถามความคิด ความเข้าใจ ความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากโควิด พ่อแม่ต้องแสดงให้เด็กมั่นใจว่าพ่อแม่พร้อมที่จะรับฟัง และตอบคำถามที่เด็กอาจจะมีอยู่มากมาย เช่น “หนูจะติดโควิดมั้ย พ่อแม่จะติดมั้ย คุณย่าคุณยายจะเป็นอะไรรึเปล่า เมื่อไหร่หนูจะได้ออกไปเล่นกับเพื่อนได้” ฯลฯ ให้โอกาสเด็กได้ระบายความกลัว ความกังวลออกมา หาโอกาสอธิบาย แก้ความเข้าใจผิดที่เด็กอาจมีเกี่ยวกับโควิด แต่อย่าหลอกหรือบอกไม่จริง ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและเหมาะกับพัฒนาการของเด็ก
- พยายามให้เด็กดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ฝ่าฝืนมาตรการของรัฐเรื่องการเก็บตัวและเว้นระยะห่างทางกายภาพ
- ให้เด็กได้มีโอกาสติดต่อพูดคุยกับญาติที่เด็กสนิทด้วย หรือเพื่อนรักที่โรงเรียน ผ่านทางวิดีโอคอลได้บ่อยเท่าที่เด็กต้องการ
- ให้เด็กได้เล่นหรือทำกิจกรรมที่เด็กชอบอย่างอิสระ (ยกเว้นการเล่นเกม หรืออยู่กับหน้าจอมือถือ ที่ควรจำกัดเวลา ไม่ควรให้เกินวันละ 2-3 ชั่วโมง) ควรให้เด็กได้เล่นออกแรง ออกกำลังอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือนอกบ้าน (ถ้าบ้านมีบริเวณโปร่งโล่ง ไม่แออัดไปด้วยผู้คน)
- พยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ถามเด็กว่าเขาเห็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตนี้หรือไม่ เห็นอะไรบ้าง ในด้านดีงาม ความเอื้ออาทร การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันของมวลมนุษย์ การฟื้นตัวของธรรมชาติ การที่เราทุกคนในครอบครัวได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ฯลฯ
- หลีกเลี่ยง ลดการเสพข่าวร้ายๆ การติดตามสถิติผู้ป่วย/ผู้เสียชีวิตรายวัน หรือข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ โดยเริ่มจากตัวของผู้ใหญ่ในบ้านเองเสียก่อน หยุดการสนทนา วิพากษ์วิจารณ์ ออกความเห็นในแง่ลบเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ต่อหน้าเด็ก
- พูดคุยกันในครอบครัวว่า เรามีส่วนในการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากกว่าเราได้อย่างไรบ้าง ให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนในการออกความคิดเห็นและริเริ่มกิจกรรมเหล่านั้น
- หมั่นสำรวจอารมณ์ ความรู้สึกของตัวพ่อแม่เอง พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นถึงความนิ่ง สงบ ความมีสติ ไม่ตื่นตระหนก หรือวิตกกังวลมากเกินไป พ่อแม่ควรดูแลใจตัวเองให้มั่นคงเพื่อสามารถเป็นที่พึ่งทางใจให้เด็กได้ หากพ่อแม่พูดปลอบเด็กว่า เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีขึ้น เราจะไม่เป็นอะไร แต่พฤติกรรมของพ่อแม่แสดงออกว่ากำลัง ‘สติแตก’ ตื่นตระหนก ทายสิครับว่าเด็กจะเชื่ออะไร เด็กเชื่อในสิ่งที่เด็กเห็นมากกว่าคำปลอบประโลมของพ่อแม่ แล้วสุดท้ายเด็กก็จะเครียดและตื่นตระหนกตามพ่อแม่
- ในแต่ละวันให้ทุกคนในครอบครัวได้มีโอกาสฝึกสติโดยการติดตามลมหายใจ (mindfulness breathing) หรือติดตามอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตัวเอง
- สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หากิจกรรมสนุกๆ ทำร่วมกันในครอบครัว กิจกรรมที่ทำให้ทุกคนผ่อนคลาย เรียกเสียงหัวเราะได้ โอกาสที่ทุกคนในบ้านอยู่พร้อมกันหลายๆ วันติดกันมีไม่บ่อยนัก รีบคว้าไว้เสีย แล้วทำให้เป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่จะอยู่ในความทรงจำของลูกตลอดไป
หมอหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ ทุกคนผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปด้วยดี และได้รับผลกระทบทางจิตใจน้อยที่สุด
เรียบเรียง
รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล (ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
ภาพประกอบ
พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์