ขอกอดหลวมๆ หน่อยครับแม่
วัยรุ่นชายคนหนึ่งพูดถึงความรู้สึกของเขาที่มีต่อแม่ ให้ฟังว่า “ผมรู้ว่าแม่รัก ผมก็รักแม่นะครับ ยังอยากให้แม่กอดเหมือนเดิม แต่ผมโตแล้ว กอดแน่นไปมันอึดอัดหายใจไม่ออก อยากให้กอดหลวมๆหน่อย” แล้วเขาอธิบายต่อว่า
“การกอด ก็คือการแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใยของแม่ที่มีต่อตัวเขาเอง”
“ความแนบแน่นขณะที่แม่กอด ก็เปรียบเสมือนกฎกติการะหว่างแม่กับตัวเขา"
เขาอยากให้แม่รักเขาเหมือนเดิม เขายืนยันว่ากฎกติกา มีความจำเป็นต่อตัวเองอยู่ เพราะว่าถ้าแม่ไม่มีกฎกติกา เขาอาจจะเหลวไหลกว่านี้หรือทำอะไรไม่สำเร็จ เลยยังอยากให้แม่คอยฉุดๆ รั้งๆ ไว้บ้าง เพียงแต่อยากได้กรอบกติกาที่ขยายกว้างขึ้นตามอายุเขา
ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่วัยรุ่นยังต้องการความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่เสมอ เพียงแต่เขาเองก็อยากได้พื้นที่ส่วนตัวและความอิสระที่มากขึ้น
ส่วนพ่อแม่จะให้อิสระได้มากแค่ไหน แต่ละบ้านอาจจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรมีการพูดคุยกันหาจุดตรงกลาง ที่สามารถเจอกันได้พอดี และทำข้อตกลงกันในบรรยากาศดีๆ เมื่อใดก็ตามที่ลูกมาขออะไรสักอย่าง อยากให้พ่อแม่บอกลูกว่า...รู้สึกดีใจที่ลูกรู้จักมาขออนุญาตหรือบอกกล่าว...แล้วค่อยๆ คุยกันว่า เพราะอะไรถึงอยากทำ เพราะอะไรถึงอยากได้สิ่งนั้น ในส่วนของพ่อแม่เองจะอนุญาตหรือไม่ ก็ควรบอกลูกไปตรงๆ พร้อมเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงตัดสินใจเช่นนั้น ถ้าอนุญาตจะให้ขอบเขตเท่าไหร่ หรือหากพ่อแม่ยังไม่มีข้อสรุปก็สามารถบอกลูกได้ว่าขอเวลาให้พ่อแม่คุยกันก่อน และให้ลูกมีโอกาสเสนอข้อตกลงบ้างว่า ถ้าทำตามกติกาจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ทำตามกติกาจะเป็นอย่างไร ลูกยอมรับได้มั้ย เพื่อฝึกความรับผิดชอบในตัวเอง
เช่น ลูกสาวมาบอกว่าอยากใส่กระโปรงสั้น อยากให้แม่คุยกับลูกว่า แม่จะอนุญาตให้สั้นได้แค่ไหน และใส่ตอนไหนบ้าง ชวนลูกคุยถึงข้อดีข้อเสีย สิ่งที่ควรระวัง เป็นต้น หรือลูกชายอยากย้อมสีผม อยากไถข้างเท่ๆ ตามฉบับวัยรุ่น จะทำได้ตอนไหนบ้าง ตอนไหนไม่ควรทำ ถ้าทำแล้วจะเป็นอย่างไร งดการรีบเข้าไปสอนหรือต่อว่า เพราะจะกลายเป็นทะเลาะกัน ทำให้ต่อไปลูกก็อาจจะไม่มาขออนุญาต แต่ตัดสินใจทำก่อนแล้วบอกทีหลัง หรือพูดโกหกแทน
เมื่อลูกเริ่มโตเป็นวัยรุ่น ความรักของพ่อแม่ที่มีให้ลูกไม่เคยลดลง แต่ความเป็นห่วงกลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งก็เผลอแสดงความเป็นห่วงด้วยการบังคับ บ่นว่า ตำหนิ หรือลงโทษรุนแรง เพียงหวังว่าลูกจะหลาบจำ กลับทำให้ลูกไม่รับฟังและปิดกั้นความหวังดีของพ่อแม่ และกลายเป็นการต่อต้านแทน
วัยรุ่นไม่ต้องการคนตามใจ แต่ต้องการคนเข้าใจ เขาจะปรับตัวเป็นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเหมือนกับพ่อแม่ได้ หากเขารู้สึกว่าตนเองเป็นที่รักของครอบครัว ได้รับอิสระทางความคิด และการกระทำในกรอบที่เหมาะสม พ่อแม่ช่วยได้โดย “สั่งให้น้อย ฟังความรู้สึกให้มาก ถามความคิดเห็นลูกเสมอ ให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น"
เขียนและเรียบเรียง ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
ภาพประกอบ ณรัตน์ สร้อยสังวาลย์