window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

สอนให้ลูกเอาชนะความโกรธ

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

มีสำนวนว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” 
ดังนั้นหากผู้ปกครองอยากให้บุตรหลานเอาชนะความโกรธได้ ก็จำเป็นต้องสอนให้เด็กรู้จัก

•รู้เขา | รู้จักเจ้าตัวโกรธ |
- รู้จัก “หน้าตา” เจ้าความโกรธนี้ก่อนว่ามันเป็นอย่างไร เช่น เสียงดัง คิ้วขมวด กัดฟัน ใจเต้นแรง
กำมือแน่น หายใจแรง เป็นต้น 
- รู้ว่า "มันมักจะมาตอนไหน" 
เช่น อยู่บ้าน ไปห้าง บนรถ โรงเรียน เป็นต้น 
- รู้ว่า "อะไรที่จะกระตุ้นให้ตัวโกรธออกมา" 
เช่น พี่/ น้อง ครู เพื่อน ของเล่น เป็นต้น

หากรู้ว่าอะไรมักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้โกรธ จะได้รับมือง่ายขึ้น ปรับได้ก็ปรับ เลี่ยงได้ก็เลี่ยง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องมีข้อตกลงกัน บอกเหตุการณ์ที่อาจจะต้องเผชิญ แล้วลองถามเด็กว่า ถ้าเจอแบบนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ทุกคนมีความสุขด้วยกัน

•รู้เรา | รู้เนื้อรู้ตัว |
เวลา "เจ้าตัวโกรธ" มันมาเยี่ยมเยียน ควรอนุญาตให้เด็กรู้สึกโกรธได้  เพราะจะช่วยให้เขาประเมินขนาดเจ้าตัวโกรธเป็น หากปฏิเสธหรือพยายามขับไล่มันออกไป มันจะยิ่งตัวใหญ่ขึ้นๆ เด็กคนไหนที่รับรู้ได้เร็วว่าความโกรธกำลังก่อตัว จะช่วยให้หาวิธีรับมือกับความโกรธได้ง่ายขึ้น ทำให้ตัวโกรธมีขนาดเล็กลง แต่หากเด็กคนไหนที่ยังไม่เห็นตัวโกรธ หรือไม่รู้สึกตัวแล้วล่ะก็ เจ้าตัวโกรธจะยิ่งตัวใหญ่ขึ้นๆ 
จนระเบิดออกมาได้นะคะ

วิธีสอนให้เด็ก "รู้เขา รู้เรา" ทำได้ดังนี้

ช่วยให้เด็กเห็นตัวโกรธชัดเจนขึ้น เร็วขึ้น เพราะในขณะโกรธ...เด็กๆ ของเราอาจจะไม่ทันสังเกตเห็นเจ้าตัวโกรธ ตรงนี้จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องบอกเด็ก 

เช่น แม่เห็นว่าตอนนี้หนูเริ่มพูดเสียงดังขึ้น ดูเหมือนหนูจะกำลังโกรธนะ  เป็นต้น

ให้เด็กมีโอกาสได้ระบายความโกรธผ่านการเล่า เพราะหากเรารีบเข้าไปแทรก ไปขัด หรือสอนทันทีในขณะที่กำลังโกรธ ความโกรธจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่การที่เราตั้งใจรับฟังเรื่องราวที่ทำให้เด็กโกรธ จะช่วยให้ตัวโกรธในใจเด็กมีขนาดเล็กลง

หากได้ระบายแล้ว แต่ตัวโกรธยังมีขนาดใหญ่อยู่ ก็ต้องหาวิธีจัดการอย่างอื่น โดยไปทำกิจกรรมที่สร้างความสุข ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อให้มันค่อยๆ สงบลง 

เช่น กินไอศกรีม วาดรูป ระบายสี ดูการ์ตูน ฟังเพลง เดินเล่น ไปเล่นกับเพื่อนๆ เป็นต้น บางคนก็อาจจะลองบีบลูกบอลเล็กๆ หรืออาจจะนั่งเงียบๆ คนเดียวเพื่อให้ใจเย็นลง ตามแต่วิธีที่เด็กชอบ 

ผู้ปกครองช่วยสะท้อนความรู้สึกของเด็กด้วย
เช่น ดูเหมือนลูกจะยังโมโหเรื่อง....อยู่ เราไปหาอะไรอร่อยๆ กินกันมั้ย เผื่ออารมณ์ดีขึ้น เป็นต้น 

อีกเคล็ดลับที่สำคัญคือ ค้นหาให้เจอว่า ภายใต้ความโกรธที่เด็กแสดงออกมา มันมีอะไรซ่อนอยู่ เช่น น้อยใจ เสียใจ ต้องการความยุติธรรม ผิดหวัง ต้องการความสนใจ ต้องการความสำคัญ ต้องการความรัก เป็นต้น หากค้นเจอจะช่วยได้มากเลย 

เช่น แม่รู้ว่าที่หนูกำลังโกรธ หน้าบึ้งอยู่ เพราะน้อยใจ ที่วันนี้แม่ซื้อของเล่นให้น้องแต่ไม่ซื้อให้หนู  เป็นต้น 

หลังจากนั้นลองรับฟังเค้าดูนะคะ...แล้วก็ค่อยๆ คุยกันค่ะ


เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก เพราะเด็กจะเรียนรู้การรับมือกับความโกรธจากเราที่เป็นคนใกล้ตัวรอบๆเขานี่แหละค่ะ 

ถ้าเห็นว่าเด็กพยายามจัดการความโกรธ แล้ว ก็ควรชื่นชมเขาด้วยนะคะ เช่น แม่เห็นเลยว่าลูกไม่พอใจที่....แต่แม่ดีใจนะที่ลูกพยายามควบคุมอารมณ์ตัวเอง หาทางทำให้ตัวเองอารมณ์ดีขึ้นอย่างเหมาะสม

หากความโกรธระเบิดออกมารุนแรง มีการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่นทั้งคน หรือสัตว์ และทำลายสิ่งของ ต้องเข้าไปหยุดทันที โดยบอกสั้นๆ ด้วยความนิ่งว่า "แม่รู้ว่าหนูโกรธ ที่.....แต่หนูต่อยเพื่อนไม่ได้" และควรให้เด็กออกจากสถานการณ์นั้นโดยเร็ว และค่อยๆ ช่วยให้เด็กผ่อนคลายขึ้น

หากเด็กได้ฝึกซ้อมรบด้วยวิธีดังกล่าวบ่อยๆ การรบครั้งต่อไปอาจจะทำผลงานได้ดีขึ้นนะคะ เป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองและเด็กๆ ค่ะ


เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)

Photo by Andre Hunter on Unsplash

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa