window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
แนวทางแก้ปัญหา ลูกติดมือถือ
เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

การติดมือถือของเด็กเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบหลายด้านในปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กในยุจนี้ที่มีแนวโน้มใช้เวลาบนมือถือมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมออนไลน์ การดูสื่อสังคม หรือการดูวิดีโอ ซึ่งส่งผลให้เด็กทำกิจกรรมอื่น ๆ ลดลง

.

#ผลเสียของการเล่นมือถือมากเกินไปมีอะไรบ้าง ?

.

#ปัญหาสุขภาพ เช่น ปัญหาการนอนหลับ เนื่องจากการใช้มือถือก่อนนอน อาการตาแห้ง ปวดตา และปัญหาทางกายภาพอื่น ๆ เช่น ปวดหลังหรือคอ

.

#ขาดทักษะสังคม การติดมือถืออาจทำให้เด็กขาดการสื่อสารแบบตัวต่อตัว ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาทักษะการสื่อสารและความสัมพันธ์ทางสังคม เด็กอาจขาดความสามารถในการจัดการกับปัญหาในชีวิตจริง และขาดทักษะในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น

.

#พัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หากผู้ปกครองปล่อยลูกไว้กับมือถือหรือหน้าจอเป็นประจำ เด็กจะขาดการเรียนรู้ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการตามวัย สิ่งที่ตามมาคือ ลูกจะมีพัฒนาการล่าช้า พูดช้า และสมาธิสั้น

.

#ปัญหาการเรียน การใช้มือถือเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อผลการเรียนของเด็ก เนื่องจากการขาดสมาธิ จดจ่อได้ไม่นาน และใช้เวลากับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนที่น้อยลง

.

การเสพติดสื่อออนไลน์ เด็กอาจติดการเสพสื่อออนไลน์ เช่น โซเชียลมีเดียหรือเกมออนไลน์ ซึ่งสามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่เสี่ยงและไม่เป็นประโยชน์ เช่น การเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือการเสพติดเนื้อหาที่มีความรุนแรง

.

ขาดโอกาสทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ การติดมือถืออาจทำให้เด็กละเลยกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม

.

.

อาการแบบไหนที่บ่งบอกว่าลูกของเรากำลังติดมือถือ

อยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาลองสังเกตกันค่ะว่าลูกเรามีอาการเหล่านี้กี่ข้อ

.

#ใช้เวลาบนมือถือเป็นเวลานาน 

#รู้สึกหงุดหงิดหรือเครียดเมื่อไม่ได้ใช้มือถือ ถ้ามีใครบอกให้หยุดเล่นจะปรี๊ดแตกทันที อาจโมโหรุนแรง ก้าวร้าว หรืออาละวาด

#ไม่ยอมทำกิจกรรมอื่นเลยนอกจากเล่นมือถือ ไม่ไปออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือทำงานอดิเรกที่เคยชอบทำ

#มีปัญหาการนอนหลับ นอนดึก ตื่นสาย นอนไม่หลับ ไม่ยอมนอนหรือนอนไม่พอเพราะห่วงเล่นมือถือ

#มีปัญหาสุขภาพร่างกาย ปวดตา ปวดหลัง ปวดคอ หรือปัญหาทางกายภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนั่งใช้มือถือเป็นเวลานาน

#ผลการเรียนแย่ลงผิดหูผิดตา อาจเนื่องมาจากขาดสมาธิ สนใจการเรียนน้อยลง ไม่ยอมไปโรงเรียน 

#ลบหรือปกปิดประวัติการใช้งานมือถือ เด็กอาจพยายามซ่อนประวัติการใช้งานมือถือ หรือลบประวัติการเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ไม่ให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองรู้ อาจเป็นสัญญาณว่ามีการใช้มือถือเกินไปหรือมีการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

#กระวนกระวายเมื่อไม่ได้ใช้มือถือ โดยเด็กอาจแสดงพฤติกรรมที่เสพติด เช่น ต้องการใช้มือถือตลอดเวลา หรือมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการใช้มือถือ 

.

การสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าเด็กติดมือถือนั้นสามารถช่วยให้พ่อแม่และผู้ปกครองเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ไขได้  แต่วิธีแก้ไขที่ดีอาจไม่ใช่การยึดมือถือลูก

.

#แนวทางสำหรับพ่อแม่ในการช่วยเหลือเมื่อลูกติดมือถือ จะมีวิธีการใดบ้างนั้น เรามาดูกันเลยค่ะ

.

#ตั้งกฎกติกาที่ชัดเจน ด้วยการกำหนดเวลาในการเล่นมือถือแต่ละวัน เช่น เล่นมือถือได้วันละ 1 ชั่วโมง แต่ต้องไม่เกิน 2 ทุ่ม ในวันแรก ๆ ลูกอาจทำตามกติกาไม่ได้ แต่ให้พ่อแม่ยึดมั่นในกติกานี้ไว้นะคะ วันไหนที่ลูกเลิกเล่นมือถือถามเวลาอย่าลืมชื่นชมเขาเยอะ ๆ ลูกจะได้มีกำลังใจ

.

#หากิจกรรมทดแทน บางทีลูกอาจจะถามเราว่า “ไม่ให้หนูเล่นมือถือ แล้วจะให้หนูทำอะไร” พ่อแม่จึงควรหากิจกรรมมาทดแทนการเล่นมือถือด้วย อาจจะเป็นการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือการทำงานอดิเรกที่สนุกสนาน

หรือถือโอกาสนี้ในการสร้างเวลาคุณภาพของครอบครัวไปด้วยเลยก็ได้ ด้วยการทำกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวสามารถทำด้วยกันได้ เช่น การเล่นเกมกระดาน การทานอาหารร่วมกัน หรือการไปเดินเล่น ปิคนิคในสวน

.

#คนในบ้านเป็นแบบอย่างที่ดี อยากให้ลูกไม่ติดมือถือ พ่อแม่ก็ต้องไม่ติดมือถือด้วย เพราะไม่อย่างนั้นลูกก็จะไม่เชื่อฟังเราค่ะ ในครอบครัวสามารถตั้งกฎการใช้มือถือในบ้าน และใช้กฎเดียวกันนี้กับสมาชิกทุกคนในครอบครัวเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและความศักดิ์สิทธิ์ ลูกจะรู้สึกด้วยว่าพ่อแม่เอาจริงเอาจังและตัวเขาไม่ได้เผชิญกับเรื่องนี้อยู่คนเดียว

.

#เปิดใจพูดคุย เพื่อหาสาเหตุของการติดมือถือของลูก รับฟังลูกอย่างใส่ใจ ฟังเหตุผลของลูก ไม่ใช่รีบตำหนิหรือสั่งสอน แล้วคุณพ่อคุณแม่อาจจะเจอเหตุผลที่ทำให้โกรธลูกน้อยลง จริง ๆ แล้วสาเหตุของการติดมือถือก็มีหลายปัจจัย ลูกอาจจะไม่มีกิจกรรมอื่นทำ เลยเบื่อ  ถูกปฏิเสธจากเพื่อนที่โรงเรียน ไม่มีสังคม โดนแกล้ง หรือลูกอาจจะเหงา โดดเดี่ยว ซึ่งถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้บอกเล่าความรู้สึกเลย ก็อาจจะทำให้เรามองลูกด้วยความรู้สึกทางลบ ตัดสินว่าเขาขี้เกียจ ไม่มีวินัย จนนำไปสู่การตำหนิ ต่อว่า ลูกก็ยิ่งรู้สึกต่อต้าน

.

#สื่อสารความในใจด้วยข้อความป๊าม้า การบอกความรู้สึกเป็นห่วง เจตนาที่ดีของพ่อแม่แก่ลูก จะทำให้ลูกต่อต้านน้อยลง และรับฟังเรามากขึ้น รวมถึงทำให้ลูกร่วมมือที่จะปฏิบัติตามกฎกติกาด้วยความเต็มใจ

(ศึกษาการใช้เทคนิคข้อความป๊ามา ด้วยตัวเองได้ในคอร์สจัดเต็ม ที่ www.netpama.com)

 .

#ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตภาวะอารมณ์และจิตใจของลูก หากลูกมีอาการหงุดหงิด เครียด หรืออารมณ์ฉุนเฉียวมากจากการไม่ได้ใช้มือถือ หรือมีปัญหาการติดมือถือรุนแรงมากจนกระทบต่อสุขภาพจิตหรือการดำเนินชีวิต พ่อแม่ควรพาลูกมาพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อหาทางช่วยเหลือที่เหมาะสม และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่รุนแรงตามมา

.

.

การจัดการกับปัญหาการติดมือถือของลูกต้องใช้ความเข้าใจ ความอดทน ร่วมกับแนวทางเชิงบวก

ซึ่งพ่อแม่คือบุคคลสำคัญใกล้ตัวที่สุดที่จะช่วยปลูกฝังวินัยตรงนี้แก่ลูก โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดการใช้มือถืออย่างพอเหมาะพอดี รู้จักเวลา อยู่ภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสม และยังสร้างสมดุลกับกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตได้

.

Net PAMA ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวค่ะ :-)


หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดต้องการศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก หรือศึกษาทักษะพื้นฐานในการสื่อสารเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนในครอบครัว สามารถเข้ามาศึกษาได้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ www.netpama.com เรียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่านำไปใช้จริงได้แน่นอนค่ะ


หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa