window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

บทบาทสมมติ มีประโยชน์มากกว่าแค่ความสนุก

เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว

การเล่นคือหัวใจสำคัญของชีวิตวัยเด็ก #เด็กทุกคนชอบเล่น และการเล่นให้ประโยชน์ ช่วยเสริมสร้างทักษะให้กับลูกของเรามากมายหลายประการเลยทีเดียว 

.

การเล่นช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและจิตใจให้กับลูก แถมยังช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เพื่อที่จะปรับตัวในโลกที่กว้างใหญ่ใบนี้

.

วันนี้เน็ตป๊าม้าขอนำเสนอ การเล่นรูปแบบหนึ่งที่มีประโยชน์มากในแง่ของการส่งเสริมทักษะการคิด จินตนาการ การใช้ภาษาและทักษะทางสังคมให้แก่เด็ก ๆ นั่นก็คือ “การเล่นบทบาทสมมติ” นั่นเอง 

.

บทบาทสมมติ เป็นการเล่นที่เด็ก ๆ จะสวมบทเป็นตัวละครหรือบุคคลต่าง ๆ ในเรื่องราวที่เขาจินตนาการขึ้นมา เช่น สมมติให้ตัวเองเป็นคุณหมอแล้วให้ตุ๊กตาเป็นคนไข้ สมมติให้ตัวเองเป็นตำรวจตามจับผู้ร้าย หรือเล่นสมมติแนวแฟนตาซีเป็นซูเปอร์ฮีโร่กับสัตว์ประหลาด เป็นหมาป่ากับลูกหมู ฯลฯ

.

เด็ก ๆ จะได้ใช้ทั้งร่างกาย จินตนาการ บวกกับภาษา เพื่อจำลองสถานการณ์ขึ้นมาตามความรู้สึกนึกคิด หรือจากประสบการณ์ที่เคยพบเห็นมาอย่างอิสระเสรี 

.

ยิ่งมีจินตนาการกว้างไกลมากเท่าไหร่ การเล่นก็จะซับซ้อนมากขึ้น มีสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ราวกับได้หลุดไปอยู่ในโลกของจินตนาการที่ไม่มีวันจบ

.

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะความรู้มีขอบเขต แต่ #จินตนาการจะพาคุณไปได้ทุกที่" (Imagination is more important than knowledge. Knowledge is limited, imagination encircles the world.)

.

การเล่นบทบาทสมมติจึงเป็นอีกวิธีที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ใช้จินตนาการในการสร้างโลกที่ไร้ขอบเขตตามที่ใจต้องการ การเล่นสมมติเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดความคิดสร้างสรรค์ การคิดในเชิงนามธรรม และยังได้ทั้งความสนุก อยู่ในโลกที่เด็ก ๆ สามารถสร้างสรรค์และควบคุมมันได้

.

ดร. มิเชล บอร์บา ผู้เขียนหนังสือ ‘The Big Book of Parenting Solutions’ ยังได้บอกเอาไว้อีกว่า “การเล่นสมมติของเด็ก ๆ ไม่เพียงแต่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านสังคม อารมณ์ ความคิด และภาษาของเด็กอีกด้วย”  และที่สำคัญ “เด็กที่มีจินตนาการล้ำเลิศจะรับมือกับความวิตกกังวลและความเครียดได้ดี”

.

การเล่นสมมติของเด็กจึงถือเป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะในการเรียนรู้และการเติบโตของลูกอย่างที่พ่อแม่คาดไม่ถึง

เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่ามีข้อดีอะไรบ้างที่เด็ก ๆ จะได้รับหากพวกเขาได้เล่นบทบาทสมมติ

.

1.จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์:

การเล่นบทบาทสมมติช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ ใช้จินตนาการในการสร้างเรื่องราว สถานการณ์ และตัวละคร ขึ้นมาในการเล่นอย่างไม่มีข้อจำกัด 

.

เด็กจะกลายเป็นใครก็ได้  ไปที่ไหนก็ได้ และเด็ก ๆ ยังสามารถสมมติสถานการณ์ที่เขาไม่อาจสัมผัสได้ในชีวิตจริง เช่น สมมติว่าตัวเองเป็นนักบินอวกาศที่กำลังทำภารกิจอยู่นอกโลก สมมติว่าตัวเองกำลังผจญภัยในป่า สมมติว่าตัวเองเป็นสัตว์ประหลาด ฯลฯ

.

ยิ่งเล่นยิ่งขยายจินตนาการให้กว้างออกไป เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เด็กได้ทดลองหาวิธีการใหม่ ๆ ให้การเล่นสมมติของเขาสนุกยิ่งขึ้น ทำให้เด็กได้ฝึกคิดนอกกรอบ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และรู้จักนำเอาไอเดียของคนอื่นมารวมเข้ากับไอเดียของตัวเอง เพื่อให้ได้เรื่องราวใหม่ ๆ ในการเล่นร่วมกัน 

.

2.การคิดในเชิงนามธรรม

คุณพ่อคุณแม่เคยเห็นลูก ๆ ทำท่าทางขับรถโดยที่ไม่มีรถจริง ๆ หรือทำท่ายิงปืนใส่ผู้ร้ายโดยใช้สองนิ้วของตัวเองแทนปืนจริงกันมั้ยคะ ?

.

การเล่นสมมตินั้นจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฝึกใช้ของเล่นหรือวัตถุในจินตนาการ อุปกรณ์ในการเล่นเป็นได้มากมายแล้วแต่จะดัดแปลง จะใช้อะไรเล่นก็ได้ตราบเท่าที่คิดออก หรือเพียงแค่ใช้คำพูดหรือท่าทางแสดงออกมาราวกับว่าของเล่นชิ้นนั้นมีอยู่จริง ง่าย ๆ เท่านี้เด็ก ๆ ก็เล่นสนุกได้แล้ว จะเป็นเสื้อเกราะ ดาบเลเซอร์ ไม้กายสิทธิ์ หรือผ้าคลุมล่องหน ฯลฯ ทุกอย่างเสกขึ้นมาได้โดยจินตนาการ

.

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการมีมโนภาพหรือการมีภาพในหัว โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งของวางอยู่ตรงหน้า 

การใช้ความคิด มโนภาพและจินตนาการจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำทางเด็ก ๆ ไปสู่การคิดแก้ปัญหาในเชิงนามธรรม (Abstact thinking) เมื่อเขาเติบโตขึ้น

.

3.พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม

เวลาที่เด็กได้สวมบทบาทเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณครู คุณหมอ พนักงานขายของ คนขับรถ หรือแม้แต่เป็นสัตว์ต่าง ๆ  เช่น น้องหมา น้องแมว เป็นต้น เขาจะได้ฝึกการเข้าใจและรู้จักอารมณ์ของตัวละครที่พวกเขาสมมติขึ้นมา ซึ่งช่วยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดีขึ้น

.

การได้เข้าใจมุมมองของคนอื่นจะช่วยให้เด็กเข้าใจธรรมชาติของจิตใจ และได้ฝึกฝนวิธีการตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆ  ยกตัวอย่าง การที่เด็กสมมติขึ้นมาว่าตุ๊กตากำลังร้องไห้เสียใจ เขาจะต้องคิดหาวิธีตอบสนองต่ออารมณ์เสียใจ เช่น การกอดหรือปลอบน้องตุ๊กตา ซึ่งเปรียบเสมือนการได้เตรียมพร้อมรับมือกับอารมณ์ทั้งของตัวเองและคนอื่นก่อนที่จะออกไปเจอโลกจริง ๆ

.

อีริกสัน นักจิตวิทยาเจ้าของทฤษฎีจิตสังคม กล่าวว่า “การเล่นทำให้เด็กค้นพบโลกแห่งการอยู่ร่วมกับผู้อื่น” การเล่นบทบาทสมมติจะช่วยเปิดประสบการณ์ให้เด็กได้ทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การเกิดความรู้สึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่นหรือที่เรียกว่า Empathy นั่นเอง

.

ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ สามารถสร้างสัมพันธภาพและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างไว้ได้

.

4.ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร

การเล่นสมมติช่วยให้เด็กได้ฝึกพูดในบทบาทต่าง ๆ โดยต้องใช้คำศัพท์และประโยคที่หลากหลาย ซึ่งช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ การออกเสียง การเรียนรู้โครงสร้างประโยคหรือหลักไวยากรณ์ที่ถูกต้อง และได้ฝึกโต้ตอบให้ถูกต้องตามบริบทสถานการณ์

.

เมื่อเล่นบทบาทสมมติ เด็ก ๆ จะต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จินตนาการขึ้นมาโดยใช้ภาษาพูดและท่าทาง ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถต่อบทสนทนาหรือสื่อสารออกมาได้อย่างคล่องแคล่ว มีความเป็นธรรมชาติ และยังได้พัฒนาทักษะการฟัง การรับรู้และเข้าใจภาษาอีกด้วย

.

การสร้างสถานการณ์และบทสนทนาในการเล่นสมมติ ยังช่วยให้เด็กได้ฝึกใช้ภาษาเพื่อแสดงความรู้สึกนึกคิด แสดงความคิดเห็น โต้ตอบอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการเล่นที่สนุกผ่อนคลาย และอาจทำให้เด็ก ๆ เปิดใจเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ได้ไม่ยาก

.

5.พัฒนาทักษะการคิดการเรียนรู้และการแก้ปัญหา

การเล่นสมมติทำให้เด็กได้สัมผัสกับสถานการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งช่วยให้พวกเขาได้ฝึกการคิดและแก้ปัญหาในหลายบริบท และมักจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหาทางออก หรือหาวิธีใหม่ ๆ มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เล่นโดยไม่รู้สึกกดดัน 

.

การเล่นสมมติยังช่วยให้เด็กได้ฝึกวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ในการเล่น แล้วพิจารณาปัจจัยหรือผลกระทบต่าง ๆ เพื่อหาวิธีตัดสินใจที่ดีที่สุด การฝึกการตัดสินใจในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจในชีวิตจริงให้แก่เด็ก ๆ

.

นอกจากนี้การเล่นสมมติยังช่วยให้เด็กเห็นตระหนักถึงผลลัพธ์จากการตัดสินใจและการกระทำของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้จากข้อผิดพลาด มีความยืดหยุ่นทางความคิด รู้จักปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในการเล่น และหาวิธีการปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้

.

.

.

การเล่นบทบาทสมมติเป็นการแสดงออกทางความรู้สึก ความคิด จินตนาการ รวมเข้ากับประสบการณ์ แล้วสะท้อนออกมาเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านภาษาพูด ภาษากายและทักษะในการสื่อสารของเด็ก การเล่นสมมติจึงเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้ในหลากหลายมิติเลยทีเดียว 

.

วิธีเล่นกับลูกให้สนุกทำได้ไม่ยาก คุณพ่อคุณแม่เพียงแค่รู้สึกร่วมหรืออินไปกับเขา เล่นตามความสนใจของเขา สวมบทบาทที่ลูกอยากให้เราเป็น แล้วเล่นไปตามเรื่องราวที่ลูกจินตนาการขึ้นมา ไม่ไปเปลี่ยนเส้นเรื่องหรือบังคับให้ลูกมาเล่นในสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เล่น เท่านี้รับรองว่าลูกติดหนึบ เล่นกับเราได้เป็นชั่วโมงเลยล่ะค่ะ และที่สำคัญการที่พ่อแม่เล่นกับลูกยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เป็นการสร้างความทรงจำที่ดีร่วมกัน นับเป็นช่วงเวลาคุณภาพหรือว่า Quality time ที่มีความหมายมากมายกับลูกอย่างแน่นอน


อย่าปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียวนะคะ 

.

.

หากต้องการเรียนรู้วิธีการสร้างสัมพันธภาพกับลูกไปพร้อมกับการฝึกวินัยให้ลูกโดยใช้จิตวิทยาเชิงบวก สามารถเข้ามาศึกษาได้ฟรี ๆ ที่ www.netpama.com/ เลยค่ะ เป็นหลักสูตรเลี้ยงลูกเชิงบวกฉบับออนไลน์ ที่พัฒนาโดยทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ร่วมกับนักจิตวิทยา ในบทเรียนจะรวบรวมเทคนิคมากมายที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ปรับพฤติกรรมลูกได้โดยที่ความรู้สึกไม่ช้ำ ความสัมพันธ์ไม่เสีย รับรองว่าไม่ผิดหวังอย่างแน่นอนค่ะ


Ref

https://therapiesforkids.com.au/blog/benefits-of-pretend-imaginary-play/

https://www.growingplay.com/2021/07/benefits-of-pretend-play-2/

https://therapyfocus.org.au/on-the-blog/the-benefits-of-imaginative-play/



บทความโดย ซันเดย์

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa