window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
มองโลกแง่บวกมากเกินไป ไม่ใช่เรื่องดี
เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว

พ่อแม่ทุกคน ไม่ว่าใครก็อยากให้ลูกมีแต่ความสุข สดใส ร่าเริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะพยายามปกป้องลูกจากความรู้สึกแย่ ๆ ด้วยการ ‘สอนให้ลูกคิดบวกอยู่เสมอ

การคิดบวกช่วยให้เรามีสุขภาพจิตดี มีความสุขง่ายขึ้นและมีความเครียดน้อยลงก็จริง แต่การพยายามสอนให้ลูกคิดบวกกับทุกเรื่องในชีวิต เพื่อที่จะเป็น ‘คนมองโลกในแง่ดี’ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องพึงระวัง เพราะบางทีมันก็อาจทำให้เราละเลยความรู้สึกที่แท้จริงของลูก และขาดโอกาสที่จะรับฟังเคียงข้างเขา 

หลายคนน่าจะคุ้นกับคำว่า "Toxic positivity" หรือว่า "ภาวะคิดบวกจนเป็นพิษ" ซึ่งเป็นคำที่เราใช้เรียกแนวคิด พฤติกรรม หรือทัศนคติที่มองโลกในแง่ดีมากเกินไป จนไม่อยู่กับความเป็นจริง และพยายามที่จะเลี่ยงอารมณ์ด้านลบเพราะเชื่อว่าการคิดบวกคือทางออกของทุกปัญหา 

 

การปฏิเสธอารมณ์ทางลบ ไม่ว่าจะโกรธ เศร้า เสียใจ น้อยใจ ผิดหวัง แล้วแทนที่ความรู้สึกเหล่านี้ด้วยการพยายามคิดบวก อย่างที่ใคร ๆ ต่างก็บอกเราว่า “อย่าคิดมาก” หรือ “มองโลกในแง่ดีเข้าไว้” บางทีมันก็ทำให้เรา ไม่ยอมรับอารมณ์ลบของตัวเอง และต้องกดทับความรู้สึกที่ไม่ดีเอาไว้ภายในใจ ไม่ได้มีโอกาสปล่อยให้อารมณ์นั้นได้แสดงออกมา

 

การสอนให้ลูกมองเรื่องราวแย่ ๆ ในแง่ดีตลอดเวลา บางทีก็อาจทำให้เราขาดโอกาสที่จะรับฟังลูก ช่วยลูกสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น และปิดโอกาสที่ลูกจะได้พูดคุยปรึกษาหรือระบายความรู้สึกออกมา 


“ที่โรงเรียนหนูเหงามาก เพื่อน ๆ เกลียดหนู ไม่มีใครคุยกับหนูเลยค่ะแม่”
“หนูคิดมากไปรึเปล่า ไม่ต้องคิดมากหรอกลูก เดี๋ยวก็มีเพื่อนอยากคุยกับหนู”
.
“คะแนนสอบครั้งนี้ไม่ดีเลยครับพ่อ”
“ก็แค่คะแนนสอบเองลูก เรื่องเล็กน้อย เดี๋ยวครั้งหน้าก็ทำได้ ไม่ต้องเสียใจไป”
.
“หนูเครียดกับการเรียนมากเลยค่ะ”
“เดี๋ยวทำงานเครียดกว่านี้อีก อดทนไว้ลูก อย่าเพิ่งท้อ”
.
.

.เรื่องบางเรื่องที่ผู้ใหญ่อย่างเรามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับลูกแล้วอาจไม่ใช่

ลูกไม่ได้มีประสบการณ์ชีวิตมากมายพอที่จะปล่อยวางกับทุกปัญหาที่เข้ามาได้รวดเร็วเท่าผู้ใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ เขาต้องใช้เวลาที่จะเรียนรู้ อยู่กับมัน และค่อย ๆ หาวิธีการรับมือเพื่อที่จะผ่านมันไป 

.

การฝึกให้ลูกปล่อยวางความทุกข์และมองโลกในแง่บวกท่ามกลางปัญหาและพายุอารมณ์ อาจเป็นการยัดเยียดให้ลูกมีความสุขโดยที่ตัวเขายังไม่พร้อม การบอกว่าความทุกข์ของคนอื่นใหญ่กว่าก็ไม่ได้ช่วยให้ความทุกข์ของลูกน้อยลง


หากลูกรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับอนุญาตให้รู้สึกในทางลบเลย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในระยะยาว จะส่งผลกระทบทั้งต่อความรู้สึกของลูกและความความสัมพันธ์ระหว่างกันมากมายหลายประการ

  • ลูกจะเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครเข้าใจ ไม่ได้รับการเห็นอกเห็นใจจากพ่อแม่ และมองว่าพ่อแม่ไม่ได้เห็นความสำคัญต่อปัญหาของเขา มองข้ามความรู้สึกของเขา ไม่ได้พยายามรับฟังเพื่อเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังเผชิญ และลดทอนความทุกข์ใจของเขาด้วยคำว่า “ไม่เป็นไร” “อย่าคิดมาก” ทั้งที่ปัญหานั้นอาจเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ๆ สำหรับลูก 
  • พ่อแม่ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เมื่อลูกเล่าอะไรให้ฟังแล้วพ่อแม่รีบตัดสินปัญหาโดยการบอกให้ลูกคิดบวก ก่อนที่จะรับฟังลูกให้จบเสียก่อน ต่อไปลูกก็จะไม่อยากมาปรึกษาอะไรอีก และรู้สึกว่าเขาไม่ควรเล่าปัญหาให้พ่อแม่ฟัง ลูกจะเลือกเก็บปัญหาเอาไว้กับตัวเอง ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ หรืออาจจะไปปรึกษาคนอื่นนอกบ้านที่รับฟังเขามากกว่าพ่อแม่
  • ลูกรู้สึกผิดที่เป็นทุกข์ เพราะผู้ใหญ่สอนเขาว่า ‘คนเราควรจะมีความสุขและคิดบวก’ การมีอารมณ์ในทางลบ เช่น เศร้า เสียใจ ท้อแท้ ผิดหวัง เป็นเรื่องที่ต้องหาทางหลีกเลี่ยงหรือรีบกำจัดออกไป แต่ในชีวิตจริงอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบเกิดขึ้นได้เสมอ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ว่าใครก็ห้ามความรู้สึกไม่ได้ 
  • ลูกขาดวิธีการรับมือความรู้สึกเชิงลบ  การพยายามมองโลกในแง่บวกโดยเลือกที่จะหลีกเลี่ยงอารมณ์ทางลบ ทำให้ลูกขาดโอกาสเรียนรู้การอยู่กับอารมณ์ด้านลบ และเขาจะไม่ได้พัฒนาทักษะการรับมือกับอารมณ์ เมื่อวันนึงที่ลูกต้องเผชิญกับความรู้สึกแย่อย่างเลี่ยงไม่ได้ เขาจะไม่มีวิธีการที่จะมาดูแลใจตัวเอง
  • การมองโลกในแง่ดีบางทีก็ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา หากมัวแต่พยายามมองข้ามปัญหาเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี ปัญหาก็ยังคารังคาซังอยู่อย่างนั้น ไม่ได้รับการแก้ไข การที่พ่อแม่มองว่าปัญหาทุกอย่างของลูกจะไม่เป็นไร ทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี ทำให้เราเผลอมองข้ามปัญหาและความรู้สึกของลูก ซึ่งลูกอาจรอคอยความช่วยเหลือ รอคอยการซัพพอร์ตจากพ่อแม่อยู่ 

 


วิธีการรับมือความรู้สึกเชิงลบของลูก เพื่อไม่ให้กลายเป็นพ่อแม่ที่คิดบวกจนเป็นพิษ (toxic positive parents) ทำได้ดังต่อไปนี้

 

1.ยอมรับความรู้สึกลูกท้้งด้านบวกและด้านลบ

ไม่มีใครชอบที่จะรู้สึกแย่ แต่การต้องบอกคนอื่นว่า ‘ไม่เป็นไร’ ทั้ง ๆ ที่กำลัง ‘เป็นอะไร’ น่าจะแย่ยิ่งกว่า

พ่อแม่จึงควรยอมรับให้ลูกรู้สึกไม่โอเคและเป็นพื้นที่อบอุ่นปลอดภัยในวันที่เขารู้สึกแย่

การที่พ่อแม่รับฟังความรู้สึกของลูกอย่างจริงใจ จะเป็นก้าวสำคัญในการยอมรับอารมณ์ตัวเองของลูก 

หากพ่อแม่ยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่ลูกกำลังรู้สึกโดยไม่รีบตัดสิน ไม่พยายามเร่งรัดให้ลูกเลิกทุกข์แล้วรีบมีความสุข ลูกจะเข้าใจถึงความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น เขาจะเรียนรู้ได้ว่าอารมณ์ทางลบเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป ‘เศร้าก็ยอมรับว่ากำลังเศร้า โกรธก็ยอมรับว่าโกรธ’

และ การที่เรารู้สึกโกรธก็ไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนไม่ดี
แทนที่จะปฏิเสธต่อต้านอารมณ์ตัวเอง การยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงต่างหากคือวิธีที่จะช่วยให้เราอยู่กับอารมณ์นั้นได้อย่างเหมาะสมโดยที่ไม่เอาอารมณ์ลบนั้นมาตัดสินหรือตำหนิตัวเอง


2.ช่วยลูกจัดการอารมณ์ 

ลูกจะจัดการอารมณ์ได้ดี พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของการจัดการอารมณ์ก่อน เพราะลูกจะเรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์จากคนที่อยู่ใกล้ตัวเขามากที่สุด

หากพ่อแม่โกรธแล้วแสดงพฤติกรรมรุนแรง เสียงดัง ทำลายข้าวของ ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น ลูกเองจะไม่มีทางได้เห็นตัวอย่างการจัดการอารมณ์ที่ดี และจะซึมซับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงนั้นมาด้วย

แต่ถ้าพ่อแม่มีวิธีการจัดการอารมณ์ที่ท่วมท้นอย่างเหมาะสม เช่น การพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นแล้วไปสงบสติอารมณ์ ให้เวลาอยู่กับตัวเอง หรือหาวิธีปลอบประโลมใจตัวเองที่สร้างสรรค์ เช่น การกำหนดลมหายใจ การเขียนบันทึกความรู้สึก หากิจกรรมทำให้ตัวเองรู้สึกดีโดยที่ไม่ต้องปะทะ หรือพูดบอกความรู้สึกออกไปตรง ๆ โดยใช้วิธีการสื่อสารอย่างสันติ  ลูกก็จะเอาวิธีการเหล่านั้นมาใช้จัดการกับอารมณ์ของเขาด้วยเช่นกัน

การสะท้อนอารมณ์ลูกก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเอง และรับรู้ว่าพ่อแม่พร้อมที่จะเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังเผชิญ “แม่เห็นเลยนะ ว่าหนูเสียใจที่เพื่อนไม่คุยกับหนู” “ลูกคงผิดหวังที่ผลสอบออกมาไม่ดี พ่อเข้าใจหนูนะ” หากพ่อแม่ใช้เทคนิคการสะท้อนอารมณ์ได้ถูกต้อง ลูกจะยิ่งอยากเล่าเรื่องราวที่เจอให้พ่อแม่ฟัง เป็นการเปิดพื้นที่ให้ลูกได้ระบายความรู้สึกออกมาในบรรยากาศที่อบอุ่นปลอดภัย

(หากต้องการฝึกฝนเทคนิคการสะท้อนอารมณ์ลูก สามารถเข้าไปเรียนได้ที่ www.netpama.com ในบทที่ 2 เรื่อง เทคนิคการสื่อสาร)

 

3.เปิดโอกาสให้ลูกแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา

โดยฝึกให้ลูกสื่อสารอารมณ์เชิงลบอย่างสันติ ไม่กลัวที่จะปกป้องสิทธิและความรู้สึกของตัวเอง

ยกตัวอย่างเวลาที่เรารู้สึกโกรธใครสักคน การบอกว่า “เรารู้สึกโกรธนะที่เธอทำแบบนั้น เราขอเวลาไปสงบสติอารมณ์ก่อน เดี๋ยวค่อยกลับมาคุยกัน” จะช่วยให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นทำให้เราโกรธและเมื่อเขารู้ เขาจะได้ระวังไม่ทำสิ่งนั้นอีก

แต่การบอกว่า “ไม่เป็นไร เราไม่ได้โกรธ” ทั้ง ๆ ที่กำลังโกรธ อีกฝ่ายจะไม่มีวันเข้าใจ และอาจเผลอทำให้เราโกรธอีก สุดท้ายเป็นเราเองที่ต้องเก็บสะสมความโกรธนี้ไปเรื่อย ๆ จนอาจทนไม่ไหวแล้วระเบิดออกมาทำให้ความสัมพันธ์ถึงขั้นแตกหัก

จะเห็นได้ว่าอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาเลย แต่วิธีการที่เราจะใช้รับมือเมื่อรู้สึกโกรธต่างหากที่เป็นปัญหา

ถ้าพ่อแม่ฝึกให้ลูก สื่อสารอารมณ์โดยไม่ใส่อารมณ์ ช่วยให้ลูกบอกความรู้สึกได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องกดทับปิดบังอารมณ์เอาไว้ แล้วแสร้งทำเป็นไม่เป็นไรทั้ง ๆ ที่ใจกำลังจะพัง ลูกจะสามารถรับมือกับความรู้สึกเชิงลบได้อย่างเหมาะสมและเป็นเด็กที่มีความฉลาดทางอารมณ์อย่างแน่นอน

(เทคนิคการสื่อสารเชิงบวก มีให้เรียนฟรี ๆ ที่ www.netpama.com ในคอร์สจัดเต็ม บทที่ 2 เรื่อง เทคนิคการสื่อสาร)


4.ช่วยให้ลูกมองโลกตามความเป็นจริง 

มนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีแต่เรื่องดีเกิดขึ้นเท่านั้น เหตุการณ์ดีและร้ายเกิดขึ้นได้เป็นปกติของชีวิต พ่อแม่ควรสอนให้ลูกตระหนักถึงความจริงข้อนี้

ในบางครั้งลูกก็ไม่จำเป็นต้องพยายามมองเรื่องที่แย่ในแง่ที่ดี หรือยอมรับในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น การยอมให้คนอื่นรังแก การยอมให้เพื่อนล้อเลียน ยอมให้ใครมาเอาเปรียบ แล้วหาเหตุผลมาปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไร 

เพราะมันทำให้เรามองข้ามปัญหา แทนที่จะมองหาวิธีการรับมือ 'การปล่อยวางเป็นเรื่องดี แต่อย่าปล่อยปละละเลยปัญหาที่ต้องแก้ไข' ปัญหาที่ต้องแก้ก็ควรแก้และจัดการเพื่อไม่ให้มันกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม

การมองโลกตามความเป็นจริงจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้เรามองปัญหาได้อย่างเป็นกลาง และสามารถวิเคราะห์สาเหตุ ตลอดจนหาทางแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ไม่ติดกับดักของการมองโลกในแง่ดีเกินไปหรือที่ใคร ๆ เรียกกันว่า ‘โลกสวย’

.

.

.

การมองโลกในแง่ดี ยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายมากต่อการเติบโตและการดำรงชีวิต

เพราะการคิดบวกทำให้เรามีความสุข การมองเห็นแต่สิ่งดี ๆ ทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิตแต่ละวัน

แต่การพยายาม positive จนต้องสะสมความรู้สึก negative เอาไว้กับตัวเองบ่อย ๆ ก็เหมือนการเป่าลมใส่ลูกโป่งทีละนิดทีละนิด หากไม่ได้ผ่อนลมออกมาบ้าง นานวันเข้าลูกโป่งใบนั้นก็จะเต็มไปด้วยแรงดันจากความรู้สึกทางลบ ทั้งความเศร้า ความโกรธ ความเสียใจ ความน้อยใจ ความผิดหวัง ที่อัดอั้นรอวันระเบิดออกมา


พ่อแม่จึงจำเป็นจะต้อง 'สร้างความสมดุลในการมองโลกให้ลูก' ไม่ฝืนให้ลูกคิดบวกมากเกินไปจนเป็นพิษต่อใจของเขา พร้อมทั้งโอบรับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกสามารถรับมือกับอารมณ์ได้ทั้งด้านบวกและลบ มองเห็นโลกตามความเป็นจริง และแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างตรงจุด โดยมีพ่อแม่คอยสนับสนุนอยู่เคียงข้างเขา

.

.

.

คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการฝึกฝนทักษะการสะท้อนอารมณ์และเทคนิคการสื่อสารเชิงบวก รวมถึงเทคนิคอื่น ๆ อีกมากมายในการปรับพฤติกรรมลูก สามารถเข้าไปเรียนได้ฟรีที่ https://www.netpama.com/  หลักสูตรเลี้ยงลูกเชิงบวกในรูปแบบออนไลน์ สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา รับรองว่าเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน

.

ที่มา 

https://ibsb.ro/the-impact-of-toxic-positivity-in-parenting-on-childrens-well-being/

https://veretis.com.au/how-toxic-positivity-impacts-children/


บทความโดย ซันเดย์

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa