“รุนแรง”เพราะ “ติดเกม“ จริงหรือ ?
เกมคือต้นเหตุ หรือเป็นเพียงพฤติกรรมที่เห็นได้ ภายใต้ปัญหามากมายที่ซ่อนอยู่
หลายครั้งที่เกิดการใช้ความรุนแรงทำร้ายกัน เรามักจะเห็นข้อสันนิษฐานหรือสาเหตุที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ คือ “การติดเกม” และพฤติกรรมรุนแรงนั้นเกิดจากการเลียนแบบเกมที่เล่น
การเล่นเกมที่ใช้ความรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจมีโอกาสและ “มีส่วน” ทำให้เด็กเกิดการซึมซับความรุนแรงได้
แต่เราไม่สามารถสรุปจากพฤติกรรมเดียวที่เห็นเพราะนั่นอาจไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงทั้งหมด
มีหลายปัจจัยที่หล่อหลอมให้เกิดเป็นตัวตนและจิตใจของเด็กคนหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นฐานการเลี้ยงดูของครอบครัว สิ่งแวดล้อมรอบตัว สังคม หรือความผิดปกติบางอย่างจากตัวเด็กเอง
พฤติกรรมที่เด็กใช้ความรุนแรง ก้าวร้าว อาจมีสาเหตุจากปัจจัยมากมายเช่น
- การที่เด็กถูกละเลยขาดความรักความเอาใจใส่จากพ่อแม่
- การที่ถูกตามใจมากเกินไปจนไร้ขอบเขต
- มีปัญหาด้านอารมณ์และความสัมพันธ์ระหว่างกันในครอบครัว
- เติบโตในบรรยากาศที่มีแต่ความกดดันขึงเครียดจากคนในบ้าน
- รวมถึงการที่เด็กซึมซับและถูกกระทำจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและคนรอบตัว ทั้งในด้านวาจาและการกระทำ
การที่เด็กคนหนึ่งถูกเลี้ยงดูด้วยการใช้ความรุนแรง ใช้อารมณ์ คำสั่ง หรือใช้อำนาจบังคับตลอดเวลา ทำให้เขาไม่เห็นถึงคุณค่าในตัวเอง ตัวตนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวและกลุ่มเพื่อน ทำให้เด็กเลือกที่จะหันหน้าเข้าหาเกมเพื่อต้องการเพื่อนและการยอมรับที่เขาไม่เคยได้รับในชีวิตจริง
เด็กที่ไม่รักและเห็นค่าของตัวเองจะไม่เห็นค่าของผู้อื่น
โดยเด็กบางคนอาจเลือกเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงจากเกมและทำร้ายผู้อื่น เพื่อระบายความอัดอั้น ความกดดัน รวมถึงความรุนแรงที่เขาได้รับมาจากในชีวิตจริง
นอกจากครอบครัว สังคมและสภาพแวดล้อม ล้วนมีส่วนต่อพฤติกรรมของเด็ก
มีคำกล่าวที่ว่า "It takes a village to raise a child" การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน
การปฏิบัติต่อกันในสังคม ทัศนคติต่างๆ ทั้งในโลกความจริงและในโซเชียลมีเดีย สื่อทุกด้านที่ผลิตออกมา การหละหลวมปล่อยให้มีการเข้าถึงอาวุธอย่างง่ายดายล้วนมีผลต่อเด็กทั้งสิ้น
หากเลือกโยนให้ “เกม” รับผิดชอบ และเป็นต้นเหตุหลักของปัญหาโดยไม่ยอมรับและค้นหาถึงสาเหตุที่แท้จริง
นั่นหมายถึง “ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะไม่มีวันได้รับการแก้ไข”
หากต้องการสังคมที่ดีให้กับลูก การป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหา หรือการยอมรับสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง คือวิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นแก้ไข อย่าปล่อยให้ทุกอย่างสายจนเกินไป
“การสร้างลูกนั้นใช้เวลา แต่ง่ายกว่าการซ่อมลูกที่พังและแตกสลาย”
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก แบบ #คอร์สonline ทั้งหมดได้ถูกรวบรวมไว้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ www.netpama.com มีทั้งคลิปวีดิโอเรื่องราว ตัวอย่างคำพูดที่สามารถนำไปใช้เลยได้จริง โดยเรียนฟรี!ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ
บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์