วิธีสร้างสัมพันธ์กับลูกวัยรุ่น
วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องเผชิญกับมรสุมการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกด้านทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ
สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย
จากเด็กพร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
สิ่งนี้กลายเป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สำคัญของชีวิตอีกช่วงหนึ่ง
จากเด็กเล็กแสนน่ารักว่านอนสอนง่าย ถูกแทนที่อารมณ์ที่หลากหลายสับสนวุ่นวายใจ ใจร้อน ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดอารมณ์แปรปรวนเหล่านี้นำมาซึ่งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่อาจส่งผลให้พวกเขากลายเป็นเด็กมีปัญหาต่อไป
วัยที่อยากค้นหาตนเอง แต่ประสบการณ์ยังน้อยนิด วัยที่อยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อน วัยที่อยากมีตัวตนในสายตาของคนที่รัก วัยที่เชื่อมั่นในตนเอง วัยที่เชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่
คือจุดเริ่มต้นของ “ช่องว่าง” ระหว่าง “ใจ” ที่พ่อแม่และลูกต่างออกห่างกันไปทุกที
โดยเฉพาะเวลาที่วัยรุ่นพูดคุยกับพ่อแม่ สำหรับพวกเขา ช่างเป็นเวลาที่ยากลำบากเหลือเกิน ทำให้บ่อยครั้งที่วัยรุ่นแสดงอาการต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากพ่อแม่ จนในที่สุดลูกกลายเป็นเด็กดื้อในสายตาของพ่อแม่
แท้ที่จริงแล้วเรา (พ่อแม่) สามารถสยบปัญหานี้ได้ ที่จุดเริ่มต้นนั่นคือ “การสื่อสาร”
คุยกับลูกวัยรุ่น เพื่อลดปัญหา ขยับ “ช่องว่าง” ให้ใกล้ชิดกับลูกได้มากขึ้น เริ่มต้นที่
1.อดทนควบคุมอารมณ์
หากการสนทนาเริ่มต้นด้วยอารมณ์ ประกอบกับวัยของลูกที่มีการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ส่งผลให้อารมณ์ของลูกเองซับซ้อนมากขึ้นกว่าในข่วงที่เป็นเด็กเล็ก อย่าแสดงอาการ
หัวเสียก่อนลูก พยายามเก็บอารมณ์ข่มใจ
รับฟัง และพูดคุย (แต่น้อย) จนจบการสนทนา
2.มองโลกในมุมลูก
เมื่อพ่อแม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม (ที่ใหญ่ขึ้นของลูก) อยากชวนพ่อแม่ลองนึกย้อนไปสมัยเรายังเป็นวัยรุ่น จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ลูกคิด สิ่งที่ลูกเป็นได้มากขึ้นและง่ายขึ้น
3.อย่าเริ่มต้นด้วยคำว่า “ทำไม”
เพราะบางครั้งคำว่า “ทำไม” เหมือนกับเขากำลังถูกจับผิด โดยเฉพาะ “น้ำเสียง” ที่สามารถจุดชนวนความไม่เข้าใจให้เกิดขึ้น ความรู้สึกของลูกเหมือนกำลังถูกจับผิด ทำให้เขาต้องพยายามหาเหตุผลผลเพื่อเข้าข้างตนเอง (แม้บางครั้งจะดูไม่มีเหตุผลไปบ้างก็ตาม) แต่ทำให้การสนทนานั้นไม่ราบรื่น
การถามจึงไม่ควรให้ลูกต้องจำกัดการตอบ เพียงแค่ใช่ หรือ ไม่ใช่ ถูก หรือ ผิด ทำหรือไม่ได้ทำ แต่ควรให้ลูกได้พูดในสิ่งที่พวกเขาอยากพูดจากใจ จากคำถามที่ไม่ปิดกั้น
4.พูดให้น้อยฟังให้มาก
ลูกวัยรุ่นไม่ใช่วัยที่ต้องสอนสั่งพร่ำบ่นเหมือนวัยเด็ก นอกจากจะไม่เชื่อฟังพ่อแม่แล้ว ยิ่งสร้างความเบื่อหน่ายให้กับลูกนอกจากนี้ การแขวะ จัด ขวาง จับผิด ด่วนตัดสิน ทำให้ฟังลูกไม่จบ ยิ่งสร้างความรู้สึกไม่อยากคุย ไม่อยากปรึกษาและหันไปหาคนที่อยาก “ฟัง” เขามากกว่า และคำตอบมักจะเป็น “เพื่อน” วัยเดียวกัน ซึ่งประสบการณ์ไม่ต่างกัน บางครั้งจึง “อันตราย”
ดังนั้น การรับฟังจึงสำคัญ ฟังลูกด้วยใจ สีหน้า แววตา ท่าทาง ให้สอดคล้อง สนใจ ใส่ใจลูก เพราะ “เขา” รับรู้ได้
5.เวลาคุณภาพ เวลาแห่งความสัมพันธ์
ในช่วงที่ลูกเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่อาจไม่ได้ดูแลใกล้ชิดมากนัก จนบางครั้งพ่อแม่ลูกอาจรู้สึกห่างเหินกัน ดังนั้น ควรหาช่วงเวลาพากันไปทำกิจกรรมในครอบครัว พักผ่อนในช่วงวันหยุด รับประทานนอกบ้าน หรือไปเดินเล่น ไปออกกำลังกายด้วยกันในวันหยุดก็ดีนะคะ
มาสร้างความสัมพันธ์กับลูกวัยรุ่น ด้วยการสื่อสารลดรอยร้าว สร้างรอยยิ้มในครอบครัวกันค่ะ
พ่อแม่ท่านใดที่ต้องการศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวกครบสูตร สามารถเข้าไปเรียนได้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ https://www.netpama.com มีทั้งคลิปวิดีโอเรื่องราว ตัวอย่างคำพูดที่สามารถนำไปใช้เลยได้จริง โดยเรียนฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ
บทความโดย แม่มิ่ง