ความพอดีของการให้รางวัล ให้รางวัลอย่างไรให้ลูกไม่ติดรางวัล
เวลาที่เราอยากให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดี แต่ลูกไม่ให้ความร่วมมือ คุณพ่อคุณแม่ทำอย่างไรกันบ้างคะ?
.
เชื่อว่าหลาย ๆ บ้านน่าเคยใช้วิธี ‘ให้รางวัล’ เพื่อจูงใจให้ลูกทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ
“ถ้าหนูกินผักหมดจาน แม่จะให้ทานไอศกรีมที่หนูชอบ”
“วันนี้เราจะไปห้างกัน ถ้าลูกไม่ร้องไห้งอแง พ่อจะซื้อของเล่นให้”
“ถ้าตั้งใจเรียน สอบได้เกรด 4 เทอมนี้จะซื้อแท็บเล็ตให้”
ซึ่งการใช้รางวัลโน้มน้าวใจลูกมักจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเกือบทุกครั้งไป
เพราะเมื่อมีข้อแลกเปลี่ยน ลูกก็ดูมีแรงจูงใจในการทำตามที่พ่อแม่บอกขึ้นมาทันที
.
แต่ถ้าต้องให้รางวัลไปซะหมดทุกเรื่อง คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า..
#ต่อไปลูกจะทำดีเพื่อหวังของรางวัลเท่านั้นหรือเปล่า
#การให้แต่รางวัลจะทำให้ลูกกลายเป็นคนที่ยึดติดกับสิ่งตอบแทนมั้ย
#ถ้าไม่มีข้อแลกเปลี่ยนก็จะไม่เชื่อฟังไม่ทำตามที่พ่อแม่บอกมั้ยนะ
#แล้วต้องให้รางวัลมากแค่ไหนลูกถึงจะทำดีจนเป็นนิสัย
#การให้รางวัลบ่อยเกินไปเป็นการปลูกฝังนิสัยที่ไม่ดีหรือเปล่า
.
.
จะให้รางวัลก็กลัวลูกจะเสียนิสัย จะไม่ให้รางวัลก็กลัวลูกจะน้อยใจเสียใจ
#ความพอดีของการให้รางวัลอยู่ตรงไหน ?
เรามาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันนะคะ
.
การให้รางวัลเป็นวิธีการใช้สิ่งตอบแทนเพื่อจูงใจให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดี หรือทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ เช่น การทำการบ้าน ตั้งใจอ่านหนังสือ เก็บของเล่นเข้าที่ ตื่นเช้า กินผัก พูดจาไพเราะ ช่วยงานบ้าน ออกกำลังกาย ฯลฯ
.
ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ล้วนเรื่องที่ชวนให้เหนื่อยหน่ายสำหรับลูก ๆ
พ่อแม่จึงต้องใช้รางวัลมากระตุ้นให้ลูกเกิดความกระตือรือร้นที่จะทำ เพราะมันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวเขาเอง
.
หัวใจสำคัญของการให้รางวัล คือ ‘#การตกลงกันไว้ล่วงหน้า’
เป็นการพูดคุยหรือทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูกว่าถ้าลูกทำพฤติกรรมที่ดีที่พ่อแม่อยากให้ทำแล้ว ลูกจะได้อะไรเป็นสิ่งตอบแทน
.
#สิ่งตอบแทนไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุสิ่งของเพียงอย่างเดียว
รางวัลที่ลูกอยากได้อาจเป็นสิทธิหรือโอกาสพิเศษ เช่น ได้เวลาเล่นเพิ่มขึ้น ได้นอนดึกขึ้นในบางวัน ได้ไปเที่ยวกับครอบครัว หรือเป็นการได้ทำกิจกรรมที่ชอบ อย่างการเล่นบอร์ดเกมกับพ่อแม่ การให้พ่อแม่อ่านนิทานให้ฟัง หรือเป็นเวลาคุณภาพที่คุณพ่อคุณแม่ใช้กับเขา
.
ในการให้รางวัลลูกไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เชื่อว่าเป้าหมายสุดท้ายที่พ่อแม่ต้องการจริง ๆ ก็คือการทำให้พฤติกรรมดีของลูกเกิดบ่อย ๆ จนกลายเป็นนิสัยที่ดี หรือเกิดเป็นความมีวินัยในตัวของเขาเอง
.
เมื่อลูกเป็นเด็กมีวินัย เขาจะสามารถทำพฤติกรรมดีได้จากแรงจูงใจโดยไม่ต้องพึ่งพาของรางวัลหรือสิ่งตอบแทน แต่ #การสร้างวินัยต้องมาจากการให้รางวัลอย่างถูกวิธี เพื่อให้ลูกไม่กลายเป็นเด็กที่ทำดีเพื่อหวังรางวัลตอบแทน
.
ในการให้รางวัลลูก มีประเด็นอะไรบ้างที่พ่อแม่ควรนึงถึง….
1.#การให้รางวัลต้องมีการตกลงกันไว้ล่วงหน้าการตั้งกติกาหรือทำข้อตกลงกันไว้ก่อนนั้นคือหัวใจที่สำคัญอย่างยิ่งของเทคนิคการให้รางวัล
หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดีในเรื่องไหน อันดับแรกพ่อแม่ต้องหาเวลาพูดคุยกับลูกหรือประชุมครอบครัว เพื่อสร้างกฏร่วมกันว่า พ่อแม่อยากให้ลูกทำอะไร และทำแล้วจะได้อะไรตอบแทน
.
“พ่ออยากให้ลูกทำการบ้านและอาบน้ำแต่งตัวให้เสร็จก่อน 1 ทุ่มทุกวัน ถ้าวันไหนทำได้ พ่อจะให้เล่นเกมได้ 1 ชั่วโมง ถ้าวันไหนทำไม่ได้ก็อดเล่นเกม”
.
แต่ถ้าพ่อแม่พยายามจูงใจให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดีโดยไม่ได้มีกฎกติกาที่ตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้า เป็นการให้รางวัลเพื่อให้ลูกทำตามที่พ่อแม่ต้องการเดี๋ยวนั้นทันที แบบนี้เราเรียกว่าการต่อรอง
“ถ้าหนูไปอาบน้ำตอนนี้ แม่จะให้ดูการ์ตูนได้”
“ถ้ากินผักหมดจาน เดี๋ยวพ่อซื้อขนมให้”
.
สิ่งที่ลูกได้เรียนรู้จากการต่อรองก็คือ ถ้าอยากดูการ์ตูนก็ต้องทำตัวลีลาไม่ยอมไปอาบน้ำ เดี๋ยวแม่ก็ให้ดูการ์ตูน ถ้าอยากกินขนมต้องแกล้งไม่กินผัก เดี๋ยวพ่อก็ต้องเอาขนมมาล่อ
#การต่อรองคือการบ่มเพาะนิสัยทำดีเพื่อหวังสิ่งตอบแทน หากพ่อแม่ใช้วิธีการนี้กับลูกบ่อย ๆ ลูกก็จะกลายเป็นนักต่อรองตัวน้อย ที่พ่อแม่ต้องคอยยื่นข้อเสนอเพื่อให้ทำพฤติกรรมที่ดี
.
2.#ให้รางวัลพฤติกรรมที่ดีเท่านั้น
เพราะถ้าพ่อแม่ให้สิ่งที่ลูกต้องการเพื่อให้ลูกหยุดทำพฤติกรรมที่ไม่ดี แบบนี้เราเรียกกันว่าเป็น ‘การติดสินบน’
.
ยกตัวอย่างการติดสินบน เช่น การให้ลูกดูมือถือเพื่อให้ลูกเลิกก่อกวนตอนพ่อแม่ทำงาน การที่พ่อแม่ยอมซื้อของเล่นให้เพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้งอแงในห้างสรรพสินค้า
.
หากพ่อแม่ใช้วิธีนี้บ่อย ลูกจะเกิดการเรียนรู้ว่า ‘เขาต้องทำพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ชอบ เพื่อเรียกร้องให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ’ ต้องร้องไห้ถึงจะได้ของเล่น ต้องก่อกวนพ่อแม่ถึงจะได้ดูมือถือ
.
แม้ว่าการติดสินบนจะเป็นวิธีที่พ่อแม่ใช้หยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกแล้วได้ผลทันที แต่ถ้าพ่อแม่ใช้วิธีนี้ไปเรื่อย ๆ นานวันเข้าลูกก็จะติดนิสัยเอาแต่ใจ งอแง และติดของรางวัล
.
ดังนั้น #พ่อแม่จึงควรระวังไม่ให้การให้รางวัลกลายมาเป็นการติดสินบนหรือการต่อรอง
.
3.#ให้คุณค่ากับความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ที่ลูกทำได้
แทนที่จะให้รางวัลกับผลลัพธ์ หากพ่อแม่เปลี่ยนมาเป็นการชื่นชมและให้รางวัลในความตั้งใจพยายามของลูก จะช่วยให้ลูกรับรู้ถึงคุณค่าในตัวเองและอยากทำพฤติกรรมที่ดีนั้นต่อไป
.
“พ่อแม่ดีใจมากที่เห็นหนูพยายาม ขยันอ่านหนังสือทุกวัน”
“เห็นลูกตั้งใจซ้อมฟุตบอล แค่นี้พ่อก็ภูมิใจมากแล้ว ถึงชนะหรือแพ้พ่อก็ภูมิใจในตัวลูกนะ”
.
หากพ่อแม่ให้คุณค่ากับผลลัพธ์ที่ลูกทำได้ ลูกอาจกลายเป็นเด็กที่กลัวความผิดพลาด เพราะเมื่อเขาทำไม่สำเร็จตามที่พ่อแม่หวัง เขาก็จะไม่ได้รับคำชมหรือรางวัลใด ๆ และลูกจะตีความไปว่า ความรักของพ่อแม่นั้นมีเงื่อนไข พ่อแม่จะยอมรับในตัวเขาก็ต่อเมื่อเขาเป็นคนเก่ง คนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น
.
#การที่พ่อแม่ให้คุณค่ากับความพยายามของลูก #ลูกก็จะยึดถือในคุณค่านั้นด้วยเช่นกัน ถ้าพ่อแม่มองเห็นความตั้งใจของเขา ชื่นชมและยอมรับในตัวเขาที่เขามีความพยายาม มุมานะ ขยัน อดทน เขาก็จะเชื่อว่าตนเองเป็นเช่นนั้นด้วย
.
#เมื่อลูกเชื่อว่าตัวเองเป็นคนแบบไหนเขาก็จะปฏิบัติตัวแบบนั้น การที่ลูกรับรู้ตัวตนของตัวเองว่าเขาเป็นคนที่มีความพยายาม ขยัน อดทน มีระเบียบ ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ ความเชื่อมั่นในตัวเองทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ลูกอยากประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ดีโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แต่เป็นการกระทำสิ่งดีเพราะเขาเชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่ดีจริง ๆ เป็นการทำพฤติกรรมดีที่มาจากแรงจูงใจภายในของตัวเขาเอง
.
4.#สะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัล
การให้ลูกค่อย ๆ สะสมคะแนนหรือสะสมดาวเพื่อใช้แลกของรางวัล คล้ายกับการทำบัตรสะสมแต้ม ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกอยากทำพฤติกรรมดีซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นวินัยในตัวเอง
.
“ถ้าลูกอาบน้ำแต่งตัวเสร็จก่อน 7 โมงเช้าทุกวัน แม่จะให้วันละ 5 ดาว ได้ดาวครบ 150 ดวงเมื่อไหร่ เราจะไปเที่ยวสวนสนุกกัน”
“พ่ออยากให้ลูกเล่นเกมไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าทำได้พ่อจะให้วันละ 10 คะแนน ได้ครบ 50 คะแนน พ่อจะให้เวลาเล่นเกมเพิ่ม 1 ชั่วโมงในวันเสาร์”
.
การสะสมคะแนนเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ลูกได้ค่อย ๆ สะสมพฤติกรรมที่ดีไปอย่างต่อเนื่อง เพราะในทุกครั้งที่ลูกทำพฤติกรรมที่พ่อแม่ต้องการ เขาจะได้รับรางวัลเป็นคะแนนหรือดาว รวมทั้งได้คำชื่นชมของพ่อแม่คอยหล่อเลี้ยงจิตใจให้อยากทำพฤติกรรมดีต่อไป
.
นอกจากนี้การใช้ตารางสะสมคะแนนยังเป็นการฝึกให้ลูกรู้จักอดทนรอคอย เพราะเขาต้องค่อย ๆ สะสมคะแนนทีละเล็กทีละน้อย เพื่อนำไปแลกเป็นรางวัลที่เขาต้องการ
.
หากต้องการศึกษาเทคนิคการใช้ตารางสะสมคะแนนแบบละเอียด สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในคอร์สจัดเต็ม บทที่ 6 เรื่อง ‘เทคนิคการทำตารางให้คะแนน’ ที่ www.netpama.com
.
5.#จริงจังในการให้รางวัล
เมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ดีหรือทำตามกฎกติกาได้ พ่อแม่ควรให้รางวัลลูกตามที่ได้ตกลงกัน เพื่อให้ลูกมีกำลังใจในการทำพฤติกรรมนั้นต่อ
.
รางวัลที่จะให้ลูกก็ควรเป็นรางวัลที่ลูกอยากได้ หรือสามารถจูงใจให้ลูกอยากทำพฤติกรรมที่ดี ซึ่งพ่อแม่สามารถสอบถามเพื่อรับฟังความต้องการของลูกได้หรือจะสังเกตจากความชอบของลูกก็ได้
แต่อย่างไรก็ตาม #รางวัลนั้นก็ต้องสมเหตุสมผลกับพฤติกรรมที่ลูกทำ และ #รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นของราคาแพง อาจเป็นกิจกรรมที่ลูกชอบ เป็นสิทธิพิเศษต่าง โอกาสพิเศษที่จะได้ทำบางอย่าง หรือเป็นเวลาคุณภาพที่เขาจะได้ทำร่วมกับพ่อแม่
.
เมื่อลูกทำพฤติกรรมดีแล้วพ่อแม่ให้รางวัล ก็อย่าลืมที่จะชม กอด หอม และบอกกับเขาทุกครั้งว่า พ่อแม่ให้รางวัลเพราะเขาทำพฤติกรรมอะไรได้ดี ชื่นชมในความพยายามของเขาเพื่อให้เขารับรู้ว่าพ่อแม่มองเห็นและให้คุณค่าในสิ่งเขากำลังทำ
.
ถ้าพ่อแม่สร้างข้อตกลงเรื่องการให้รางวัลกับลูกเอาไว้แล้ว แต่ไม่สามารถทำตามสัญญาได้ หรือผิดคำพูดกับลูก ลูกจะรู้สึกว่าความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมาของเขานั้นไม่มีค่า ผิดหวัง ไม่อยากทำพฤติกรรมที่ดีอีกแล้ว และจะไม่เชื่อใจพ่อแม่อีกต่อไป
.
พ่อแม่จึงควรจะตกลงกับลูกให้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าของรางวัลที่เหมาะสมและพ่อแม่สามารถให้ได้คืออะไรบ้าง รางวัลอะไรบ้างที่ลูกอยากได้แต่พ่อแม่ไม่สามารถให้ได้ ด้วยเหตุผลอะไร
การตกลงกติกาและกำหนดของรางวัลให้ชัดเจน จะช่วยป้องกันไม่ให้เรากับลูกต้องมาทะเลาะกันทีหลัง และป้องกันไม่ให้เราต้องผิดคำสัญญากับลูก
.
6.#เอาจริงเมื่อไม่ให้รางวัล
เมื่อลูกไม่สามารถทำตามกติกาหรือข้อตกลงที่สร้างไว้ด้วยกัน พ่อแม่เองก็ต้องจริงจังในการไม่ให้รางวัลหรือไม่ให้คะแนน เพื่อให้ลูกเรียนรู้ผลจากการกระทำของตนเอง
ลูกอาจรู้สึกผิดหวังหรืองอแงเมื่อไม่ได้ของรางวัล และต่อรองกับเรา แต่ถ้าพ่อแม่สงสารลูก ยอมให้รางวัลทั้ง ๆ ที่ลูกไม่สามารถทำตามกติกาได้ ต่อไปกติกาก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ลูกจะรู้ทันทีว่าพ่อแม่ได้เอาจริงเอาจังในการปรับพฤติกรรมเขา เขาจะทำหรือไม่ทำตามกติกา ยังไงก็ได้รางวัลอยู่แล้ว
.
อยากให้พ่อแม่ท่องเอาไว้ให้ขึ้นใจว่าเราจะต้อง #ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน
ถ้าลูกรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้รางวัล พ่อแม่สามารถใช้วิธีการสะท้อนอารมณ์ เช่น “แม่รู้ว่าหนูเสียใจที่ไม่ได้รางวัล แต่ยังไงกฎก็ต้องเป็นกฎนะคะลูก” ลูกจะรับรู้ได้ว่าพ่อแม่เข้าใจและเห็นใจเขา แต่พ่อแม่จะไม่ตามใจเขา
(หากต้องการศึกษาเทคนิคการสะท้อนอารมณ์ลูก รวมถึงวิธีการพูดคุยเมื่อต้องหักคะแนนหรือริบของรางวัล สามารถศึกษาได้ในคอร์สจัดเต็ม ที่ www.netpama.com )
.
ในการไม่ให้รางวัลลูก พ่อแม่ไม่ควรพูดด้วยความโมโหหรือใช้อารมณ์ หลีกเลี่ยงการตำหนิ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี พ่อแม่ควรพยายามรักษาท่าทีให้สงบ ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล อ่อนโยน เหมือนเวลาที่คุยเรื่องทั่วไป
.
วิธีการให้รางวัลเป็นเทคนิคที่จะช่วยให้ลูกมีกำลังใจในการทำพฤติกรรมที่ดี และทำให้พฤติกรรมที่ดีนั้นคงอยู่จนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวเขาไปตลอด พ่อแม่จึงควรศึกษาวิธีการให้รางวัลที่ถูกต้อง ไม่ลืมที่จะตั้งกติกา สร้างข้อตกลงร่วมกัน ตระหนักถึงข้อควรระวังของการให้รางวัล และหมั่นฝึกฝนเทคนิคการให้รางวัลบ่อย ๆ เท่านี้ก็จะช่วยให้พ่อแม่ให้รางวัลลูกได้อย่างเหมาะสม และไม่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ติดของรางวัล
.
และหากพ่อแม่ท่านใดต้องการเรียนรู้เทคนิคการให้รางวัลและการทำตารางสะสมให้คะแนน และเทคนิคเชิงบวกในการปรับพฤติกรรมลูก แบบละเอียด เข้าใจง่าย พร้อมคลิปตัวอย่างที่สามารถนำไปใช้ได้จริง สามารถเข้าไปเรียนได้ที่ www.netpama.com เรียนออนไลน์ได้ฟรีทุกที่ทุกเวลานะคะ สะดวกมาก ๆ
.
Net PAMA ขอเป็นส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ที่ดีของทุกครอบครัว ♥️
บทความโดย ซันเดย์