window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
‘ร่างกายของลูก ลูกเป็นเจ้าของ’
เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

‘ร่างกายของลูก ลูกเป็นเจ้าของ’
สอนลูกให้รู้จักสิทธิบนร่างกายตัวเอง  เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ


การล่วงละเมิดทางเพศเป็นข่าวร้ายแรงที่พบเจอได้บ่อยครั้งในทุกวันนี้ โดยเฉพาะข่าวการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กที่มีให้เห็นอยู่ตามสื่อโซเชี่ยล และการที่เด็กถูกเลือกให้เป็นเหยื่อของการล่วงละเมิด เป็นเพราะเด็กเล็กยังไม่เข้าใจว่าการกระทำแบบไหนที่เข้าข่ายคุกคาม รวมทั้งยังไม่สามารถที่จะปกป้องตัวเองได้ จึงทำให้ถูกฉวยโอกาสได้ง่าย

 

เด็กบางคนถูกผู้ใหญ่กอด หอม จูบ แตะต้องเนื้อตัว สัมผัสร่างกาย ด้วยเจตนาที่ไม่ดีหรือแสดงออกถึงนัยยะทางเพศ  โดยที่พวกเขาไม่ได้รู้เท่าทันว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่กระทำคือพฤติกรรมที่ไม่ดี และพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ที่ไหน เพราะเด็กอาจถูกล่วงละเมิดได้ทุกที่ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ผู้ที่กระทำก็อาจเป็นได้ทั้งคนนอกครอบครัว เช่น เพื่อนบ้าน ครู หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ใกล้ชิดในครอบครัวที่เด็กไว้ใจ ก็อาจเป็นผู้กระทำได้เช่นกัน

 

เด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดไม่เพียงแต่ได้รับความบอบช้ำทางกาย ความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงยาวนาน จนกลายเป็นฝันร้ายในความทรงจำ ทำให้บางคนไม่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ และอาจนำไปสู่โรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ หรือ PTSD

 

พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรสอนให้เด็ก ๆ รู้เท่าทันภัยคุกคามเพศ และตระหนักในสิทธิของตัวเอง โดยเฉพาะสิทธิในร่างกายตัวเองที่เขาต้องดูแลปกป้องตัวเอง รู้จักขอบเขตของการสัมผัสแตะต้องร่างกาย รู้ว่าพื้นที่ส่วนไหนบนร่างกายของเราที่ห้ามให้คนอื่นเห็น ห้ามให้ใครมาจับหรือสัมผัส เพื่อป้องกันตัวเองจากการล่วงละเมิดทางเพศ

 

วิธีการฝึกลูกเอาตัวรอดจากการคุกคามทางเพศเริ่มต้นได้จาก…

การฝึกลูกเรียกชื่ออวัยวะบนร่างกายให้ถูกต้อง เพราะเวลาที่เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับร่างกายของเขา หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เขาถูกล่วงเกิน ลูกจะได้สื่อสารให้พ่อแม่เข้าใจได้ โดยเฉพาะคำเรียกอวัยวะเพศ ที่ผู้ใหญ่อย่างเราอาจรู้สึกเขินอายเมื่อต้องพูดถึง แต่ควรสอนให้ลูกรู้จักคำศัพท์เหล่านี้ด้วยท่าทีปกติทั่วไป เหมือนเวลาที่เราสอนลูกว่า “ตาเรามีไว้มอง หูเรามีไว้ฟัง ปากเรามีไว้พูดคุยกับทานอาหาร” 

พ่อแม่สามารถบอกลูกได้เช่นกันว่า “ตรงนี้คือจู๋/จิ๋ม เราเอาไว้ฉี่นะลูก”  และยังขยายความให้ลูกเข้าใจได้อีกว่า “ตรงนี้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของหนู อย่าใครมาจับนะคะ”  ถ้าลูกยังเล็กก็บอกข้อยกเว้นกับลูกไว้ว่าคนที่สัมผัสตรงนี้ของลูกได้ มีใครบ้าง เช่น คุณพ่อแม่ที่อาบน้ำเช็ดตัวให้ลูก คุณหมอที่ตรวจร่างกายตอนที่ลูกไม่สบาย 

 


สอนลูกให้รู้จักจุดสงวนบนร่างกาย ซึ่งหมายถึงอวัยวะที่ห้ามให้คนอื่นมาจับหรือสัมผัสโดยเด็ดขาด เป็นพื้นที่ส่วนตัวของลูกที่ต้องใส่เสื้อผ้าปกปิดเอาไว้ ได้แก่ บริเวณหน้าอก ก้น ต้นขา อวัยวะเพศ

นอกจากจะให้ใครมาจับไม่ได้แล้ว ลูกต้องห้ามเปิดให้ใครดูโดยไม่มีเหตุจำเป็นด้วย และลูกก็ไม่สามารถไปจับ สัมผัสหรือดูจุดสงวนของคนอื่นด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้บริเวณใบหน้า หน้าท้อง คอ ไหล่ ต้นแขน มือและเท้า ก็เป็นพื้นที่ที่ลูกต้องให้ความยินยอมก่อน คนอื่นถึงจะมาจับหรือสัมผัสได้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนมาจับแล้วลูกรู้สึกอึดอัดสับสน ลูกสามารถบอกว่า “ไม่” ได้เช่นกัน เพราะ ร่างกายเป็นสิทธิของลูก ลูกมีสิทธิปฏิเสธเสมอหากรู้สึกไม่สบายใจ

ถ้าลูกอยู่ที่บ้าน แล้วมีผู้ใหญ่ หรือพี่ ๆ คนไหนมาจับของสงวนของลูก ให้ลูกวิ่งหนีมาบอกพ่อหรือแม่ทันที และถ้าอยู่ที่โรงเรียน แล้วมีเพื่อน ๆ คุณครู หรือใครมาจับพื้นที่สงวนของลูก ให้ลูกรีบไปบอกคุณครูที่ไว้ใจได้ แล้วให้คุณครูติดต่อคุณพ่อคุณแม่ทันที

 


สอนให้ลูกรู้จักการสัมผัสที่ไม่ปลอดภัย การแยกแยะสัมผัสที่ดีและไม่ดีก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ควรเตรียมความพร้อมให้ลูก เพราะเมื่อลูกโตขึ้นจนเข้าโรงเรียนได้ ลูกจะไม่ได้อยู่ในสายตาของพ่อแม่ทั้งวันเหมือนตอนยังเล็ก พ่อแม่เองก็ไม่สามารถสอดส่องดูแลเขาได้ตลอดเวลา ดังนั้นลูกจึงควรรู้จักสังเกตพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจเพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยง

สัมผัสที่ปลอดภัยคือสัมผัสที่ทำให้มีความสุข เป็นการสัมผัสที่ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น สบายใจ เช่น การจับมือคุณพ่อคุณแม่ การกอดคุณพ่อคุณแม่ การที่คุณพ่อคุณแม่ลูบหัว หรือการที่เพื่อนลูบหลังเบา ๆ 

กลับกัน สัมผัสที่ไม่ปลอดภัยคือการสัมผัสที่ทำให้รู้สึกอึดอัด เป็นการสัมผัสที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายใจ กลัว สับสนหรือรู้สึกอาย เช่น การจับต้นขา การเปิดกระโปรง ดึงกางเกง หรือมีใครมาแตะต้องลูบคลำพื้นที่สงวนของลูก เหล่านี้ถือเป็นการสัมผัสที่ไม่ดี และเป็นพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ


หากมีใครให้ของรางวัลเพื่อแลกกับการจับพื้นที่สงวนของลูก เช่น ขอจับหน้าอกแล้วจะซื้อขนมให้ ขอจับก้นแล้วจะให้ดูการ์ตูน ลูกต้องปฏิเสธทันทีแม้คนนั้นจะเป็นญาติหรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจก็ตาม และลูกจะต้องบอกเรื่องนี้ให้พ่อแม่รู้


พ่อแม่ควรเน้นย้ำกับลูกว่า ผู้ใหญ่ที่ลูกไว้ใจเชื่อถือก็อาจจับต้องเนื้อตัวของลูกด้วยเจตนาที่ไม่ดีได้ด้วยเช่นกัน เพราะมีบ่อยครั้งที่การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเกิดขึ้นโดยคนในครอบครัวหรือคนที่เด็กคุ้นเคย


การสอนให้ลูกป้องกันตนเองจากการถูกล่วงละเมิด ไม่ได้มีเพียงการระมัดระวังไม่ให้ใครมาสัมผัสแตะต้องเนื้อตัว แต่การล่วงละเมิดคุกคามยังรวมไปถึงการใช้คำพูดแทะโลม ลวนลาม พูดจาสองแง่สองง่ามกับเด็ก หรือการล่วงละเมิดทางเพศที่ไม่ได้ถูกเนื้อต้องตัวอื่น ๆ  เช่น การจ้องมองก้นหรือหน้าอก การให้เด็กดูภาพลามก การโชว์ของลับให้เด็กดู การขอให้เด็กจับอวัยวะเพศ และการแอบถ่ายภาพส่วนตัวของเด็ก


หากมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น การบอกว่า “ไม่ได้” “ไม่ชอบ” “ไม่โอเค” “ไม่ยอม” คือสิทธิที่ลูกสามารถทำได้ และควรทำเพื่อปกป้องตัวเอง และเมื่อไหร่ที่ลูกต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน ลูกต้องตะโกนเสียงดัง ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือรีบวิ่งหนีออกมา บอกพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจทันที

 

การปลูกฝังให้ลูกตระหนักในสิทธิของตัวเอง รู้จักหวงแหนเนื้อตัวร่างกาย และกล้าปฏิเสธผัสที่ไม่ดี พ่อแม่ก็ต้องเคารพสิทธิในร่างกายของลูก และ เคารพสิทธิในการปฏิเสธของลูก ด้วยเช่นกัน

.

การให้ลูกกอด หอม หรือจุ๊บปากคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ แม้จะเป็นญาติผู้ใหญ่ที่สนิท ก็ควรถามความยินยอมของลูกก่อน หากลูกไม่ยินยอมพร้อมใจ พ่อแม่ก็ไม่ควรฝืนใจหรือเกลี้ยกล่อมให้ลูกทำ เพราะจะทำให้คำปฏิเสธของลูกไม่มีค่าและเขาจะรู้สึกว่าตัวเขาไม่มีสิทธิในร่างกายของตัวเองเลย

.

รวมถึงการโพสต์ภาพของลูกลงบนสื่อโซเชียลก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่พึงระมัดระวัง แม้ภาพอิริยาบถต่าง ๆ ของเด็กจะดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่การลงภาพที่เผยให้เห็นพื้นที่สงวนของลูก เช่น ภาพลูกไม่ใส่เสื้อผ้า ภาพตอนลูกอาบน้ำ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อตัวลูก หากลูกโตพอที่จะสื่อสารและตัดสินใจเองได้ การที่พ่อแม่ถามความคิดเห็นของลูกก่อนที่จะโพสต์ภาพของลูกลงบนโซเชียลของตนเอง ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกถึงการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในร่างกายตนเอง ที่เขาจะต้องหวงแหนไม่ยอมให้ใครมาละเมิดได้ง่าย ๆ

 

ในปัจจุบันมีสื่อมากมายที่คุณพ่อคุณแม่สามารถหยิบมาใช้สอนเรื่องการคุกคามทางเพศกับลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือนิทานสำหรับเด็ก เช่น ‘เรื่องไม่ลับ ฉบับคุณหนู’ เป็นนิทานสอนเพศศึกษาสำหรับเด็กเล็กและสอนทักษะการปฏิเสธจากคนที่ไม่น่าไว้ใจ  เรื่อง ‘ปิงปิงไม่ยอม’  และ ‘ป๋องแป๋งไม่ยอม’  เป็นนิทานที่สอนให้เด็กรู้จักสิทธิในร่างกายของตัวเอง และรู้วิธีป้องกันตัวเองเมื่อถูกคุกคาม เหมาะสำหรับเด็กไม่เกิน 6 ขวบ

.

แม้ว่าการพูดคุยเรื่องเพศศึกษาและการล่วงละเมิดทางเพศ อาจเป็นสิ่งที่ชวนหนักใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่อย่าลืมว่า ลูกเองก็ยังเป็นเด็ก เขาไม่ได้มีประสบการณ์ชีวิตมากพอที่จะรู้เท่าทันอันตรายรอบตัว พ่อแม่จึงควรพูดคุยเรื่องเหล่านี้กับลูก โดยสร้างบรรยากาศให้สบาย ๆ เหมือนเวลาที่คุยเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เปิดโอกาสให้ลูกซักถามในสิ่งที่สงสัยอย่างไม่ปิดกั้น และตอบคำถามลูกด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะกับวัยของเขา เท่านี้ก็จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกัน รู้จักปฏิเสธหลีกเสี่ยงสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง และเห็นความสำคัญของสิทธิในร่างกายของตัวเองและผู้อื่น


 

และหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดต้องการอัพสกิลเลี้ยงลูกเชิงบวก สามารถเข้ามาศึกษาได้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ www.netpama.com เรียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่านำไปใช้จริงได้แน่นอนค่ะ



ที่มา

https://www.esafekids.com.au/post/private-body-parts-why-when-how-to-start-the-conversation

https://www.caps.org.au/our-newsletter/five-safety-rules-to-teach-your-child-before-they-start-school

https://www.sarakadeelite.com/better-living/5-books-for-children/

https://collettsmart.com/teaching-children-body-safety/


บทความโดย ซันเดย์

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa