คุณค่าของ “การรักษาคำสัญญา“ ของพ่อแม่ คือ ”ศรัทธาและความเชื่อใจ“ ที่ได้รับจากลูก
คุณค่าของ “การรักษาคำสัญญา“ ของพ่อแม่
คือ ”ศรัทธาและความเชื่อใจ“ ที่ได้รับจากลูก
“พ่อสัญญา ถ้าเทอมนี้ลูกสอบได้ที่1 พ่อจะพาไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์“
เคยเป็นกันบ้างไหมคะ เวลาลูกตื๊อขออะไร เพื่อตัดรำคาญและคิดว่าลูกยังเล็กคงจะจำอะไรไม่ได้ เราเลยให้สัญญาแบบขอไปที คิดว่าสักพักลูกก็น่าจะลืมไปเอง หรือตั้งเงื่อนไขยากๆ โดยให้คำสัญญาแบบที่ไม่คิดจะจริงจังออกไปเพราะถึงอย่างไรลูกก็ไม่น่าจะทำได้
แต่ลูกกลับจริงจัง ทำตามเงื่อนไขของพ่อแม่จนสำเร็จและกลับมาขอในสิ่งที่พ่อแม่สัญญาไว้ เมื่อเห็นถึงพลังความตั้งใจจากใจดวงเล็กๆ ของเขา #มัมมี่Bชวนเมาท์ เชื่อจริงๆ ค่ะ ว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมดีใจและอยากที่จะทำตามคำสัญญาที่ให้กับลูก แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น เวลา ทุนทรัพย์ หรืออื่นๆ บางคนจึงอาจจะเลือกใช้วิธีที่จะบ่ายเบี่ยง ผลัดผ่อน หรือเพิ่มเงื่อนไขกับลูกทับซ้อนขึ้นไปอีกเพื่อหวังว่าจะช่วยแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าไปก่อน
“พ่อยังไม่มีเวลาพาไปเลย เอาไว้ถ้าเทอมหน้าลูกยังได้ที่1 อีก พ่อค่อยพาไปนะ “
เพราะเราคือโลกทั้งใบของเขา
คำสัญญาของพ่อแม่ จึงมีคุณค่ามากสำหรับลูก หากคำพูดของพ่อแม่ไม่สามารถเชื่อถือได้ เขาจะสามารถไว้ใจใครได้อีก
พ่อแม่คือ คนธรรมดาที่ผิดพลาดได้ด้วยความไม่รู้ แต่ทุกการกระทำนั้นล้วนมี“ราคา” ที่ต้องจ่าย
การผิดคำสัญญากับลูกที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยอาจมีราคาแสนแพง สิ่งที่เราและลูกต้องสูญเสียไปอาจมากมายจนประเมินค่าไม่ได้
ในมุมของลูก การผิดคำสัญญาของพ่อแม่ถือเป็นการทำลายความหวัง ลบล้างความตั้งใจ ละเลยในความพยายามของเขา ทำให้ลูกสูญเสียความเชื่อมั่นและความไว้ใจที่มีต่อพ่อแม่ ทำร้ายความรู้สึก ลดทอนสัมพันธ์ระหว่างกัน คำพูดของพ่อแม่จะไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ไม่น่าเชื่อถือ ทำให้ลูกไม่อยากเชื่อฟังและอาจทำให้ลูกรู้สึกว่า เขาเองก็ไม่จำเป็นต้องรักษาคำสัญญาเช่นกัน
หากพ่อแม่เผลอตกปากรับคำกับลูกในสิ่งที่เราทำไม่ได้ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การยอมรับผิดและขอโทษลูกอย่างจริงใจ
พยายามที่จะแก้ไขโดยไม่แก้ตัว อย่าบ่ายเบี่ยง หรือเพิ่มเงื่อนไขใดๆ กับลูกทั้งสิ้น
“ พ่อรู้ว่าลูกผิดหวัง พ่อขอโทษที่ตอนนี้ทำตามสัญญาไม่ได้เพราะเงินสำรองเรามีไม่พอ ความรู้สึกของลูกสำคัญกับพ่อมากๆ นะ ขอให้พ่อได้แก้ไขและทำให้ดีที่สุด “
เมื่อลูกพยายามแล้ว พ่อแม่ก็ต้องพยายามให้มากด้วยเช่นกัน
อธิบายเหตุผลตามความเป็นจริงกับลูกว่าทำไมตอนนี้พ่อแม่ถึงไม่สามารถทำตามคำสัญญาได้ รวมถึง ทบทวนว่า 'มีวิธีการใดบ้างที่เราจะทำตามสัญญาที่ให้กับลูกได้แม้อาจจะต้องใช้เวลาบ้างก็ตาม' เช่น การประหยัดในค่าใช้จ่ายบางส่วนมากขึ้น เก็บออมเพื่อสิ่งที่สัญญาไว้ให้ลูก หรือหากเกินกำลังจริงๆ มีสิ่งใดบ้างที่เราจะชดเชยให้กับลูกได้ บอกแผนการทั้งหมดที่เราตั้งใจไว้ให้ลูกรู้และต้องทำให้ได้
เพราะลูกคือกระจกสะท้อนพ่อแม่
คำสัญญา คือ ความศรัทธา ความเชื่อมั่น ความไว้ใจที่เราและลูกมีให้ต่อกัน คำสัญญาจึงถือเป็นคำมั่น เมื่อพูดแล้วพ่อแม่ต้องทำให้ได้ ดังนั้นก่อนจะให้สัญญากับลูกต้องมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่เราทำได้จริง
เป็นตัวอย่างที่ดีในการรักษาสัญญาและรับผิดชอบในคำพูดของตนเอง เพราะลูกมักจะเรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่ทำมากกว่าฟังที่เราสอนเสมอ
ถึงแม้ลูกเป็นเด็กแต่เขายึดมั่นในคำสัญญาของพ่อแม่มากกว่าที่เราคิด บ้านไหนมีประสบการณ์การให้คำสัญญากับลูกแล้วผลเป็นอย่างไรมาแชร์กันนะคะ !
Netpama ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกบ้าน เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับลูกด้วยกันค่ะ ♥️
พ่อแม่ท่านใดที่ต้องการศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวกครบสูตร สามารถเข้าไปเรียนได้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ www.netpama.com มีทั้งคลิปวิดีโอเรื่องราว ตัวอย่างคำพูดที่สามารถนำไปใช้เลยได้จริง โดยเรียนฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ
บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์