window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

“ลงมือทำ ผิดพลาด แก้ปัญหาด้วยตัวเอง” วิถีที่จะทำให้ลูกโตเองได้ รับผิดชอบตัวเองเป็น

เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว

“ลงมือทำ  ผิดพลาด แก้ปัญหาด้วยตัวเอง”

วิถีที่จะทำให้ลูกโตเองได้ รับผิดชอบตัวเองเป็น  


การที่ลูกเติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพ ดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของคนอื่น เป็นคนดีในสังคม คงเป็นเป้าหมายหลักของพ่อแม่ทุกบ้านใช่ไหมคะ

เราจึงอยากให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ ใส่ใจรับผิดชอบทั้งเรื่องส่วนตัวและการเรียนโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องคอยเคี่ยวเข็ญทะเลาะกับลูก แต่ก็เป็นความน่าหนักใจสำหรับบางบ้านที่ดูเหมือนลูกยังดูแลรับผิดชอบตัวเองไม่ค่อยได้ แค่ปลุกตื่นยังยาก ทำอะไรก็ช้าต้องให้แม่คอยช่วย ข้าวของเก็บไม่เป็นที่ ทำการบ้านอ่านหนังสือ แม่ต้องนั่งจ้ำจี้จ้ำไช งานบ้านไม่ต้องพูดถึงไม่เคยช่วยหยิบจับ 


เพราะการพึ่งพาและการทำให้ของพ่อแม่ทำให้ลูกเกิดความสบายและเคยชิน หรือในบางครั้งอาจทำให้ลูกอึดอัด เพราะพ่อแม่มักจะคิดแทนและทำแทนเขาอยู่ตลอด ทำให้ลูกขาดความภูมิใจ ลังเลในคุณค่าและความสามารถของตัวเอง 


การที่ลูกจะทำอะไรด้วยตัวเองได้นั้น สิ่งสำคัญคือ การที่พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดี และ อมให้ลูกได้ลงมือทำเรียนรู้ถูกผิดและแก้ไขความผิดพลาดจนทำสำเร็จได้ด้วยตัวเขาเอง


ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยฝึกฝนให้ลูกได้ดังนี้ 


  • ฝึกให้โอกาสลูกได้มีสิทธิ์เลือกทำเพื่อฝึกการตัดสินใจตามวัย ตัวอย่างเช่น เลือกเสื้อผ้าเอง เลือกกิจกรรมที่ลูกอยากทำ วางแผนในการทำการบ้าน ทบทวนอ่านหนังสือเอง 

  • ใช้เทคนิคตารางให้คะแนนเพื่อช่วยในการปรับพฤติกรรม ลดพฤติกรรมลบ เสริมพฤติกรรมดี ให้ลูกได้สะสมคะแนนแลกรางวัลจูงใจ จากกติกาที่วางร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก (สามารถศึกษาเพิ่มเติมในจากคอร์สจัดเต็มบทที่ 6 เทคนิคการทำตารางให้คะแนน)

  • ชื่นชมในความพยายามของลูก จะช่วยเป็นกำลังใจให้ลูกพยายามทำจนสำเร็จ แม้สิ่งนั้นอาจจะยังยากสำหรับเขาก็ตาม เช่น “แม่เห็นลูกพยายามผูกเชือกรองเท้าตั้งนาน ทั้งๆที่มันไม่ง่ายเลย แม่ภูมิใจในความตั้งใจของลูกจัง” ( สามารถศึกษาเพิ่มเติมในจากคอร์สจัดเต็มบทที่ 3 เทคนิคการชม)

  • ปล่อยให้ลูกได้ลองทำโดยไม่ตัดสินลูกไปก่อน ในบางครั้งพ่อแม่กลัวว่าลูกจะล้มเหลวและผิดหวัง คิดว่าเกินความสามารถลูกจึงยื่นมือเข้าช่วยทันที เราควรปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ ลองทำผิดถูก แก้ปัญหาด้วยตัวเอง  โดยอาจมีพ่อแม่ดูแลและให้คำแนะนำห่าง ๆ เช่น “ลูกอยากลองเทน้ำใส่แก้วเอง  แม่ว่าหนูทำได้ ลองเลย” “ลูกอยากไปสมัครสอบระดับประเทศ  แม่ว่ามันน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีเลย อยากให้แม่ช่วยอะไรลูกบอกได้เลยนะ“

  •  ยินดีเมื่อสำเร็จเคียงข้างรับฟังเป็นกำลังใจในวันที่ลูกผิดพลาดล้มเหลว รับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ซ้ำเติม ให้ลูกได้ทบทวนหาทางแก้ไขความผิดพลาดของตัวเอง และให้คำแนะนำเมื่อลูกต้องการ  เช่น ”ลูกเทน้ำหก ไม่เป็นไรนะ ไหนเราลองมาคิดกัน ลูกว่าควรจะทำอย่างไรดีคะ” ”พ่อรู้ลูกตั้งใจกับการแข่งนี้มาก แต่ผลไม่เป็นอย่างที่หวังลูกเลยเสียใจมากจริง ๆ“ (สามารถศึกษาเพิ่มเติมในจากคอร์สจัดเต็มบทที่ 2 ทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร)


เพราะพ่อแม่ไม่สามารถอยู่กับลูกตลอดไป เราจึงอยากเห็นลูกเติบโตดูแลตัวเอง รับผิดชอบตัวเองได้ เพื่อให้ลูกก้าวเดินและใช้ชีวิตของเขาโดยที่เราไม่ต้องเป็นห่วง    …ถึงแม้ในวันที่ไม่มีเราแล้วก็ตาม…



ขอโอกาสให้ Net PAMA ได้เป็นเพื่อนร่วมทางในการเติบโตของทุกบ้านนะคะ พ่อแม่ที่ต้องการศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวกให้ลูกสามารถเติบโตรับผิดชอบตัวเองได้ สามารถเข้าไปเรียนได้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ www.netpama.com มีทั้งคลิปวีดิโอเรื่องราว ตัวอย่างคำพูดที่สามารถนำไปใช้เลยได้จริง โดยเรียนฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ ♥️



บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์
หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa