window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

ปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูก ลูกจะล้มแล้วลุกเป็น

เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว

เด็กที่ไม่เคยล้มจะไม่มีโอกาสเรียนรู้วิธีลุก

ปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูก ลูกจะล้มแล้วลุกเป็น


การอดทนต่อความผิดหวังและเยียวยาตัวเองจากความทุกข์ใจเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นต้องฝึกฝนให้ลูก


หากลูกไม่เรียนรู้ที่จะอดทนต่อความผิดหวัง เขาจะเติบโตเป็นเด็กที่กลัวความผิดพลาด จมอยู่กับความพ่ายแพ้และรู้สึกแตกสลายเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลว  


ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคน ไม่มีใครสักคนในโลกใบนี้ที่สมบูรณ์แบบ ทุกคนมีข้อบกพร่องและมีโอกาสทำผิดพลาดเสมอ ไม่ว่าใครก็ต้องเจอความผิดหวังน้อยสักครั้งในชีวิต


การต้องเฝ้าดูลูกเผชิญความล้มเหลวผิดพลาดอาจเป็นเรื่องยากและหนักหนาเอาการสำหรับคนเป็นพ่อแม่

พ่อแม่จึงต้องคอยบอก สอน ชี้แนะ ผลักดัน เคี่ยวเข็ญด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ลูกไปถึงเป้าหมายโดยไม่มีอะไรผิดพลาด


ลูกมีพ่อแม่คอยชี้แนะทุกเรื่องอยู่เสมอ นับเป็นเรื่องโชคดี แต่บางทีพ่อแม่ก็จำเป็นต้องถอยออกมาแล้วให้พื้นที่ลูก ๆ ได้ลองผิดลองถูกเพื่อจัดการเรื่องยุ่งยากในชีวิตเองบ้าง 


ถ้าพ่อแม่ปูทางชีวิตลูกไว้หมดทุกอย่าง เส้นทางการเติบโตที่ไร้ขวากหนามให้ฝ่าฟันอาจทำให้ลูกขาดโอกาสเผชิญอุปสรรคในชีวิต ไม่ได้ลองสัมผัสกับความล้มเหลว  ซึ่งเป็นประสบการณ์สำคัญที่ลูกจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อเติบโตด้วยตัวเขาเอง


เด็กที่ไม่เคยล้มจะไม่มีโอกาสเรียนรู้วิธีลุก


หากพ่อแม่ปล่อยให้ลูกได้ลองล้มลองพลาด แล้วให้พื้นที่เขาได้ลองคิดหาทางออกและลุกขึ้นมาเอง ลูกจะรับรู้ถึงศักยภาพในตัวเองที่เขามี เขาจะเรียนรู้ว่าตัวเขาก็แข็งแกร่งมากพอที่จะพาตัวเองก้าวข้ามความรู้สึกพ่ายแพ้นี้ไปได้ และเรียนรู้สัจธรรมชีวิตที่สำคัญคือ ล้มเหลวหนึ่งครั้งไม่ได้แปลว่าจะล้มเหลวไปตลอด


เมื่อพ่อแม่ปล่อยลูกออกจากพื้นที่ปลอดภัย ปล่อยให้เขาทำได้ลองอะไรด้วยตัวเอง ตัดสินใจเอง ผิดพลาด ล้มเหลวและแก้ปัญหาเอง ลูกจะมีสนามในการฝึกทักษะการล้มแล้วลุก  ลูกจะได้เรียนรู้จากการลองผิดลองถูกและรู้จักหาทางวางแผนรับมือกับปัญหาอุปสรรคในอนาคต


ประสบการณ์ที่ล้มเหลวช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อปัญหา  เมื่อต้องเจอความล้มเหลวผิดพลาดอีกกี่ครั้งในวันข้างหน้า เขาจะไม่กลัวอีกต่อไป เพราะเขาเคยผ่านมันมาได้แล้ว เขาจะเชื่อมั่นว่าตัวเองจะผ่านมันไปได้อีกครั้ง

.

.

.


ในวันที่ลูกล้มเหลวมา หน้าที่ของพ่อแม่คือคอยเคียงข้าง ให้กำลังใจ ช่วยผลักดันให้ลูกล้มแล้วลุกขึ้นมาได้ใหม่ในเวอร์ชั่นที่แกร่งกว่าเดิม


เทคนิคสำหรับพ่อแม่ในการจับมือลูกก้าวข้ามความล้มเหลว มีอะไรบ้าง? มาดูกันค่ะ

  1. เห็นอกเห็นใจลูก ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เราก็ต่างเสียใจเมื่อต้องผิดหวัง ในวันที่ลูกรู้สึกพ่ายแพ้ พ่อแม่อย่าเพิ่งรีบบอกให้เขาเลิกเศร้าหรือหยุดเสียใจ เพราะความเศร้าเสียใจมันห้ามกันไม่ได้จริง ๆ 

ถ้าเป็นไปได้ลองเปลี่ยนโยคปลอบใจ จากคำว่า “ไม่เป็นไรนะลูก ไม่ต้องเสียใจไปหรอก เรื่องแค่นี้เอง” มาเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจ เช่น “ แม่เห็นว่าหนูพยายามมาก ๆ หนูคงผิดหวังมากเลย” การสะท้อนความรู้สึกจะช่วยให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่มองเห็นสิ่งที่กำลังท่วมท้นอยู่ในใจเขา พ่อแม่ยอมรับและให้เวลากับความผิดหวังเสียใจของเขา ไม่ปฏิเสธความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้นในตัวเขา แล้วลูกก็เรียนรู้ที่จะยอมรับความรู้สึกพ่ายแพ้ล้มเหลวนี้ได้ด้วยเช่นกัน


  1. เล่าประสบการณ์ที่ล้มเหลวของพ่อแม่ให้ลูกฟัง เพราะความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งพ่อแม่เอง พ่อแม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของการก้าวผ่านความผิดหวังพ่ายแพ้ให้ลูกได้ ด้วยการแบ่งปันความล้มเหลวที่พ่อแม่เคยมี เช่น “พ่อเคยทำงานพลาดเหมือนกัน” “ตอนเด็ก ๆ แม่ก็เคยสอบตก” “พ่อแม่ก็เคยผิดหวังในความรักเหมือนหนู”  ฯลฯ แล้วลองแชร์วิธีจัดการกับความผิดหวังให้ลูกฟังว่าพ่อแม่เอาชนะความรู้สึกนั้นได้อย่างไร (แต่ต้องไม่เปรียบเทียบวิธีของเรากับลูกว่าวิธีของใครดีกว่ากัน หรือกดดันบังคับให้ลูกใช้วิธีเดียวกับเราแก้ปัญหา) หากลูกรับรู้ว่าพ่อแม่คือคนธรรมดาที่เคยทำพลาด เคยล้มเหลวหรือสูญเสียพรัดพราก เขาจะได้เรียนรู้เช่นกันว่า ชีวิตไม่ได้เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้เสมอไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะสุดท้ายเขาจะผ่านเรื่องราวที่แสนท้าทายนี้ไปได้โดยมีพ่อแม่คอยเคียงข้าง ไม่เหยียบย่ำซ้ำเติม

  1. มองความล้มเหลวเป็นโอกาสในการพัฒนา ความล้มเหลวของลูกเป็นโอกาสสำหรับพ่อแม่ในการสอนทักษะการยอมรับความผิดหวังและหาทางแก้ปัญหา ในวันที่ความเศร้าเบาบางลง พ่อแม่ลองชวนลูกพูดคุยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด ชวนกันคิดว่าในครั้งต่อไปจะวางแผนรับมืออย่างไร  #จะล้มอย่างไรให้เจ็บน้อยที่สุด #ล้มครั้งต่อไปต้องทำอย่างไรให้ลุกได้เร็ว เพราะในอนาคตข้างหน้า ชีวิตก็ยังมีเรื่องให้พลาด ให้ผิดหวังเสียใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรัก ฯลฯ ความผิดพลาดในอดีตคือเกราะป้องกันชั้นดีที่จะช่วยให้ลูกมีทักษะการแก้ปัญหาและกล้าเผชิญความผิดหวังในอนาคต

  1. ชื่มชมให้กำลังใจ เมื่อพ่ายแพ้ผิดหวัง ลูกอาจรู้สึกขาดความมั่นใจ รู้สึกว่าสงสัยในความสามารถหรือคุณค่าของตัวเอง พ่อแม่คือบุคคลสำคัญที่จะช่วยกอบกู้ความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองของลูกกลับคืนมา ในวันที่ชีวิตลูกผิดแผนไม่เป็นอย่างใจหวัง อย่าให้คำชมของพ่อแม่หายไปเป็นอันขาด พ่อแม่ยังคงต้องชื่นชมในความตั้งใจ ความพยายามที่ลูกมี เพื่อให้ลูกรู้ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับตัวเขานั้น ไม่ได้ทำให้พ่อแม่รู้สึกผิดหวังในตัวเขา พ่อแม่ยังคงมองเห็นความพยายามและให้คุณค่าในความตั้งใจของเขา และตัวเขายังมีโอกาสครั้งใหม่ในการพัฒนาตัวเองเสมอ

.

.

.

การเรียนรู้ที่จะล้มเหลวอาจเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่ลูกจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเขาได้ลองล้มแล้วลุกครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกครั้งที่พ่ายแพ้ ผิดหวัง ลูกจะได้พัฒนาทักษะการจัดการกับทุกสิ่งที่ชีวิตต้องเผชิญ ทั้งการวางแผนรับมือกับปัญหาที่ท้าทายในชีวิต และการจัดการอารมณ์ความรู้สึกที่ถาโถมเมื่อชีวิตไม่เป็นดั่งใจ


ขอเพียงแค่ทุกครั้งที่ล้มลงแล้วมีพ่อแม่นั่งลงข้าง ๆ โอบรับความผิดหวังแพ้พ่ายไปด้วยกัน ให้เวลาลูกได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น และรอลูกลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองได้อีกครั้ง

เพียงเท่านี้ลูกก็จะฟื้นตัวจากความล้มเหลวกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่สูญเสียคุณค่าในตัวเองไป และพร้อมตั้งรับกับความท้าทายใหม่ ๆ ในชีวิต


การสร้างลูกให้เป็นเด็กกล้าคิด กล้าลงมือทำ ไม่กลัวความผิดพลาด และรู้จักเรียนรู้จากความล้มเหลว พ่อแม่จะต้องหยิบยื่นโอกาสในการล้มเหลวให้เขาก่อน การปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูกเองบ้าง ไม่ใช่การทิ้งให้เขาเผชิญความทุกข์ตามลำพัง พ่อแม่ยังอยู่ตรงนี้เคียงข้างเขาไม่ไปไหน รอซัพพอร์ตเขาเสมอเมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ 


และหากพ่อแม่ต้องการฝึกทักษะที่จะช่วยให้อยู่เคียงข้างลูกได้อย่างมั่นใจในวันที่ลูกล้มลง สามารถเรียนรู้เทคนิคการฟังอย่างใส่ใจ การจับอารมณ์สะท้อนความรู้สึก และเทคนิคการชมลูกอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ในคอร์สเลี้ยงลูกเชิงบวก ที่ www.netpama.com  นะคะ รับรองว่าเรียนจบแล้วจะได้วิธีการสื่อสารเชิงบวกไปใช้กับลูกและคนในครอบครัวอย่างแน่นอนค่ะ ที่สำคัญคือเรียนออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา และไม่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนค่ะ



บทความโดย ซันเดย์

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa