ช่วยลูกปรับตัว ในวันพ่อแม่แยกทาง
ช่วยลูกปรับตัว ในวันพ่อแม่แยกทาง
.
ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อน ตอนนี้สังคมเรามีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้นมาก
เด็กในยุคนี้หลายคนจึงเติบโตมาในครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
การหย่าร้างของสามีภรรยา ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะห้ามกันได้ เพราะเมื่อชีวิตสมรสมีความขัดแย้งและต่างฝ่ายต่างก็พยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทางแล้วแต่ยังไม่มีทางออก บางทีการแยกทางอาจดีกว่าการทนอยู่ด้วยกัน
ในมุมมองของผู้ใหญ่บางคน การแยกทางเมื่อหมดรักกันอาจเป็นสิ่งธรรมดามาก
แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว การแยกทางกันของพ่อแม่เป็นอะไรที่สร้างความเจ็บปวดให้เขามากมายมหาศาล
ลูกทุกคนไม่ว่าใครก็อยากให้พ่อแม่รักและอยู่ด้วยกัน แต่เมื่อพ่อแม่ตัดสินใจจบความสัมพันธ์ นั่นคือความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่
การที่เด็กคนนึงตื่นมาแล้วพบว่าพ่อหรือแม่ได้จากเขาไปแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจมากมายทีเดียว เพราะนั่นหมายถึงการที่เขาต้องสูญเสียหลายอย่างในชีวิต สูญเสียคนที่คอยดูแล สูญเสียโอกาสหลายอย่างที่พ่อแม่เคยหยิบยื่นให้ สูญเสียช่วงเวลาดี ๆ ที่จะสร้างร่วมกันในอนาคต
การหย่าร้างทำให้ชีวิตลูกต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่าง อาจจะต้องย้ายบ้าน เปลี่ยนโรงเรียน ต้องแยกจากพี่น้อง แยกจากสัตว์เลี้ยง สมาชิกในครอบครัวไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันเหมือนเดิม
เมื่อชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไป ความกังวลก็ย่อมเพิ่มมากขึ้น และยิ่งลูกกังวลมากเท่าไหร่ เขาก็จะประสบกับความยากลำบากในการปรับตัวมากขึ้นเท่านั้น
ลูกจะปรับตัวได้ดีหรือไม่นั้น ตัวแปรสำคัญคือพ่อแม่ปรับตัวได้ดีแค่ไหน ถ้าพ่อแม่ปรับตัวในการเลี้ยงลูกได้ดี ลูกก็จะปรับตัวได้ง่าย ถ้าพ่อแม่มีภาวะทางจิตใจที่มั่นคงเข้มแข็ง ให้ความร่วมมือกันในการเลี้ยงดูลูกอย่างเต็มที่ ลูกก็จะไม่รู้สึกว่าชีวิตตัวเองขาดอะไรไป
การหย่าร้าง แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้ลูก แต่พ่อแม่ก็สามารถช่วยให้ลูกเจ็บปวดน้อยลงและปรับตัวให้ดีขึ้นได้ โดยมีวิธีการดังนี้….
#วางแผนล่วงหน้า ก่อนที่จะตัดสินใจจบความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา พ่อแม่ควรวางแผนชีวิตล่วงหน้าเพื่อให้ลูกได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลี้ยงดูลูก ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูก บอกลูกล่วงหน้าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง ลูกจะอยู่กับใครอย่างไร พ่อแม่ที่แยกออกไปจะไปอยู่ที่ไหน แล้วจะได้เจอกันตอนไหน ให้เวลาลูกในการเตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลง แต่อย่าคาดหวังว่าลูกจะทำได้ในทันที
#บอกความจริงกับลูก ช่วยให้ลูกเข้าใจว่าการหย่าร้างระหว่างพ่อแม่คืออะไร จะมีผลกระทบต่อเขาอย่างไร
เด็กบางคนอาจรู้สึกโทษตัวเองว่ามีส่วนทำให้พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อแม่ควรยืนยันกับลูกว่าการหย่าร้างเป็นการตัดสินใจของพ่อแม่ ไม่ใช่ความผิดของลูก และให้ความมั่นใจกับลูกว่าพ่อแม่จะยังคงรักเขาและดูแลเขาต่อไป
#ไม่มองข้ามความรู้สึกของลูก เปิดโอกาสให้ลูกพูดความรู้สึกของตัวเอง ยอมรับความเศร้าความรู้สึกสูญเสียของลูก รับฟังเขาอย่างตั้งใจ กำลังใจจากครอบครัวจะช่วยให้เขาตั้งหลักได้
แต่หากลูกมีความเครียดมาก และพ่อแม่ไม่สามารถช่วยจัดการกับความรู้สึกนั้นได้ หรือลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจนน่าเป็นห่วง ควรพาลูกไปพูดคุยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์
#ให้ลูกรับรู้ปัญหาเท่าที่เด็กจำเป็นต้องรู้ หากเด็กคนหนึ่งต้องอยู่ท่ามกลางสงครามระหว่างพ่อกับแม่คงไม่ดีสักเท่าไหร่ ผู้ใหญ่เองควรเลี่ยงการกล่าวโทษกันให้เด็กฟัง
“พ่อเขามีคนอื่น เขาเลยทิ้งเราไป” หรือ “แม่เขาเกลียดพ่อ เขาไม่อยากอยู่กับพ่อแล้ว” ประโยคในทำนองนี้ ยิ่งลูกได้ยินได้ฟังมากเท่าไรก็ยิ่งสร้างความปวดร้าวในใจให้ลูกมากเท่านั้น
ถึงแม้อีกฝ่ายจะไม่ดีจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องพูดสิ่งไม่ดีทั้งหมดนั้นกับลูก หากต้องการคนพูดคุยหรือระบายความอัดอั้นตันใจ แนะนำให้คุยกับเพื่อนที่ไว้ใจ คนอื่นในครอบครัวหรือจะปรึกษาจิตแพทย์ก็ย่อมดีกว่าการระบายให้ลูกฟัง
#ไม่ใช้ลูกเป็นผู้ส่งข่าว ในบางรายที่พ่อแม่มีความขัดแย้งกันจนไม่อยากจะคุยกันตรง ๆ การให้ลูกเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างพ่อกับแม่ถือว่าเป็นอะไรที่เกินหน้าที่เด็กคนหนึ่งไปมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรื่องนั้นเป็นปัญหาระหว่างพ่อกับแม่
“บอกพ่อด้วยว่าอย่าลืมจ่ายค่าเทอม”
“ฝากไปบอกแม่ด้วยล่ะ ว่าทีหลังมารับส่งลูกให้ตรงเวลาหน่อย”
ข้อความข้างต้น ผู้ใหญ่ควรสื่อสารกันเอง ไม่ใช่สื่อสารกันผ่านลูกเพราะจะทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดใจ
#ให้ลูกสามารถรักได้ทั้งพ่อและแม่ อย่าให้ลูกต้องเลือกระหว่างใครคนใดคนหนึ่ง หรือถามคำถามที่กดดันลูก เพียงแค่เพราะอยากพิสูจน์ว่าลูกรักใครมากกว่า
“เสาร์อาทิตย์นี้อยากอยู่กับพ่อหรืออยากไปหาแม่”
“อยู่บ้านแม่สนุกเท่าอยู่บ้านพ่อหรือเปล่า”
“ตอนไปหาพ่อ พ่อเขาพาหนูไปเที่ยวไหม”
ควรระวังคำพูดเหล่านี้เพราะมันสร้างความขัดแย้งในใจให้กับลูก ลูกไม่รู้ว่าเขาควรจะเลือกใคร หากเลือกพ่อก็เท่ากับว่าเขาทอดทิ้งแม่ หากเลือกแม่เท่ากับว่าเขาหักหลังพ่อ
การที่ลูกต้องอยู่ในสภาวะเช่นนี้ จะส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูก เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งไม่เป็นผลดีกับลูกเลย
#สนับสนุนให้ลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายที่ไม่ได้เลี้ยงดู ในบางครอบครัวที่ลูกต้องอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง พ่อแม่ฝ่ายที่ไม่ได้อยู่กับลูกก็จะค่อย ๆ หายไปจากชีวิตลูก
การที่ไม่ได้เจอหน้าพบปะพูดคุย ไม่มีเวลาคุณภาพด้วยกันอีก ลูกจะค่อย ๆ รู้สึกไม่สนิทใจ และบางครั้งก็รู้สึกกังวล กลัวว่าจะสูญเสียความรักไป กลัวว่าตัวเองจะไม่มีตัวตนในสายตาพ่อหรือแม่ สัมพันธภาพระหว่างกันก็ยิ่งแย่ลง
หากพ่อแม่แยกทางกันแล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็ควรให้ลูกติดต่อกับอีกฝ่ายหนึ่งและได้มีช่วงเวลาดี ๆ กับฝ่ายที่ไม่ได้เลี้ยงดูด้วย
เพราะถ้าลูกได้รับการอนุญาตให้สามารถรักได้ทั้งพ่อและแม่ เขาจะปรับตัวกับการหย่าร้างของพ่อแม่ได้ดียิ่งขึ้น
#ใช้ชีวิตประจำวันให้เหมือนเดิมมากที่สุด การหย่าร้างของพ่อแม่ทำให้ลูกต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมากมายอยู่แล้ว การคงกฎระเบียบในบ้านไว้แบบเดิมหรือพยายามทำให้ชีวิตประจำวันของลูกเหมือนเดิมมากที่สุด จะช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและไม่ได้รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่มากเกินไปนัก
การที่ลูกได้ทำสิ่งที่เคยทำ ได้ไปดูหนังทุกสุดสัปดาห์ ได้ไปเที่ยวเล่นบ้านคุณปู่คุณย่าทุกอาทิตย์ ได้ทำกิจกรรมที่ชอบเหมือนเดิม จะทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจว่าชีวิตเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด ลูกจะรู้สึกถึงความต่อเนื่องของชีวิตและมั่นใจว่าพ่อแม่จะยังดูแลเขาได้ดีเหมือนเดิม
.
.
.
แม้ความสัมพันธ์ในฐานะสามีภรรยาจะจบลง แต่ความสัมพันธ์ในฐานะพ่อและแม่ของลูกนั้น ไม่อาจจะจบลงได้ พ่อและแม่ควรที่จะร่วมมือกันเพื่อให้การหย่าร้างนั้นกระทบกับลูกน้อยที่สุด
การที่พ่อแม่ช่วยให้ลูกสามารถปรับตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เท่ากับว่าลูกจะมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และเป็นรากฐานการปรับตัวที่ดีในอนาคตได้
.
.
.
Net PAMA ขอเป็นกำลังให้ครอบครัวทุก ๆ รูปแบบค่ะ
.
.
หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดต้องการศึกษาการเลี้ยงลูกเชิงบวก สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ที่ www.netpama.com มีทั้งคอร์สเร่งรัดและคอร์สจัดเต็มให้เลือกเรียนตามความสนใจ เรียนฟรีได้ทุกที่ทุกเวลาค่ะ แล้วมาเลี้ยงลูกเชิงบวกด้วยกันนะคะ
บทความโดย ซันเดย์