วิธีใช้เทคนิคสะท้อนความรู้สึกลูก เพื่อให้ได้ใจลูกทุกช่วงวัย ทำให้ลูกอยากเล่าและอยากฟังที่พ่อแม่สอน
วิธีใช้เทคนิคสะท้อนความรู้สึกลูก เพื่อให้ได้ใจลูกทุกช่วงวัย
ทำให้ลูกอยากเล่าและอยากฟังที่พ่อแม่สอน บทความโดย #มัมมี่Bชวนเมาท์
รู้สึกกันไหมคะว่าลูกเราพอเริ่มโต พ่อแม่พูดนิดพูดหน่อยแทบไม่ได้ ถามอะไรก็ไม่อยากตอบ สอนอะไรก็ไม่อยากจะฟัง ยิ่งโตยิ่งดื้อ ดูแล้วไม่เข้าใจความรักและความหวังดีที่พ่อแม่มีให้เลย
.ส่วนหนึ่งเป็นไปตามพัฒนาการตามวัย เนื่องจากยิ่งโตลูกจะมีความเป็นตัวของตัวเองที่มากขึ้น แต่หากเกิดเหตุการณ์ข้างต้นนี้บ่อยๆ จนเริ่มไม่เข้าใจกัน อาจเป็นสัญญาณว่า #เรากำลังมีปัญหาทางการสื่อสารและความสัมพันธ์กับลูกอยู่
.เมื่อลูกเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆหรือปัญหา สิ่งสำคัญที่พ่อแม่มักข้ามไปก่อนการสอนคือ #การรับฟังและการสะท้อนความรู้สึกของลูก ซึ่งเป็น “หัวใจสำคัญ” ที่จะทำให้ลูกอยากเล่าปัญหาให้พ่อแม่ฟังและอยากที่จะฟังพ่อแม่สอน (**ทักษะสำคัญนี้สามารถศึกษาได้จาก ทักษะพื้นฐานการสื่อสารได้ในบทที่ 2 ในคอร์สจัดเต็มที่ https://www.netpama.com/ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย)
.เมื่อลูกเล่าถึงปัญหา หรือเล่าเรื่องต่างๆ เป็นเพราะลูกต้องการระบายให้คนที่เขาไว้ใจ เข้าใจและรับฟัง แต่ด้วยความรักและความห่วงใย คนเป็นพ่อแม่อยากที่จะสอนหรือช่วยลูกแก้ปัญหา เราจึงเผลอพูดแทรก ต่อว่า หรือตัดบทในขณะลูกเล่า เช่น
.ลูก : แม่คะ วันนี้ครูเปียโนสอนเพลงยากมาก หนูไม่อยากเรียนแล้ว
แม่ : เราก็เป็นซะแบบนี้ (ลูกรู้สึกถูกตัดสิน) ยิ่งเรียนมันก็ต้องยิ่งยากสิ
ลูก : แม่คะ แต่มันยากมาก เพลงเร็ว แถมยังต้องเล่นสองมืออีก
แม่ : ลูกก็ตั้งใจให้มากขึ้น ยิ่งยากยิ่งต้องตั้งใจ ซ้อมมากๆ เดี๋ยวลูกก็ทำได้เอง มันไม่ยากเกินไปหรอก
ลูก : เงียบบบ ..(แม่ไม่เข้าใจ ไม่อยากคุยกับแม่แล้ว)
.ในมุมของแม่ เราแค่อยากอธิบายให้ลูกเข้าใจ รวมถึงให้คำแนะนำ แต่เมื่อลูกรู้สึกว่า พูดทีไร พ่อแม่ก็ไม่เคยรับฟัง แถมบางครั้งซ้ำเติม ไม่เข้าใจความรู้สึกของเขา จะทำให้ลูกไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟังอีก เมื่อลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เคยอยู่ข้างเขา ลูกก็จะต่อต้านเมื่อได้รับคำแนะนำเช่นกัน
.
ในฐานะพ่อแม่ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง ?
#ทักษะการฟังและสะท้อนความรู้สึกของลูก ก่อนการให้คำแนะนำหรือสอนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก #การอยู่เคียงข้างเพื่อรับฟังลูกไม่ได้หมายถึงเข้าข้าง แต่การฟังอย่างไม่ตัดสินและสะท้อนความรู้สึกของลูก จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจเขา และความรู้สึกของเขานั่นสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
#ฟังลูกให้จบด้วยความตั้งใจ ไม่พูดแทรกหรือตัดบท ถึงแม้จะรู้สึกไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ลูกพูด เปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายความรู้สึกออกมาทั้งหมด
#สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของลูก เมื่อลูกเล่าจบเพื่อแสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่นั้นยอมรับและเข้าใจความรู้สึกของเขา
เมื่อลูกได้ระบายและสามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้แล้ว เราค่อยให้ความเห็นและคำแนะนำหากลูกต้องการ ซึ่งในบางครั้งเมื่อลูกได้เรียบเรียงเหตุการณ์และจัดการอารมณ์ตัวเองได้ เขาจะสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยอาจไม่ต้องการคำแนะนำใดๆจากพ่อแม่เลย
ตัวอย่างการฟังโดยไม่ตัดสินและสะท้อนความรู้สึกของลูก เช่น
ลูก : แม่คะ วันนี้ครูเปียโนสอนเพลงยากมาก หนูไม่อยากเรียนแล้ว
แม่ : ลูกรู้สึกว่าเพลงวันนี้ยาก (สะท้อนความรู้สึก) แม่ก็ว่าวันนี้หนูดูเหนื่อยจริงๆ (ปลอบด้วยการกอด)
ลูก : เพลงมันยากและเร็วมาก แถมยังต้องเล่นสองมืออีก
แม่ : นั่นสิ เพลงเร็วแถมต้องเล่นสองมือนี่ไม่ง่ายเลย แต่แม่ดีใจจริงๆ ที่เห็นหนูตั้งใจและพยายามมาก เพลงนี้น่าจะต้องวางแผนการซ้อมดีๆเลย หนูคิดว่าอย่างไรจ๊ะ ?
ลูก : หนูว่าจะแบ่งซ้อมทีละท่อนจะได้คล่องขึ้น (รู้สึกดีที่แม่เข้าใจและรับฟัง)
แม่ : เยี่ยมไปเลย ! แม่เป็นกำลังใจให้ลูกนะจ๊ะ (ชื่นชมที่ลูกสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง)
การสื่อสารที่ดีมีผลอย่างมากต่อความสัมพันธ์กับทุกคนในครอบครัว #เพราะลูกคือกระจกสะท้อนพ่อแม่ เมื่อลูกรู้สึกว่า พ่อแม่รับฟังและพร้อมที่จะเข้าใจเขา ลูกก็จะรับรู้ถึงความห่วงใยที่เรามีให้ และพร้อมที่จะรับฟังและเข้าใจเราเช่นกัน
ความสุขในครอบครัวมาจากความสัมพันธ์ที่ดี และกฎระเบียบที่ดีภายในบ้าน ซึ่งทั้งหมดได้ถูกรวบรวมไว้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ https://www.netpama.com/ มีทั้งคลิปวีดิโอเรื่องราว ตัวอย่างคำพูดที่สามารถนำไปใช้เลยได้จริง โดยเรียนฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ
ขอโอกาส Net PAMA เป็นส่วนหนึ่งของความสุขในทุกครอบครัวนะคะ ♥️