เมื่อลูกขอความช่วยเหลืออะไร...ให้ตอบว่า “ได้” ไปก่อน ข้อคิดจากซีรี่ย์ เรื่อง “Never Have I Ever”
เมื่อลูกขอความช่วยเหลืออะไร...ให้ตอบว่า “ได้” ไปก่อน
หนึ่งในวิธีการสื่อสารให้ลูกรู้สึกว่าเราเข้าใจเขา
อ้างอิงจากซีรี่ส์ความรักครอบครัววัยรุ่น “Never Have I Ever”
ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข ล้วนเป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเรามีให้กับลูกอย่างเต็มเปี่ยมในทุกวัน แต่ในหลาย ๆ ครั้ง เวลาที่เราพยายามมอบความรักอย่างไร้เงื่อนไขนี้ให้กับลูก (โดยเฉพาะกับลูกวัยรุ่น) มันเหมือนว่าเขาจะไม่ค่อยมองเป็นความรักสักเท่าไหร่ มิหนำซ้ำ บางทีเขายังมองว่ามันไม่ใช่ความรักด้วย ซึ่งเชื่อว่าชาวผู้ปกครองอย่างเราหลาย ๆ คนที่กำลังอยู่ในสถานการณ์นี้ คงรู้สึกแอบนอยด์ แอบเศร้าใจ หรือคงรู้สึกแอบสงสัยไม่น้อยเลยว่าเราทำอะไรผิดไป ลูกถึงมีการตอบสนองกลับมาหาเราแบบนี้
เรื่องราวครอบครัวของคุณแม่หมอนาลินีและลูกสาววัยรุ่นสุดแสบเดวี่ จากซีรี่ส์ Netflix ชื่อดังอย่าง “Never Have I Ever” ก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน ซึ่งมันก็สร้างความรู้สึกทุกข์ใจแก่ตัวคุณแม่นาลินีของเราไม่น้อยเลย เธอรู้ดีว่าตนเองอาจเข้มงวดกับลูกมากเกินไป แต่เธอก็มองว่าที่เธอต้องเข้มงวด ก็เพราะเธอก็อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกเช่นกัน และเธอก็พยายามจะทำความเข้าใจลูกสาวสุดแสบนี้มาก ๆ ด้วย แต่เธอก็ไม่เคยเข้าใจหล่อนได้สักที ทำให้ต้องมีปัญหากันอยู่บ่อยครั้ง ทั้ง ๆ ที่ตัวเธอเองก็ไม่ได้อยากให้มีเลย
เธอเลยได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาอดีตเพื่อนคู่อริของเธอ หรือคุณหมอคริส แจ๊คสัน ที่นอกจากจะเป็นคุณหมอจอมขี้อวดผู้รักสวยรักงามอย่างน่าหมั่นไส้แล้ว เขายังรับบทเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณหมอคริสก็ดูเข้าใจสิ่งที่นาลินีเจอเป็นอย่างดี เพราะตัวเขาเองก็เคยพยายามทำให้ลูกมีความสุข แต่ลูกกลับมองว่ามันไม่ใช่ความสุขอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนั่นก็นำไปสู่การมีปากเสียงกัน ทำให้ตัวเขาเองรู้สึกไม่สบายใจเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คุณหมอคริสก็ได้แนะนำวิธีหนึ่งให้กับคุณแม่นาลินีที่เขาใช้ได้ผล ซึ่ง #คุณนายข้าวกล่อง มองว่าเป็นหนึ่งวิธีที่ดีและน่าสนใจมาก ๆ เลย นั่นก็คือเมื่อลูกขอความช่วยเหลืออะไรจากเรา หรือในวันไหนที่ลูกต้องการเรา ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ให้เราช่วยลูกไปก่อน หรือให้ ‘say yes’ ไปก่อนเลยโดยที่ไม่ต้องถามหรือกังวลอะไรมาก
นาลินีเลยลองเอาวิธีการนี้ไปใช้กับลูกของเธอดู ซึ่งในตอนนั้นเดวี่ก็กำลังเจอกับปัญหาใหญ่ที่โรงเรียนอีกครั้ง เมื่อเธอดันมีปัญหาโดยไม่ได้ตั้งใจกับเพื่อนอินเดียสาวของเธอ ที่ตอนนี้ยิ่งเธอพยายามแก้ไขความสัมพันธ์เท่าไหร่ ปัญหาต่าง ๆ ยิ่งดูบานปลายมากขึ้น จนสุดท้ายเพื่อนอินเดียของเธอจำเป็นต้องตัดสินใจย้ายออกจากโรงเรียนเพราะเธอ ซึ่งเดวี่ก็ไม่ได้อยากให้เพื่อนต้องย้ายไปอยู่โรงเรียนใหม่
ในวินาทีสุดท้าย เดวี่จึงเลือกขอความช่วยเหลือจากนาลินี ให้เธอช่วยพูดกับแม่ของเพื่อนอินเดียสาวให้เพื่อนของเธอกลับมาอยู่ที่โรงเรียนเหมือนเดิม ซึ่งในแว้บแรกที่เกิดขึ้นนาลินีก็รู้สึกตกใจและอยากรู้มากเช่นกันว่าเดวี่ไปทำอะไรให้เพื่อนคนนี้ต้องออกจากโรงเรียน และในใจก็คงรู้สึกโมโหไม่น้อยเลยที่เดวี่ไปสร้างปัญหที่โรงเรียนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เธอยังจำคำแนะนำที่คุณหมอคริสได้ให้กับเธอไว้ได้อยู่ และได้ลองตอบรับความช่วยเหลือจากลูกสาวเธอไปอย่างไม่ถามอะไรมากเหมือนเมื่อก่อนดู
ซึ่งผลตอบรับที่เกิดขึ้นนั้นทำให้นาลินีเซอร์ไพรส์อยู่ไม่น้อยเลย เพราะหลังจากที่เธอ say yes ช่วยเหลือลูกสาวของเธอด้วยการยอมไปพูดคุยกับคุณแม่เพื่อนสาวอินเดียให้ เดวี่ก็ดีใจมาก และรีบเขาโผกอดเธอทันทีพร้อมบอกเธอด้วยว่า “แม่เป็นแม่ที่เจ๋งที่สุดที่เคยมีมาเลย” ซึ่งนั่นก็ทำให้นาลินีแอบอมยิ้มอย่างมีความสุขอยู่ไม่น้อย และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับลูกสาวเดวี่ก็ค่อย ๆ ดีขึ้นมาเรื่อย ๆ เธอเริ่มเปิดใจให้กับลูกสาวมากขึ้น เริ่มรับฟัง และเคารพในการตัดสินใจของเดวี่มากขึ้น และแม้บางเรื่องเธอก็ยังจำเป็นเข้มงวดกับลูกสาวอยู่บ้าง (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอยู่กับผู้ชายในบ้านสองต่อสองที่ต้องเปิดประตูค้างไว้ หรือเรื่องการรับประทานแอลกอฮออล์) แต่เดวี่ก็ดูเข้าใจและเชื่อฟังนาลินีมากขึ้น ถึงแม้ว่าบางเรื่องเธอจะทนความอยากไม่ไหวจนต้องหาวิธีหนีแม่เธอออกไปสนุกตามประสาความแสบของเธอก็ตาม
#ในฐานะพ่อแม่ เราได้เรียนรู้อะไรจากซีรี่ส์เรื่องนี้
จากคำแนะนำของคุณหมอคริส เราจะเห็นได้ว่าบางที “การที่เราเข้าไปช่วยเหลือลูกในยามที่เขาต้องการเรา” ก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งวิธีของการมอบความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขที่สามารถทำให้ลูกของเรามีความสุขและช่วยส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกดีขึ้นได้เหมือนกัน
เพราะบางที เวลาลูกมาขอความช่วยเหลืออะไรจากเรา เชื่อว่าพวกเราชาวผู้ปกครองมักจะรีบเข้าไปถามไถ่ถึงเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยความเป็นห่วงก่อน และเมื่อเราทราบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยความที่เราเป็นห่วงมาก ๆ บวกกับด้วยความที่เราเป็นผู้รับผิดชอบการเลี้ยงดูของเด็ก มันก็เลยอาจทำให้เรากังวล ตกใจ จนอาจเผลอดุ พูดตำหนิ หรือรีบตักเตือนสั่งสอนลูกอย่างรวดเร็วตามสัญชาตญาณ ซึ่งสำหรับเด็ก ๆ หากเขาได้ยินคำพูดเหล่านั้น มันก็อาจทำให้เขากลัว ทำให้เขารู้สึกผิด หรือหากเจอบ่อย ๆ เขาก็อาจรู้สึกไม่ดีกับตนเองมาก ๆ หรืออาจรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ไว้ใจเขา ทำให้สุดท้ายเขาไม่กล้าพูดกับเราอีกในอนาคตและเลือกจัดการปัญหานั้นด้วยตนเอง (ซึ่งนั่นก็ยิ่งเป็นความเสี่ยงต่อตัวเด็กมากขึ้นไปอีก!) หรืออาจจะแสดงพฤติกรรมต่อต้านออกมาและอาจพูดตบท้ายด้วยประโยคคลาสสิกอย่างที่ว่า ‘พ่อแม่ไม่เคยเข้าใจหรอก’ ก่อนที่จะจบกันพูดคุยกับเราไปท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก
วิธีการนี้เลยอาจะเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่ทำให้เด็กสามารถรับรู้ได้ว่าผู้ปกครอง #เข้าใจในตัวเขา และพร้อมอยู่ข้าง ๆ เขาไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม (ที่ไม่ได้แปลว่าต้องสนับสนุนทุก ๆ การกระทำของลูก) ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว เราเชื่อว่ามันก็คือสิ่งที่เราต้องการสื่อสารให้ลูกได้รับรู้เช่นกันนั่นแหละ
และเพราะบางทีเราก็ #ไม่เข้าใจลูกจริง ๆ นั่นแหละ ฉะนั้น การที่สุดท้ายเขามาขอความช่วยเหลือจากเรา มันก็คงแปลว่าลูกเราคงมีปัญหาหนักมากจริง ๆ เหมือนเวลาที่เราเห็นเพื่อนหรือญาติพี่น้องที่เข้ามาขอความช่วยเหลือจากเรา ที่เมื่อเรารู้ว่าเขามีปัญหา เราก็คงเข้าไปช่วยเหลือเขาเหมือนกันโดยที่ไม่ต้องถามให้มากความตามกำลังที่เรามี เพราะการที่เราเห็นคนที่เรารักกำลังทุกข์ทรมาน มันก็คงสร้างความสะเทือนใจให้เราไม่น้อย
และยิ่งมันเกิดขึ้นกับลูกสุดที่รักของเรา....ทำไมเราถึงจะไม่รีบเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาเหมือนที่เราเข้าไปช่วยเหลือพวกเหล่านั้นล่ะ? ????
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเราก็มองว่าการเข้าไปช่วยเหลือเขาในเรื่องที่อาจสร้างอันตรายต่อตัวเขา ไม่ว่าจะเป็น การยืมเงินไปเล่นเกม หรือการช่วยทำการบ้าน ก็ยังถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอยู่ดี ซึ่งเราสามารถที่จะสร้างขอบเขต อธิบาย หรือก็สามารดุเพื่อปรับพฤติกรรมของลูกได้เช่นกัน แต่จะดุอย่างไรเพื่อไม่ทำให้เขารู้สึกแย่กับตัวเอง หรือไม่ทำให้เขาเป็นคนมี low self-esteem เราสามารถใช้วิธี ‘การตำหนิแต่ตัวพฤติกรรม’ แทนการตำหนิตัวลูกแบบเหมารวมได้ ซึ่งการตำหนิแต่ตัวพฤติกรรมลูกทำอย่างไร สามารถเข้ามาเรียนรู้กันต่อได้ฟรีที่ www.netpama.com นะคะ
บทความโดย คุณนายข้าวกล่อง