เมื่อลูกถูกคุณครูตี หรือทำโทษเกินกว่าเหตุ
เพื่อนมาปรึกษาว่า ลูกชายวัยอนุบาล 5 ขวบ เช้าไปโรงเรียนร้องไห้เป็นประจำ จนมาคืนหนึ่งเข้านอนสักพัก จู่ ๆ ลูกก็ร้องให้ อ้อนวอนขอแม่ไม่ไปโรงเรียนหนักมาก บอกแค่หนูอยากอยู่กับแม่
ถามไปถามมาว่า ได้ความว่า “คุณครูให้เขียนตัวหนังสือในห้อง ลูกเขียนไม่สวยจึงถูกครูตวาด สั่งให้ลบเขียนใหม่ เขียนใหม่แล้วครูก็บอกว่า ช้าและยังไม่สวย ครูเลยตีมาที่มือแรงๆ 1 -2 ที "
เมื่อเด็กทำผิดพลาดเป็นเรื่องถูกต้องที่คุณครูจะสอนหรือห้ามปรามเด็กได้ตามความเหมาะสม คุณครูที่มีความรู้และความเข้าใจธรรมชาติของเด็กตามวัย จะเลือกใช้วิธีในการสอนและลงโทษเด็กแต่ละวัยได้อย่างถูกต้อง
การดุจนเกินความพอดี ความรุนแรงทางวาจา หรือการตีของคุณครูไม่ได้ช่วยในการเรียนรู้
ตรงกันข้ามจะทำให้ลูกยิ่งกลัว กังวล และหมดความมั่นใจ ทำให้ลูกยิ่งไม่อยากไปโรงเรียน
อาการที่มักจะเกิดกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กเมื่อมีความวิตกกังวลและไม่อยากไปโรงเรียน คือ มักจะหงุดหงิดร้องไห้บ่อยๆ โดยเฉพาะในคืนที่ต้องไปโรงเรียนหลังวันหยุด นอนร้องไห้กลางดึก มักมีอาการปวดหัว ปวดท้องเป็นประจำโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือร้องไห้อย่างหนักเมื่อไปส่งที่โรงเรียน
หากลูกเล่าว่า ถูกครูทำโทษจนไม่อยากไปโรงเรียน เป็นความรู้สึกที่หนักหนาในใจลูก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ
ขอให้เรารับฟังลูกอย่างตั้งใจ โอบกอดความรู้สึกเขา อย่าต่อว่าซ้ำเติมว่าเป็นเพราะนิสัยและความผิดของลูก
ทำให้เขารับรู้ว่าโลกนี้ยังคงปลอดภัย พ่อและแม่พร้อมจะอยู่ข้างๆ เพื่อรับฟัง รักและเชื่อมั่นในตัวเขา และพร้อมที่ช่วยเหลือเขาเสมอ
“ลูกเล่าให้แม่ฟังได้ไหม ทำไมลูกไม่อยากไปโรงเรียน ถ้าแม่รู้สาเหตุ แม่จะช่วยหนูได้แน่นอน”
“แม่รู้ว่าหนูกลัวครูมากจริงๆ เล่าให้แม่ฟังชัดๆได้ไหม ว่าเกิดอะไรขึ้น ครูทำอะไรลูก แล้วลูกรู้สึกอย่างไร”
เมื่อรับรู้ปัญหาแล้ว ให้ยอมรับอารมณ์และความรู้สึกของลูก แล้วประเมินการทำโทษของคุณครูว่า เกินความเหมาะสมไปหรือไม่
อย่าเพิ่งตัดสินหรือต่อว่าคุณครูเพื่อเข้าข้างลูก แสดงให้ลูกรู้ว่า แม่เข้าใจเขา และแม่จะพูดคุยจัดการเรื่องนี้ร่วมกับคุณครูอย่างถูกต้องและเหมาะสมแน่นอน
“ลูกกลัวถูกครูดุและตี เพราะเขียนไม่สวยเลยไม่อยากไปเรียน แม่เข้าใจมากๆ แม่จะไปคุยกับคุณครูให้นะ“
ไม่ผิดเลยหากแม่จะโกรธ แต่อย่าด่วนใช้อารมณ์พิมพ์พฤติกรรมต่างๆ ของคุณครูตามคำบอกเล่าของลูกทันทีลง line กลุ่มห้องเรียน เพราะอาจเกิดความเข้าใจผิด ทำให้เรื่องยิ่งลุกลามบานปลาย
เริ่มต้นด้วยการจัดการใจ อารมณ์และความรู้สึกของแม่ให้พร้อมก่อนการพูดคุยกับคุณครู ในการแก้ไขปัญหาจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขให้ถูกจุด
ขอเข้าพบคุณครูเพื่อพูดคุยด้วยท่าทีเป็นมิตร สงบและมั่นคงแสดงให้คุณครูรับรู้ว่า #ทางพ่อแม่เองก็พร้อมที่จะรับฟังข้อเท็จจริงและความรู้สึกจากทางคุณครูเช่นเดียวกัน
…อาจเริ่มด้วยการขอบคุณคุณครูที่ช่วยดูแลลูก
…เล่าในสิ่งที่เราได้รับฟังจากลูก ไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก
… แม่เข้าใจว่าอาจมีความคลาดเคลื่อน จึงอยากฟังรายละเอียดและข้อเท็จจริงจากทางคุณครูเช่นเดียวกัน
…เมื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจตรงกัน จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้
รับฟังคุณครูอย่างเปิดใจ เพื่อให้รู้สาเหตุของปัญหา และยอมรับหากพบว่า ลูกเรามีความผิดหรือมีข้อควรปรับปรุง
แสดงเจตนาที่ชัดเจนกับคุณครูว่า …
พ่อแม่พร้อมจะร่วมมือกับทางคุณครู เพื่อหาทางแก้ไขและแก้ปัญหาของลูกร่วมกันในทางที่ถูกต้อง
แต่เรา ไม่เห็นด้วยกับการตี ความรุนแรงทางวาจา หรือการทำโทษที่เกินความเหมาะสม
ขอบคุณคุณครู ใส่ใจสละเวลาพูดคุยกับเรื่องของลูกและแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่ได้ตกลงกัน
ติดตามผลอย่างใกล้ชิด ว่าสถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ โดยสอบถามหรืออาจจะสังเกตจากพฤติกรรมและอารมณ์ของลูก
ไม่เพิกเฉย หากทางคุณครูไม่มีการปรับปรุง ยังคงใช้ความรุนแรงทั้งวาจาและการกระทำที่เกินความพอดี
การรายงานผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป หรือพิจารณาทางแก้อื่น เช่น ย้ายห้อง หรือย้ายโรงเรียน อาจเป็นทางเลือกสุดท้ายตามความเหมาะสมอีกครั้ง
ทุกความหวังดีที่พ่อแม่และคุณครูมีให้แก่เด็กตัวน้อย ๆ ในวันนี้ หากใช้การสื่อสารที่ดีและวิธีที่ถูกต้องจะสัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอนค่ะ
สำหรับ #คุณพ่อคุณแม่ หรือ #คุณครู ท่านใดที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กให้ถูกต้องเหมาะสม สามารถศึกษาเพิ่มเติมในคอร์สจัดเต็มของ netpama ที่ www.netpama.com ซึ่งแบ่งการเรียนเป็นบทเรียนย่อย ให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ดังนี้
บทที่1 ปัจจัยพื้นฐานในการปรับพฤติกรรม
บทที่2 ทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร
บทที่3 เทคนิคการชม
บทที่4 เทคนิคการให้รางวัล
บทที่5 เทคนิคการลงโทษ
บทที่6 เทคนิคการทำตารางให้คะแนน
ในแต่ละบทจะมีทั้งคลิป ละคร ตัวอย่างคำพูด มีแบบฝึกหัดให้ลองทำ เข้าใจง่ายเอาไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน รับรองว่าได้ผลแน่นอนค่ะ ♥️
บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์