window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

ขอบเขตในครอบครัว (Boundaries) หมายถึงอะไร?

เมื่อ 11 เดือนที่แล้ว

          หากเราพูดถึงการเลี้ยงลูก นอกจากจะหมายถึงการคอยดูแลเด็กน้อยของเราทั้งร่างกายและจิตใจ หรือคอยหมั่นเอาใจใส่และมอบความรัก อีกหนึ่งสิ่งที่ถือว่าเป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่อย่างเรา ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องเป็นผู้สั่งสอน ผู้ให้ความรู้บางสิ่งบางอย่างที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตแก่ลูกเรา เพื่อทำให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้เช่นกัน


และในฐานะของคนที่เชื่อในศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวก หนึ่งสิ่งที่เรามองว่าสำคัญ และเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรสอนเด็กมาก ๆ นั่นก็คือเรื่องของ ‘ขอบเขต (Boundaries)’ เพราะเรื่องนี้เป็นฐานสำคัญของการทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งสามารถส่งเสริมและช่วยพัฒนาในเรื่องของการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมในตัวเด็กต่อไป ซึ่งขอบเขตในที่นี้จะหมายถึงอะไรนั้น ติดตามกันต่อได้เลย!


         ซาลวาดอร์ มินุชชิน (Salvador Minuchin) และเจย์ แฮลเลย์ (Jay Haley) นักจิตวิทยาเจ้าของการบำบัดครอบครัวเชิงโครงสร้าง (Structural Family Therapy) ได้อธิบายว่าขอบเขต หรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Boundaries นี้ หมายถึงขอบเขตพื้นที่ส่วนตัวของบุคคลในครอบครัว อันมีพื้นฐานมาจากแบ่งสันปันส่วนบทบาท อำนาจ และหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว เป็นเหมือนกับกฎที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าควรจะเข้าหาอีกฝ่ายอย่างไร อ้างอิงจากการบทบาท อำนาจ และหน้าที่ที่แต่ละฝ่ายได้รับเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์กับแต่ละคนในครอบครัว โดยขอบเขตนี้สามารถมีความแตกต่างกันได้จากความแตกต่างทางอายุ วัฒนธรรม รวมไปถึงความแตกต่างของบุคคลในด้านอื่น ๆ และมักจะมีรากฐานมาจากความคาดหวัง


โดยขอบเขตในครอบครัวอ้างอิงจากการบำบัดครอบครัวเชิงโครงสร้างนี้มีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่


  1. ขอบเขตที่ชัดเจน (Clear Boundaries) หมายถึง แต่ละคนในครอบครัวรู้ซึ้งถึงขอบเขตหรือพื้นที่ของตนเองอย่างชัดเจนเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับใครคนหนึ่งในครอบครัว โดยขอบเขตนี้มีความเป็นอิสระ ความแข็งแรงมากพอที่จะสามารถแยกแยะออกจากกันได้ และส่งผลทำให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่ดี นั่นคือแต่ละสมาชิกในครอบครัวกล้าที่จะสื่อสารต่อกัน สามารถแสดงความคิดเห็นและเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยที่ยังคงอยู่ในพื้นฐานของความสามัคคีและความปรองดองต่อกัน

  1. ขอบเขตที่เข้มงวด (Rigid Boundaries) หมายถึง แต่ละคนในครอบครัวมีขอบเขตหรือพื้นที่ของตัวเองที่ชัดเจนจนเกินไป จนทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวแย่ นั่นคือแต่ละคนไม่กล้าเข้าไปก้าวก่ายหรือยุ่งเกี่ยวในพื้นที่หรือขอบเขตของแต่ละคน โดยครอบครัวที่มีขอบเขตแบบนี้มักจะใช้อำนาจ ไร้ซึ้งความยืดหยุ่นหรือการประนีประนอม ส่งผลทำให้คนในครอบครัวอาจเลือกแยกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองมากกว่า

  1. ขอบเขตที่กระจัดกระจาย (Diffuse Boundaries) หมายถึง แต่ละคนในครอบครัวมีขอบเขตหรือพื้นที่ของตัวเองที่ไม่ชัดเจนจนหาพื้นที่ของตัวเองได้ยากเพราะถูกกลืนกินและหลอมรวมไปกับพื้นที่คนอื่น ๆ หมด จนทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวแย่ ทำให้เกิดการพึ่งพิงในครอบครัวที่มากจนเกินไป (ความสัมพันธ์อารมณ์ว่า เหมือนทุกคนรู้เรื่องของแต่ละคนหมดเปลือก ทั้งที่บางเรื่องอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้)

ซึ่งจากการลองอ่านรูปแบบของขอบเขตทั้งสามนี้ เชื่อว่าผู้ปกครองหลายคนคงเดาได้ไม่ยาก ว่าการมีขอบเขตที่ชัดเจน (Clear Boundaries) ดูจะเป็นขอบเขตที่สร้างผลดีต่อครอบครัวที่สุดหากเทียบกับอีกสองประเภท คือ ครอบครัวควรมีขอบเขตของตัวเองที่ชัดเจนเป็นอิสระจากกัน ทำให้ต่างฝ่ายรู้ว่าควรจะปฏิบัติหรือเข้าหาอีกฝ่ายอย่างไร ส่งผลทำให้เกิดการยอมรับความเป็นตัวตนของอีกฝ่าย และทำให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน 


แล้วเราสามารถสร้างขอบเขตที่ชัดเจน นี้ได้อย่างไรบ้าง? (ในมุมมองของคุณนายข้าวกล่อง)


สำหรับครอบครัวที่รู้สึกว่าตนเองมีขอบเขตที่เข้มงวดเกินไป หรือมีพื้นที่ของตัวเองที่ชัดเจนจนเกินไป สิ่งที่สามารถทำได้นั่นก็คือ เจือจางเส้นแบ่งหรือพื้นที่ลงมาบ้าง ด้วยการสร้างความร่วมมือกันระหว่างคนในครอบครัวมากขึ้น (engagement) ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยการพยายามหากิจกรรมทำร่วมกัน หรือเพิ่มการสื่อสารหรือพูดคุยระหว่างกัน หาเวลามาอยู่ร่วมกันมากขึ้น


และสำหรับครอบครัวที่รู้สึกว่าตนเองมีขอบเขตที่กระจัดกระจายเกินไป หรือหาพื้นที่ของตัวเองได้ลำบาก แยกแยะออกจากคนอื่นไม่ได้เพราะถูกกลืนและหลอมรวมไปกับพื้นที่คนอื่น ๆ หมด สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือ การเพิ่มรั้ว สร้างขอบเขตใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในเชิงของมิติบทบาท อำนาจ และหน้าที่ที่ชัดเจน รวมไปถึงลดการเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนตัวให้แต่ละคนมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้วการสร้างขอบเขตที่ชัดเจนนี้ สามารถทำได้ด้วยหลักจิตวิทยาเชิงบวกง่าย ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสร้างสัมพันธภาพที่ดีจากการพูดถึงจุดแข็ง (strength) ไม่ว่าจะเป็นจุดแข็งของแต่ละคนในครอบครัวและถึงจุดแข็งของทั้งครอบครัวเอง หรือการใช้การรับฟังอย่างตั้งใจ ทักษะต่าง ๆ การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (empathy) การมอบความรักอย่างไร้เงื่อนไข หรือการแสดงออกถึงความซื่อตรงและจริงใจ ควบคู่ไปกับการสร้างกฎและหน้าที่ของแต่ละบุคคลในครอบครัวให้ชัดเจนในรูปแบบที่สอดคล้องไปกับความเป็นจริงและทุก ๆ คนในครอบครัวต่างยอมรับ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการสื่อสารพูดคุยกันในครอบครัว รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน บางทีอาจสามารถตั้งคำถามหรือคำนึงถึงตัวกฎของครอบครัวที่มีอยู่ด้วยได้ เพราะบางทีกฎครอบครัวเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น บางอย่างนั้นเลยอาจล้าสมัยเกินกว่าที่จะนำมาใช้ในยุคปัจจุบัน ทำให้เป็นจุดฉนวนของปัญหาครอบครัวที่ส่งผลต่อการสร้างขอบเขตได้เช่นกัน


และหากผู้ปกครองท่านใดสนใจทักษะเกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงบวกเพิ่มเติม สามารถมาศึกษากันต่อได้เลยที่ www.netpama.com


บทความโดย: คุณนายข้าวกล่อง



ที่มา
ภาสกร คุ้มศิริ, นฤมล พระใหญ่, นันท์ชัตสัณห์ สกุลพงศ์ และ สิทธิพร ครา มา นนท์. (2020). การบำบัด ครอบครัวเชิงโครงสร้างและจิตวิทยาเชิงบวก. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ราชภัฏ ธนบุรี, 3(2), 49-65.
Finney, N., & Tadros, E. (2019). Integration of Structural Family Therapy and Dialectical Behavior Therapy With High-Conflict Couples. The Family Journal, 27(1), 31–36. https://doi.org/10.1177/1066480718803344
Vetere, A. (2001). Structural family therapy. Child Psychology and Psychiatry Review, 6(3), 133-139.

 

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa