window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

ความเครียดจากการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ มีความเกี่ยวข้องต่อการการเกิดปัญหาพฤติกรรมของเด็กอนุบาลจริง?

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ความเครียดจากการเลี้ยงลูกของพ่อแม่
มีความเกี่ยวข้องต่อการการเกิดปัญหาพฤติกรรมของเด็กอนุบาลจริง ?


ชาวผู้ปกครองโปรดระวังความเครียดของเราให้ดี! งานวิจัยจิตวิทยาอเมริกาเผย ความเครียดจากการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ มีความเกี่ยวข้องต่อการการเกิดปัญหาพฤติกรรมของเด็กอนุบาลจริง


‘การเลี้ยงลูกเป็นงานที่ยิ่งใหญ่’ – ประโยคนี้คงเป็นสิ่งไม่เกินจริงสำหรับพวกเราชาวผู้ปกครองอย่างเราหลาย ๆ คน โดยเฉพาะกับการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ตั้งแต่วัยทารก วัยที่เริ่มเดิน เริ่มพูดได้ ไปจนถึงวัยที่เริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาลครั้งแรก ที่เชื่อว่าพ่อแม่อย่างเราและลูก ๆ ก็คงจะต้องเจอกับการปรับตัวใหม่ ๆ เยอะไม่ใช่น้อย และสำหรับผู้ปกครองบางท่านที่ก็ยังคงต้องทำมาหากิน สร้างรายได้ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่นี้อีก มันก็คงไม่แปลกเลยที่จะทำให้เรารู้สึกเหนื่อย เครียด หงุดหงิด และกังวล


และเพราะความเครียดนี้ดูเป็นสิ่งปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุก ๆ วัน ประกอบกับด้วยความเชื่อว่า ‘ลูกต้องมาก่อนเสมอ’ (เพราะเรารักและเป็นห่วงลูกมาก ๆ!) ความเครียดของเราก้อนนี้เลยมักกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามไป กลายเป็นสิ่งเรามักลืมใส่ใจกับมัน เพราะมีสิ่งอื่น ๆ รอบตัวที่สำคัญกว่าเจ้าสิ่งนี้มากมายนัก


แต่หารู้ไม่! งานวิจัยล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาฯ ที่ผ่านมาของ Anna Cecilia McWhirter และคณะ จากมหาวิทยาลัยออริกอน (University of Oregon) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พบว่าความเครียดของผู้เลี้ยงดูลูก (parenting stress) นั้น มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดปัญหาพฤติกรรมในเด็กวัยอนุบาล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพฤติกรรมจากการอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน หรือเป็นปัญหาพฤติกรรมที่พบในโรงเรียนจากการรายงานของคุณครูก็ตาม แถมงานวิจัยยังพบด้วยว่า รูปแบบของการเลี้ยงดูลูก (parenting styles) ก็ดูจะมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพบปัญหาพฤติกรรมในเด็กที่มากน้อยแตกต่างกันด้วย


ทำความรู้จักรูปแบบการเลี้ยงลูก (parenting styles)

ไดอานา บลูมเบิร์ก บอมรินด์ (Diana Blumberg Baumrind) นักจิตวิทยาคลินิกผู้คิดค้นรูปแบบการเลี้ยงลูก (parenting styles) ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเด็กและการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่มากว่า 20 ปี โดยหลังจากที่เธอได้สังเกตพฤติกรรมเด็กก่อนวัยเรียนที่โรงเรียนและบ้าน และได้สัมภาษณ์ผู้ปกครองและสังเกตปฏิสัมพันธ์ของผู้ปกครองกับเด็กที่บ้าน ท้ายที่สุดเธอและนักวิจัยอีกสองท่าน เอเลนอร์ แมคโคบี (Eleanor Maccoby) กับจอห์น มาร์ติน (John Martin) ก็ได้จำแนกรูปแบบการเลี้ยงดูออกมาเป็นออกเป็น 4 ประเภทหลัก ตามปัจจัยสองตัวที่พวกเขาเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องต่อการเลี้ยงลูก นั่นคือการควบคุมของพ่อแม่ (Controlling) และการตอบสนองความรู้สึกลูกของพ่อแม่ (response) ได้แก่


  1. การเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่ (Authoritative) – เป็นการเลี้ยงลูกแบบที่พ่อแม่มีการควบคุม มีการสร้างกฎและปฏิบัติตามกฎในครอบครัวอย่างเคร่งครัด แต่ก็มีการตอบสนองความรู้สึกลูกอย่างอบอุ่นและเข้าอกเข้าใจ โดยมักจะเน้นการอธิบาย พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผลในเรื่องกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างนุ่มนวลและอบอุ่นกับลูก เป็นผู้เลี้ยงดูที่เน้นในเรื่องกฎแต่ก็รับฟังความคิดเห็นของลูกด้วย ซึ่งการเลี้ยงลูกแบบนี้ไดอานาเชื่อว่าเป็นการเลี้ยงลูกที่ให้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด เพราะทำให้เด็กมีวินัย สามารถควบคุมตัวเองได้ รวมถึงมีการจัดการปัญหาและการปรับตัวที่ดีด้วย

  1. การเลี้ยงลูกแบบควบคุม (Authoritarian) – เป็นการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่เน้นการควบคุมลูกอย่างเดียวแต่ไม่ได้ตอบสนองความรู้สึกลูกด้วยความอบอุ่นและอ่อนโยนมากพอ มักคิดว่าลูกจะต้องทำตามกฎอย่างเดียวเท่านั้น และจะลงโทษหากลูกกระทำผิดกฎโดยไม่ได้มีการรับฟังหรืออธิบายเรื่องกฎเกณฑ์กับลูกเท่าไหร่ ผู้ปกครองมักรับรู้ว่าการกระทำของลูกเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจทำเพื่อทำให้พวกเรารู้สึกรำคาญ ส่งผลให้ยิ่งมีความคิดว่าควรบีบบังคับลูกมากขึ้น โดยการเลี้ยงลูกแบบนี้ส่งผลต่อการปรับตัว ทำให้ปรับตัวไม่ได้หรือยากลำบาก

  1. การเลี้ยงดูแบบสปอยล์ (Permissive) - เป็นการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ตอบสนองความรู้สึกลูกด้วยความอุบอุ่นมากแต่ไม่ได้เน้นเรื่องการควบคุมหรือกฎเกณฑ์ของครอบครัวมากเพียงพอ มักจะปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง หรือทำสิ่งที่อยากทำมากจนเกินไป เพราะผู้ปกครองไม่ค่อยอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกสักเท่าไหร่ ทำให้เด็กมี self-esteem (ความมั่นใจในตนเอง) ต่ำเพราะเด็กไม่รู้จักการควบคุมตนเองที่เหมาะสม ไม่ค่อยเคารพกฎและมีความเห็นแก่ตัว ทำให้อยู่ในสังคมอื่นได้ลำบาก

  1. การเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง (Uninvolved) – เป็นการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ไม่ตอบสนองความรู้สึกของลูกและไม่ควบคุมกำกับลูกเลย พ่อแม่จะเพิกเฉยต่อพฤติกรรมของเด็กและไม่ได้มีการสร้างกฎเกณฑ์อะไรกับลูกเลย เพราะบางทีพ่อแม่ไม่ได้มีเวลาดูแลเด็กมากพอจากการมีปัญหาหลายอย่างเข้ามาในชีวิต บวกกับไม่ได้มีสกิลการจัดการตนเองที่ดีเท่าไหร่ และมักจะลงโทษลูกอย่างเดียวเพื่อฝึกวินัย

ความเครียดจากการเลี้ยงลูก ปัญหาพฤติกรรม และ รูปแบบการเลี้ยงลูก

จากการจัดกลุ่มรูปแบบการเลี้ยงลูกด้วยการวัดระดับการควบคุมลูกจากการเซตกฎเกณฑ์ (limit-setting) และการดูแลการใช้ชีวิตประจำวันของลูก (monitoring) และวัดระดับการตอบสนองความรู้สึกลูกด้วยการเลี้ยงดูด้วยความอบอุ่น (parenting warmth) และการชื่นชมประกอบกับการให้รางวัล (positive parenting) จากการทำแบบสอบถามของพ่อแม่ ประกอบข้อมูลผลการรายงานปัญหาพฤติกรรมเด็กจากพ่อแม่และคุณครู รวมถึงข้อมูลจากการวัดความเครียดจากการเลี้ยงลูก (parenting stress) ของกลุ่มตัวอย่างครอบครัวเด็กอนุบาลอายุโดยเฉลี่ย 5 ขวบกว่าจำนวน 321 ครอบครัว ผลงานวิจัยพบว่า รูปแบบของการเลี้ยงลูก มีความสัมพันธ์ต่อระดับความเครียดจากการเลี้ยงลูกและปัญหาพฤติกรรมเด็กจากการรายงานของพ่อแม่และคุณครูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบว่า....


  • พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่ มีความเครียดน้อยที่สุด หากเทียบกับพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกรูปแบบอื่น
  • พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบทอดทิ้ง รายงานว่าลูกมีปัญหาพฤติกรรมมากที่สุด
  • คุณครูรายงานว่าลูกที่มาจากการเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง มีปัญหาพฤติกรรมมากกว่าลูกที่มาจากการเลี้ยงดูแบบสปอยล์และแบบเอาใจใส่ แต่ไม่ได้มีความแตกต่างกับลูกที่มากการเลี้ยงดูแบบควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการเลี้ยงลูกกับการรายงานปัญหาพฤติกรรมจากคุณครู (จนกลายเป็นไฮไลท์ของงานวิจัยนี้สำหรับเรา) งานวิจัยพบว่า ความเครียดจากการเลี้ยงลูกนั้นมีอิทธิพลต่อทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองด้วย โดยพบว่า ยิ่งพ่อแม่มีเครียดเรื่องการเลี้ยงลูกมากเท่าไหร่ คุณครูดูจะรายงานปัญหาพฤติกรรมของเด็กมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกับพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบทอดทิ้งด้วยแล้ว ผลงานวิจัยพบว่าคุณครูยิ่งพบปัญหาพฤติกรรมในเด็กกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษเมื่อพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกประเภทนี้มีความเครียดมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยก็ได้อภิปรายเพิ่มด้วยว่า ความเครียดจากการเลี้ยงลูกดูเหมือนจะผลักดันทำให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูกในรูปแบบที่ส่งผลเสียต่อเด็กมากขึ้น และนอกจากนี้ยังมองว่าเด็กที่คุณครูมองว่ามีปัญหาพฤติกรรม ก็ดูเป็นไปได้ว่าจะเป็นลูกที่มาจากกลุ่มพ่อแม่ที่มีความเครียดสูง และขาดทักษะการเลี้ยงลูกได้ด้วยเช่นกัน


โดย Anna และคณะมองว่าสาเหตุของความเครียดที่มาจากการเลี้ยงลูกนั้นมาได้จากหลายส่วน ไม่ว่าจะมาจากความเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป จากปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจ จากรายได้การทำงาน รวมไปถึงจากเงื่อนไขบางอย่างของลูก เช่น ความพิการ อีกด้วย แม้ว่าคณะผู้วิจัยจะไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุของความเครียดเหล่านี้กับความเครียดจากการเลี้ยงลูกก็ตาม (เพราะตัวอย่างอาจน้อยเกินไป)


ในฐานะพ่อแม่ เราสามารถนำผลการวิจัยนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง 

(ในมุมมองของคุณนายข้าวกล่อง)


เนื่องจากความเครียดของเราส่งผลต่อการเกิดปัญหาพฤติกรรมของลูกได้จริง ๆ เพราะฉะนั้น บางทีหากเราดันเจอคุณครูมารายงานเกี่ยวกับปัญหาพฤติกรรมของลูกเรา นอกจากว่าเราจะลองสังเกตหรือสอบถามลูกเราแล้ว เราอาจจะลองหันกลับมาตรวจสอบตัวเราเองสักหน่อยก็ได้ว่า ‘ตอนนี้เราเครียดอะไรไหม?’ ซึ่งเราอาจจะลองตรวจสอความเครียดนี้ได้จากสาเหตุตามที่งานวิจัยเปรย ๆ ไว้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้การทำงาน เศรษฐกิจ หรือว่าตอนนี้ลูกเรามีปัญหาอะไรอยู่หรือเปล่าที่ทำใหเราต้องหนักใจ เพื่อว่ามันจะได้เป็นคำใบ้ ให้เรา ในการหาความเครียดและค่อย ๆ วางลงได้อย่างถูกจุดมากขึ้น


หรือบางทีเราอาจจะลองจับจากการเลี้ยงดูที่เปลี่ยนแปลงไปของเราก็ได้! อ้างอิงจากการสังเกตการณ์ควบคุมของเรากับการตอบสนองความรู้สึกลูกตามที่ไดอานาได้บอกไว้ ว่าเราควบคุมเขามากไปหรือเปล่า? หรือเราตอบสนองลูกด้วยความอบอุ่นที่น้อยลงไปไหม? เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะชี้ให้เห็นได้ว่าเราอาจกำลังเครียดอยู่ก็ได้ เลยทำให้ลูกเกิดปัญหาพฤติกรรมขึ้นมา


และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจที่งานวิจัยพูดถึงก็คือ การขาดทักษะการเลี้ยงลูก ก็ดูจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาพฤติกรรมในเด็กเช่นกัน เพราะฉะนั้น หากใครสนใจที่จะศึกษาะทักษะการเลี้ยงลูกเพิ่มเติม สามารถลองมาศึกษาฟรีได้เลยที่ www.netpama.com นะคะ ????


บทความโดย คุณนายข้าวกล่อง


ที่มา

ดุลยา จิตตะยโศธร. (2009). Diana Baumrind’s Parenting Styles. University of the Thai Chamber of Commerce Journal.

McWhirter, A. C., McIntyre, L. L., Kosty, D. B., & Stormshak, E. (2023). Parenting Styles, Family Characteristics, and Teacher-Reported Behavioral Outcomes in Kindergarten. Journal of Child and Family Studies, 32(3), 678-690.

https://www.cnbc.com/2021/06/29/child-psychologist-explains-4-types-of-parenting-and-how-to-tell-which-is-right-for-you.html

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa