พูดอย่างไรให้ลูกฟัง ฟังอย่างไรให้ลูกพูด
พูดอย่างไรให้ลูกฟัง ฟังอย่างไรให้ลูกพูด
ยิ่งลูกโตมากขึ้นเท่าไร เขายิ่งมาคุยหรือมาเล่าเรื่องให้เราฟังน้อยลง เวลาเราจะพูดหรือคุยอะไรก็ทำเป็นไม่อยากฟัง มันเป็นเรื่องปกติรึเปล่า แล้วเราควรทำยังไงดีถ้าอยากคุยกับลูก สิ่งที่ทำได้คือ พ่อแม่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เขา ค่อยรับฟังเขาอย่างแท้จริง โดยสามารถทำได้ดังนี้
ข้อที่ 1 ฟังอย่างตั้งใจ
หากพ่อแม่ไม่ได้ใส่ใจในการฟังลูก ทำเหมือนฟังแต่ความจริงแล้วไม่รับรู้เนื้อหาที่ลูกบอก จะส่งผลให้ลูกรู้สึกไม่ได้รับความสนใจและไม่อยากพูดคุยกับพ่อแม่ หากในตอนนั้นพ่อแม่ยังไม่ว่างฟังลูก แนะนำให้ใช้การสื่อสารให้เขาเข้าใจ เช่น
“ตอนนี้แม่กำลังยุ่งอยู่ เดี๋ยวแม่ขออีกสิบนาทีแล้วหนูค่อยมาเล่าให้แม่ฟังใหม่ได้ไหม”
นอกจากจะแสดงออกว่ารับรู้สิ่งที่ลูกต้องการแล้ว เรายังทำให้ลูกรู้จักการอดทนรอคอยสิ่งที่ต้องการ และที่สำคัญ เราต้องทำตามที่เราบอกกับลูกให้ได้เช่นกันนะคะ
ข้อที่ 2 ฟังเรื่องราวของลูกให้จบก่อนแล้วค่อยสอน
เวลาฟังเรื่องเล่าจากลูกพ่อแม่มักเกิดความคาดหวังที่จะสอนสิ่งที่ถูกต้องหรือที่ตรงใจตัวเองให้กับลูก ในขณะที่ลูกกำลังสื่อสาร การทำเช่นนี้จะทำให้ลูกไม่อยากเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง เพราะไม่รู้สึกว่าถูกรับฟังจริง ๆ พูดเรื่องอะไรไป ก็จะถูกสอนตลอด ทั้งที่บางครั้งลูกแค่ต้องการเล่าให้ฟังเท่านั้นเอง
ในตอนที่ลูกพูด ควรจะรับฟังเรื่องราวของเขาและสะท้อนอารมณ์เขาในตอนนั้นออกไป เพื่อให้เขารับรู้ว่า พ่อแม่ฟังเขาอยู่และให้เราเห็นถึงทักษะและกระบวนการคิดของลูก หลังจากที่เขารู้สึกว่าถูกรับฟังแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงค่อยสอนหรือแนะนำ โดยควรสอนแบบไม่ใส่อารมณ์ ไม่ต่อว่าตัวตนของเขาแต่ให้เน้นไปที่พฤติกรรมที่เขาทำผิด และที่สำคัญคือไม่ควรซ้ำเติมข้อผิดพลาดของเขา
ข้อที่ 3 อย่าฟังแต่คำพูดให้ฟังลึกลงไปถึงความรู้สึกของลูก
เมื่อพ่อแม่ฟังได้ลึกลงไปถึงความรู้สึกของลูก รู้ว่าเขามีอารมณ์อะไรและเกิดอารมณ์นั้นเพราะอะไร จะส่งผลให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่มีความเข้าใจตนเองเกิดเป็นความรู้สึกอยากเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้พ่อแม่ได้ฟังต่อ ๆ ไป
(คุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสะท้อนอารมณ์ลูกได้ทาง คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า ได้ฟรี ทุกที่ ทุกเวลา)
อีกส่วนสำคัญที่จำเป็นต่อการทำ 3 ข้อที่ได้พูดถึงคือ การฟังอย่างไม่ตัดสิน รับฟังโดยไม่มีอคติ เปิดใจรับฟังและไม่ตัดสินสิ่งที่ลูกเล่า ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาให้ลูกเป็นบุคคลที่มีความกล้าตัดสินใจได้ด้วยตนเองและอยากเล่าเรื่องราวให้พ่อแม่ฟังมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ลูกรับฟังการสอนของพ่อแม่มากขึ้นเพราะรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจและเปิดใจรับฟังตนเอง
พัฒนาการของเด็ก แต่ละวัยก็ส่งผลต่อการสื่อสารหรือเล่าเรื่องราวของเขาเช่นกัน โดยวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่เริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงทำให้มีพัฒนาการที่พึ่งพาตนเองมากขึ้น อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าลูกไม่นำเอาเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าให้ตนเองฟังเหมือนช่วงเด็ก จึงแนะนำให้พ่อแม่ที่มีลูกในช่วงวัยรุ่นไม่เข้มงวดกับการอยากฟังเรื่องราวของลูกมากเกินไปแต่ให้เตรียมพร้อมรับฟังเสมอเมื่อเขาต้องการจะเล่า
นอกจากนั้นแนะนำให้พ่อแม่มีการพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล ทำข้อตกลงที่ยอมรับกันได้ทั้ง 2 ฝ่ายและชี้ให้เห็นผลลัพธ์ที่ตามมาหากลูกไม่ทำตามข้อตกลงเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาลูกเถียงหรือไม่รับฟัง ช่วยลดการต่อรองและการใช้อารมณ์ระหว่างกัน และการเลือกใช้ภาษาควรเหมาะสมกับพัฒนาการของลูก เด็กในวัย 2-3 ขวบมักพูดและเข้าใจคำได้สั้น ๆ พ่อแม่จึงควรเลือกใช้คำพูดที่สั้นให้ลูกสามารถโฟกัสได้ว่าพ่อแม่ต้องการใช้เขาทำอะไร หากลูกไม่สนใจให้ใช้การเลือกชื่อและตามด้วยคำสั่งสั้น ๆ ให้เขาเข้าใจง่าย
(หากอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการสร้างกฎกับลูก สามารถเรียนได้ที่ คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า ฟรี ไม่เสียค่าใช่จ่าย)