รักที่ไร้เงื่อนไข
รักที่ไร้เงื่อนไข
ความเข้าใจและการยอมรับของพ่อแม่ต่อทุกสภาวะของลูก
หลายเดือนก่อนน้าหมอได้เจอเด็กหญิงวัยรุ่นอายุ 14 ปีที่เคยมานอน รพ. ด้วยปัญหาการใช้สารเสพติดจนมีอาการหูแว่วและพฤติกรรมก้าวร้าว ครั้งก่อนที่เจอกัน เด็กหญิงยังอยู่ใน precontemplation stage คือระยะที่ยังไม่สนใจที่จะหยุดใช้สารเสพติด เป็นระยะที่ยังเห็นข้อดีของการใช้สารอยู่เยอะโดยที่ไม่เห็นผลเสีย ไม่คิดว่าการใช้สารเสพติดจะเป็นปัญหาอะไร กลับดีด้วยซ้ำเพราะได้เจอเพื่อนเยอะ
น้าหมอก็ได้แสดงความเป็นห่วงและให้ข้อมูลที่ถูกต้องของการใช้สารเสพติดและอาการผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังใช้สารและเชื่อมโยงให้เด็กหญิงเห็นว่า จริงๆแล้วการใช้สารเกิดผลเสียกับเธอแล้ว คือทำให้เกิดอาการทางจิต เด็กหญิงดูรับฟัง ไม่ต่อต้านหรือโต้แย้ง ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากมารพ. บ่อยๆ เธอเลยคิดว่าจะพยายามเลิกให้ได้
วันนี้ เด็กหญิงมาเจอมากับน้าหมอเป็นครั้งที่ 2 หลังออกจาก รพ. เธอมีสีหน้าแจ่มใสมากขึ้นและบอกว่าหยุดสารได้ 1 เดือนและแฟนที่เคยใช้สารด้วยกันก็หยุดด้วย น้าหมอฟังแล้วก็ชื่นชมและให้กำลังใจเด็กเพื่อให้การหยุดใช้สารเสพติดของเธอยังคงอยู่เป็นพฤติกรรมต่อเนื่อง
จากนั้นก็ได้คุยกับคุณแม่
คุณแม่คนนี้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเนื่องจากคุณพ่อเสียชีวิตไป 2-3 ปีก่อนจากอุบัติเหตุ เดิมทีเด็กสนิทกับพ่อมากกว่าแม่ เนื่องจากแม่ทำงานหนักจึงมีเวลาอยู่กับลูกน้อยกว่าพ่อ แต่เมื่อพ่อไม่อยู่แล้ว แม่ก็ต้องเข้ามาใกล้ชิดลูกมากขึ้น
สิ่งที่ทำให้น้าหมอทึ่ง และประทับใจในคุณแม่คนนี้คือ ความใจกว้าง ความเข้าใจและการยอมรับของคุณแม่ที่มีต่อตัวลูกสาว แม่ไม่กล่าวโทษหรือตำหนิลูกในเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว เช่น ทำไมใช้สารเสพติด ทำไมถึงเคยโมโหใส่แม่รุนแรง
จริงๆแล้วพฤติกรรมด้านลบที่เด็กๆทำไม่ถูกต้องพ่อแม่ต้องสอน แต่หากสอนด้วยอารมณ์หงุดหงิด โมโหหรือดึงเรื่องที่ผ่านไปแล้วมาพูดย้ำๆซ้ำๆ นอกจากจะยิ่งทำให้อารมณ์ไม่ดีมากขึ้นทั้งพ่อแม่และเด็กยังทำให้เสียสัมพันธภาพระหว่างกันอีกด้วย (ก็คือเรื่องจบ แต่อารมณ์ไม่จบ กลายเป็นฉายหนังซ้ำและทะเลาะกันซ้ำๆในเรื่องเดิม)
สิ่งที่แม่คนนี้ทำคือ พยายามจัดการปัญหาตามความเป็นจริง เช่น เด็กอยู่บ้านแฟนมากกว่าที่บ้านตัวเอง แม่ก็พยายามหา ข้อตกลงต่างๆ เช่น อยู่ได้วันไหนบ้าง ต้องกลับบ้านกี่โมง และต้องไม่ใช้สารเสพติดเวลาที่อยู่ด้วยกัน เมื่อตกลงกันไปแล้ว แม่ก็ไม่ตามจิก ใช้เหตุผล มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ซึ่งแม่บอกกับน้าหมอว่า วิธีนี้ได้ผลดี สาเหตุที่ได้ผลดีเพราะการทำแบบนี้ไม่เป็นการกระตุ้นอารมณ์เชิงลบระหว่างกัน เด็กหญิงยังได้มีอิสระในขอบเขตการดูแลของแม่ ไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิ์มากเกินไป ส่วนคุณแม่ก็ยังสามารถปรับพฤติกรรมและดูแลอย่างใกล้ชิดได้ เรียกว่าเป็นการพบกันครึ่งทาง
แม่บอกว่า ที่จริงแล้วการที่แม่ตัดสินใจทำแบบนี้ได้เพราะว่าลูกสาวพูดให้แม่คิดได้ว่า
“ทำไมแม่ถึงแคร์คนอื่นมากกว่าหนู”
ทำไมต้องแคร์สายตาคนรอบข้าง คำพูดคนรอบข้างที่มองลูกด้านลบซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆในครอบครัวของคนไข้ที่ใช้สารเสพติดไม่ว่าจะช่วงวัยไหนก็ตาม
คำพูดนี้ของลูกทำให้แม่คิดได้ว่า
“ใช่เลย ทำไมเราไม่แคร์สิ่งที่เป็นความสุขของลูก”
การที่คนอื่นมองลูกในด้านลบย่อมไม่เจ็บปวดเท่ากับผู้ปกครองของเด็กๆเองที่มองในแง่ลบไปด้วย เพราะช่วงเวลาที่เด็กทำพฤติกรรมด้านลบแบบสุดๆ นั่นก็คือเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือแบบสุดๆเช่นกัน
คุณแม่จึงเลือกที่จะไม่ใช้อารมณ์ (น้าหมอขอใช้คำว่าไม่ดราม่าใส่กัน แม่ก็หัวเราะ) แต่เลือกแก้ปัญหาด้วยเหตุผลและรับฟังลูก เมื่อแม่เปลี่ยน ลูกเปลี่ยน และแฟนลูกก็เปลี่ยน คือหยุดใช้สารไปพร้อมๆกัน ถึงแม้ยังเป็นความสำเร็จระยะสั้น (เพราะการรักษาคนไข้ติดสาร เราต้องติดตามกันไปยาวๆและเป็นภาวะที่เรื้อรัง) แต่เรื่องนี้ก็ทำให้น้าหมอได้เรียนรู้ว่า รักแบบไม่มีเงื่อนไขของแม่เป็นยังไง
น้าหมอชื่นชมแม่ไปว่า
‘ไม่ค่อยจะได้ฟังเรื่องเล่าแบบนี้จากครอบครัวคนไข้ติดสารเสพติดมาก่อนเลย ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะมีความคิดและอารมณ์ลบจากพฤติกรรมด้านลบของลูกซึ่งยังจัดการได้ยาก ทำให้ยังตัดสินลูกและเข้าใจลูกได้ยากแต่คุณแม่ใจกว้างมากที่ยอมรับในปัญหาของลูกได้และพยายามจัดการปัญหาได้อย่างดี’
คุณแม่ยิ้มแก้มปริ น้าหมอก็ยิ้ม เช่นกัน
เรื่องนี้ทำให้เห็นว่ารักที่ไม่มีเงื่อนไขแท้จริงแล้วเป็นแบบนี้ แม้ลูกจะทำสิ่งแม่ไม่ชอบมากๆ แม่ลำบากกับพฤติกรรมลูกมากๆ แต่ความรักที่ไร้เงื่อนไขของแม่เท่านั้นถึงจะพาลูกออกจากปัญหาทั้งหลายได้ เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนในการลดการตั้งเงื่อนไขในความรักกับลูกๆค่ะ
บทความโดย น้าหมอใบเฟิร์น
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านใดสนใจอยากฝึกฝนวิชาการสื่อสารกับลูกในเชิงบวก ก็อยากแนะนำให้ลองเรียน ฟรีๆกับ www.netpama.com นะคะ