ให้พื้นที่ความรู้สึกผิดได้ทำงาน
ให้พื้นที่ความรู้สึกผิดได้ทำงาน
ด.ช. ก อายุ 12 ปี คุณยายพามาหาน้าหมอด้วยปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายเพื่อนและคุณครูด้วยอาวุธมีด - ครั้งแรกที่น้าหมอเจอกับเด็กชายก. สีหน้า แววตาของเขานั้นมีแต่ความโกรธเกรี้ยวเพราะรู้ว่าจะต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาล ไม่มีใครชอบนอนโรงพยาบาล เด็กชายก็เช่นกัน
คุณยายซึ่งสูงอายุมากๆแล้ว เล่าให้ฟังว่า พ่อแม่ของเด็กชายนั้นแยกทางกันนานแล้วและตัวแม่เองก็มีประวัติเรื่องของการใช้สารเสพติด คุณยายเป็นคนเลี้ยงดูเขามาตลอดพร้อมกับพี่น้องอีก 3 คน
ในวัยเด็กเขาก็ดื้อซนบ้างแต่ยังอยู่ในขอบเขตที่คุณยายพอดูแลไหวแต่เริ่มจะมีปัญหาอ่าน เขียนไม่คล่องในช่วงชั้นเรียนประถม
จุดเปลี่ยนชีวิตของเด็กชาย ก. เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วเมื่อแม่ของเขามีแฟนใหม่และพาเขาไปอยู่ด้วย คุณยายบอกว่าเขาเริ่มก้าวร้าวมากขึ้นหลังจากอยู่กับแม่ได้ปีกว่าๆ ใช้คำพูดหยาบคายกับยาย ออกไปเล่นนอกบ้านบ่อยๆ ไม่กลับบ้าน ไม่เรียนออนไลน์ ไม่ส่งการบ้านคุณครู แต่ยังไม่ได้ทำร้ายคนหรือทำลายข้าวของ
“มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นตอนเด็กอยู่กับแม่เหรอคะยาย” น้าหมอสงสัย อะไรทำให้เด็กคนนึงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้มากขนาดนี้
“แม่กับพ่อเลี้ยงเขาเสพยาแล้วก็ตี เขาเคยบอกยายว่าโดนเอาเชือกมัดมือมัดเท้าถ้าดื้อมากๆ ยายรู้ข่าวแล้วก็เลยไปรับกลับมาอยู่ด้วย”
คุณยายเล่า น้ำเสียงเศร้า
“พอกลับมาเขาเหมือนคนละคนเลย โมโหร้าย ไม่ฟังยายเลย ยายก็ดูแลไม่ไหวเพราะต้องดูน้องเขาอีก 3 คน”
น้าหมอฟังแล้วเห็นใจคุณยายมากๆ อายุเยอะแต่ก็ย้งต้องทำงานหนัก รับจ้างทั่วไปเพื่อหางานเงินมาดูแลหลานๆ แค่ทำงานก็หมดเวลาและหมดแรงแล้ว การจะคอยควบคุมกำกับดูแลพฤติกรรมปัญหาของหลานชายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับคุณยายมากพอควร
“แล้วที่โรงเรียนเกิดอะไรขึ้นคะยาย เขาถึงทำร้ายเพื่อนและคุณครู” น้าหมอซักประวัติต่อ
“เขาเคยบอกยายว่าเพื่อนล้อว่าอ่านหนังสือไม่ออก โง่ ยายก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะยายก็ไม่รู้หนังสือ ยายก็สอนไม่ได้ ครั้งนี้ก็โดนล้ออีก แต่เขาเอามีดไปโรงเรียนด้วยก็เลยเกิดเรื่อง”
โชคดีที่คุณครูและผู้ปกครองของเด็กที่โดนทำร้ายไม่ได้ดำเนินคดีความ แต่ได้ส่งเด็กชายก. เข้าสู่กระบวนการรักษา อย่างน้อยโลกก็ยังใจดีกับครอบครัวนี้อยู่บ้าง
น้าหมอคุยกับยายจบแล้ว คราวนี้ถึงตาเด็กชายก.
“สวัสดีครับ หมอชื่อเวธนีนะ ก.รู้มั้ยครับว่าวันนี้ต้องมารพ.เพราะอะไร”
น้าหมอเปิดประเด็น
“ผมเป็นเด็กไม่ดี” เขาตอบน้ำเสียงห้วนๆ
“เด็กไม่ดีเป็นยังไงเหรอครับ”
“เอามีดแทงครูเพราะครูเขามาด่าตอนที่ผมจะต่อยเพื่อน” เด็กชายตอบห้วนๆเหมือนเดิมและหยุดนิ่งสักพัก “แต่เพื่อนล้อผมก่อน เขาบอกว่าผมโง่”
“แล้วตอนนี้ก.รู้สึกยังไงบ้างครับกับเรื่องนี้” น้าหมอถามต่อ
“ผมทำไม่ดี” เด็กชายตอบ
“ก.รู้สึกผิดใช่มั้ยครับ” น้าหมอสะท้อนความรู้สึกให้เด็กชาย ครั้งนี้เขาไม่ตอบกลับ แต่พยักหน้าเบาๆ น้าหมอแอบเห็นว่าเขาน้ำตาคลอ
“วันนี้ก.คงต้องนอนรพ.ก่อนนะครับ เดี๋ยวหมอจะเข้าไปคุยกับหนูอีกครั้งในตึก แล้วเราจะหาวิธีดูแลหนูกันนะ”
การกระทำของเด็กชายก. ในวันนี้คงทำให้คุณครูและเพื่อนๆมองเขาในแง่ลบ เพราะเขาเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นถึงแม้จะบอกว่าเขาถูกกระทำรุนแรงมาก่อนก็ไม่เหตุผลอันสมควรในการทำรุนแรงกับใคร
แต่ถ้าหากไม่มีความช่วยเหลือใดๆ ที่ส่งให้เด็กชาย ก.เลย ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือด้านการเรียนของเขา ไม่มีใครสอนเรื่องการจัดการอารมณ์โกรธของเขา ไม่มีใครสอนการแก้ปัญหาด้วยเหตุผลแทนความรุนแรง เขาก็อาจจะไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องเลยก็เป็นได้
น้าหมอเชื่อว่าหากเด็กชาย ก.ได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้องเหมาะสมและได้รับ ‘โอกาส’ ในการปรับปรุงตัวอีกครั้ง เขาคงสามารถใช้ชีวิตในสังคมและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นในอนาคตได้แน่นอน