ลูกมีความคิดไม่อยากอยู่ พ่อแม่จะช่วยได้อย่างไร
ลูกมีความคิดไม่อยากอยู่? ควรทำอย่างไรดี?
ช่วงนี้เราอาจจะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการจบชีวิตลงของเด็กวัยรุ่นกันมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสลดใจอย่างมากจริง ๆ
แต่ในขณะเดียวกัน จากข่าวสารที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่าผู้ปกครองหลายคนคงอยากรู้วิธีการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ (เพื่อไม่ให้มีใครต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้อีก!) วันนี้ เราเลยอยากจะมาแชร์ถึงแนวทางในการช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหานี้ เพื่อทำให้ลูกของเรามีสุขภาพจิตที่ดีและชีวิตที่ยืนยาวต่อไป
แต่ก่อนที่เราจะไปถึงการพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง ‘การฆ่าตัวตายในวัยรุ่น’ อ้างอิงจาก เรื่องเล่างานวิจัย กันก่อนดีกว่า
เข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น
โดยปกติแล้ว เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ร่างกายจะค่อย ๆ เริ่มเติบโต ฮอร์โมนต่าง ๆ จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ (puberty) ซึ่งในช่วงเวลานี้สมองส่วนการควบคุมอารมณ์และความคิดจะเริ่มพัฒนา ส่งผลทำให้วัยรุ่นมีอารมณ์อาจแปรปรวน วู่วามได้ง่าย
ผนวกกับช่วงนี้เด็กจะเริ่มพัฒนาการสร้างอัตลักษณ์ (identity) ทำให้ในช่วงนี้เขาจะสนใจในเรื่องของการสร้างตัวตน การค้นหาความเป็นตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองสูง
การฆ่าตัวตายในเด็กวัยรุ่นจึงมักเป็นลักษณะของการลงมือทำแบบหุนหันพันแล่น รวดเร็ว วู่วามกว่า แตกต่างจะการฆ่าตัวตายในวัยผู้ใหญ่
สาเหตุ หรือ ปัจจัย ที่กระตุ้นการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น
จริง ๆ แล้วปัจจัยการนำมาซึ่งการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นนั้นมีหลายอย่างและมีความเฉพาะเจาะจงต่อแต่ละบุคคลมาก ๆ แต่สามารถจำแนกออกเป็น 3 ปัจจัยคร่าว ๆ ได้ดังนี้
ปัจจัยด้านชีวภาพ – ปัจจัยส่วนนี้จะกล่าวถึงปัจจัยทางร่างกายต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม โดยมีงานวิจัยค้นพบว่าพฤติกรรมการฆ่าตัวตายนั้นมีความสัมพันธ์ต่อยีนที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของฮอร์โมนเซโรโทนินในร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ โดยมีความเกี่ยวข้องไปถึงระดับยีนซึ่งช่วยควบคุมให้เซลล์ในร่างกายสร้างฮอร์โมน ส่งผลทำให้บุคคลมีอารมณ์หุนหันพันแล่น ใช้ความรุนแรงต่อตนเองและผู้อื่นได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการค้นพบว่าโรคทางสุขภาพจิตบางชนิด เช่น โรคทางกลุ่มอารมณ์ (mood disorders) อย่างโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ และโรคทางสุขภาพจิตอย่างโรคจิตเภท หรือการใช้สารเสพติด สามารถส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมได้ ซึ่งโรคเหล่านี้พบว่ามีความเกี่ยวข้องต่อการเกิดพฤติกรรมฆ่าตัวตาย
ปัจจัยด้านจิตวิทยา – งานวิจัยพบว่าการรับรู้หรือการมีมุมมองต่อเหตุการณ์เชิงลบของวัยรุ่น เช่น การมีความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมกดดันจนไม่สามารถทำอะไรได้ รวมไปถึงการครุ่นคิด (Rumination) หมกมุ่นอยู่กับการคิดเรื่องราวต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความเครียดและความรู้สึกเชิงลบซ้ำ ๆ ส่งผลกระทบต่อการเกิดความตึงเครียดทางอารมณ์โดยตรง เช่น ความซึมเศร้า ความสิ้นหวัง และความวิตกกังวล และส่งผลต่อการเกิดพฤติกรรมฆ่าตัวตายสืบเนื่องต่อมา นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าบุคลิกภาพของวัยรุ่นที่มีลักษณะเป็นคนวู่วาม ก้าวร้าว รู้สึกโดดเดี่ยว หรือวิตกกังวลมาก ๆ นั้นมีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมฆ่าตัวตายด้วย รวมไปถึงอิทธิพลของโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะ โรคซึมเศร้า ก็ถือว่าสามารถกระตุ้นการเกิดพฤติกรรมด้วยเช่นกัน อ้างอิงจากงานวิจัยที่พบว่าวัยรุ่นที่มีโรคซึมเศร้ามักมีความคิดอยากตายได้มากกว่าการถูกกระตุ้นให้เกิดความคิดจากเหตุการณ์ในสังคมหรือสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยด้านสังคม – งานวิจัยพบว่าครอบครัว ความยากจน อิทธิพลของสื่อ สังคมเพื่อนและโรงเรียน ล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น โดยพบว่าการเลี้ยงดูแบบก้าวร้าว การได้รับความคาดหวังเรื่องการเรียนจากครอบครัว หรือการเคยเห็นผู้ปกครองทำพฤติกรรมฆ่าตัวตายมาก่อน ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมฆ่าตัวตายมากขึ้น ส่วนในเรื่องของสื่อ พบว่าวัยรุ่นมีแนวโน้มเลียนแบบพฤติกรรมการฆ่าตัวตายจากสื่อ และการที่สื่อให้ความสำคัญต่อเรื่องพฤติกรรมฆ่าตัวตายนี้มาก ๆ คือมีการเล่าถึงเหตุการณ์โดยละเอียด ดูน่าตื่นเต้น หรือนำเสนอเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียง ก็ส่งผลต่อการเกิดพฤติกรรมเช่นกัน และสำหรับเรื่องสังคมเพื่อนและโรงเรียน พบว่าหากวัยรุ่นเคยเห็นเพื่อนฆ่าตัวตายมาก่อน มีปัญหาเรื่องความรักหรือปัญหาความสัมพันธ์ ไม่เคยเรียนหนังสือ หรือมีความหลากหลายทางเพศ ล้วนสามารถส่งผลพฤติกรรมการฆ่าตัวตายทั้งสิ้น
ในฐานะพ่อแม่ เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว เราสามารถมีส่วนช่วยต่อเรื่องราวนี้อย่างไรได้บ้าง?
‘การเป็น support system ที่ดี’ – งานวิจัยพบว่าการสนับสนุนทางสังคม (social support) สามารถช่วยป้องกันการเกิดพฤติกรรมฆ่าตัวตายในวัยรุ่นได้ ซึ่งการสร้าง support system ที่ดีนั้น สามารถเริ่มต้นได้ที่การสร้างสัมพันธภาพที่ดี โดยสามารถเริ่มต้นได้จากการรับฟังด้วยใจเป็นพื้นฐาน คือเน้นการฟังเป็นหลัก โดยใช้ empathy รับฟังเด็กอย่างไม่ตัดสินและแสดงถึงความใส่ใจต่อสิ่งที่เขาเล่าอย่างเห็นได้ชัด
‘คอยสังเกตการณ์อยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ’ – งานวิจัยพบว่าส่วนหนึ่งที่เด็กวัยรุ่นมีพฤติกรรมการฆ่าตัวตายเป็นเพราะว่าเขาสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการฆ่าตัวตายได้ง่าย เพราะฉะนั้นการคอยสังเกตการณ์ให้เด็กอยู่ห่างจากอุปกรณ์ดังกล่าว เก็บข้าวของมีคมให้พ้นสายตาเด็ก ก็สามารถช่วยลดปัจจัยกระตุ้นการเกิดพฤติกรรมได้ นอกจากนี้ การคอยรับรู้ถึงความเป็นอยู่ของลูกก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายจนเขารู้สึกเหมือนถูกควบคุม ไม่มีพื้นที่ในการเติบโตด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ผ่านการสื่อสารที่ดี เช่นการสื่อสารแบบ i-message (เน้นการพูดถึงความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง แทนการสื่อสารเชิงตำหนิลูก)
และหากผู้ปกครองท่านใดสนใจศึกษาถึงแนวทางการสร้างทักษะการเลี้ยงลูกที่เอื้อต่อการสร้าง support system และการสื่อสารที่ดีเพิ่มเติม สามารถเข้ามาเรียนรู้ผ่าน www.netpama.com ได้ฟรีตามลิงค์นี้เลยค่ะ
“เพราะเรื่องแบบนี้ ไม่ควรต้องเกิดขึ้นกับใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม”
บทความโดย คุณนายข้าวกล่อง
ท่านสามารถอ่านบทความเพิ่มเติมหัวข้อ สื่อสารกับลูกอย่างไรเมื่อลูกมีความคิดอยากจากโลกนี้ไป…
ที่มา:
Chaniang, S., & Meuangkhwa, P. .-. (2020). Adolescent Suicide Risk Behavior. Journal of Nursing, Siam University, 20(39), 121–130. https://doi.org/10.14456/jnsu.v20i39.154669
Hawton K, O’Connor RC, Saunders KEA. Suicidal behavior and self-harm. In: Thapar A, Pine DS, Leckman JF, Scott S, Snowling MJ, Taylor E, editors. Rutter’s child and adolescent psychiatry 6th ed. West Sussex: Wiley Blackwell; 2015. p.893-910.
สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข & สุพร อภินันทเวช. (2020). การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นในประเทศไทย: อุบัติการณ์ สาเหตุ และ การป้องกัน. Siriraj Medical Bulletin, 13(1).
https://www.psychiatry.org/News-room/APA-Blogs/Rumination-A-Cycle-of-Negative-Thinking