เมื่อเด็กเกเร ก็ต้องการเป็นที่รักและการยอมรับ
หยุดพฤติกรรมเด็กเกเร ReadAndLearn
อะไรทำให้เด็กคนหนึ่งเกเรรังแกคนอื่นและเราจะหยุดพฤติกรรมเกเรของเด็กได้อย่างไร
วันนี้มาชวนอ่านวรรณกรรมเยาวชนชื่อดัง เรื่อง “บรัดเล่ย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน“ นอกจากสนุกมากๆ แล้วยังมีคำตอบด้วย เล่มนี้บอกเลยว่า พ่อแม่ เด็ก โดยเฉพาะคุณครูผู้มีบทบาทสำคัญต่อเด็กควรได้อ่านจริงๆค่ะ
เป็นเรื่องราวของเด็กประถมคนหนึ่งที่ชื่อ “บรัดเล่ย์” ที่ประจำของเค้าคือหลังห้องเรียน บรัดเล่ย์เป็นเด็กที่ทั้งครู และเพื่อนตราหน้าว่าเป็น “เด็กมีปัญหา” เด็กเกเรรังแกคนอื่น ไม่ทำการบ้าน ทุกคนถอยห่าง ครูที่สอนก็เหนื่อยหน่าย ที่นั่งใกล้ๆ บรัดเล่ย์มักจะเป็นที่ว่างอยู่เสมอ และครูของเค้าพูดกลางชั้นเรียนต่อหน้าเพื่อนทั้งห้องว่า “เพราะไม่มีใครอยากนั่งตรงนั้น“
บรัดเลย์ไม่มีเพื่อนสักคนเดียว กระทั่งวันหนึ่งมีเด็กใหม่ชื่อ “เจฟฟ์” เพิ่งย้ายเข้ามาในโรงเรียน และเจฟฟ์เป็นคนแรกที่พูดกับบลัดเล่ย์ว่า เค้าไม่รังเกียจเลยที่จะต้องนั่งใกล้บรัดเล่ย์
ภายใต้ความรู้สึกที่ดี แต่บรัดเล่ย์ก็สับสน ‘เด็กและครูทุกคนต้องเกลียดเค้าสิ’ ด้วยกำแพงในใจ ทำให้เด็กชายตัดสินใจที่จะแกล้งและเกลียดเจฟฟ์ก่อนเจฟฟ์จะเกลียดเค้าเหมือนคนอื่นๆ
ครูประจำชั้นเรียกแม่ของบรัดเล่ย์มาเพื่อแจ้งปัญหา โดยบอกว่า ครูต้องดูแลเด็กเยอะแยะมากมาย ไม่สามารถใช้เวลากับบรัดเล่ย์ได้คนเดียวหากไม่ปรับปรุงตัวอาจจะต้องโดนไล่ออก และแนะนำให้บรัดเล่ย์ไปพบครูที่ปรึกษาคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามา
บรัดเล่ย์ได้เจอกับ “ครูคาร์ล่า” ครูที่เข้าใจรับฟัง และยอมรับ มองเห็นค่าในตัวตนของเค้า “หน้าที่ของฉันคือ ฟังปัญหาของเด็ก และ พยายามให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะคิดได้ด้วยตัวเอง“
จากเด็กเกเร ครูคาร์ล่าค่อยๆพิสูจน์ว่า บรัดเล่ย์สามารถทำสิ่งดีๆได้ โดยการมอบหมายงานให้เด็กชายทำและคอยให้กำลังใจจนทำสำเร็จ บรัดเล่ย์เกิดความภูมิใจในตัวเอง ค่อยๆ ปรับตัวปรับนิสัย เลิกเกเร และเป็นที่ยอมรับของเพื่อนในที่สุด
เราเรียนรู้อะไรจากการอ่านหนังสือเล่มนี้
เด็กทุกคนต้องการเป็นที่รักและการยอมรับ เด็กที่มีการยอมรับตนเองที่ต่ำ (Low Self-Esteem) ซึ่งอาจเกิดจากการเลี้ยงดู ขาดความรัก ปัญหาทางบ้าน หรือการเรียนไม่ดี ทำให้เด็กบางคนเลือกที่จะได้รับการยอมรับโดยการแกล้งคนอื่น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีอำนาจเหนือกว่า หรืออาจจะมีโรคร่วมอื่นที่เป็นสาเหตุที่ทำให้มีพฤติกรรมแกล้งและไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เช่น ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ สมาธิสั้น
ในบางครั้งการแกล้งและการทำพฤติกรรมไม่ดีสำหรับเด็ก คือ การเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง เพราะการกระทำบางอย่างของเด็กในทางลบ มักได้รับความสนใจจาก พ่อแม่ หรือ ครู และเพื่อน อย่างรวดเร็ว เช่น ตีเพื่อน หยิกเพื่อน ไม่ส่งการบ้าน แล้วโดนดุ เด็กยังรู้สึกดีกว่าโดนเฉยเมยใส่ เป็นเหตุให้เด็กทำผิดซ้ำอีกเรื่อยๆ
การลงโทษสามารถหยุดพฤติกรรมไม่ดีได้เพียงชั่วคราวแต่อาจมีผลให้ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งที่เพิ่มความรุนแรงอีกในอนาคต
การปรับพฤติกรรมเด็ก คือ ทางแก้ปัญหาที่ยืนยาว ทำความเข้าใจถึงสาเหตุ ที่ทำให้เด็กเกเร และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง พ่อแม่ โรงเรียน และ คุณครู ต้องมีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาและปรับพฤติกรรมของเด็ก
พฤติกรรมเกเรมักเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งปัจจัยจากตัวเด็กเอง ครอบครัว และสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตมาที่อาจจะมีการขัดแย้ง หรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก รวมถึงการได้รับอิทธิพลจากสื่อที่ไม่เหมาะสม ซึ่งแนวทางในการปรับพฤติกรรมของเด็กที่ชอบรังแกผู้อื่นมีดังนี้
เข้าใจถึงสาเหตุ
อะไรทำให้เด็กเกเร ก้าวร้าว เช่นต้องการเรียกร้องความสนใจ ไม่มีเพื่อน ติดเกมส์ ภาวะบกพร่อง โรคต่างๆ หรือถูกกระทำรุนแรงมาจากผู้เลี้ยงดูหรือครอบครัวมาก่อน เป็นต้น
ให้การยอมรับความรักและความเข้าใจ
ในระหว่างการแก้พฤติกรรมเด็ก พ่อแม่และครูควรให้ความรักความเมตตาทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย ไม่โดดเดี่ยว อยู่เคียงข้างเด็กเสมอเพื่อช่วยเหลือ
ใช้การลงโทษที่เหมาะสม
หลีกเลี่ยงการใช้วิธีลงโทษที่รุนแรง อาจทำได้โดยการงดสิทธิ์บางอย่างเช่น งดค่าขนม งดการเล่นเกมส์ หรือการมอบหมายให้งานให้ทำ เช่น ทำความสะอาดห้อง ทิ้งขยะ กวาดพื้นที่สาธารณะ
ตำหนิที่พฤติกรรม
ไม่ตำหนิที่ตัวเด็ก ไม่ใช้คำพูดตีตราทำให้เด็กเกิดปมด้อย เช่น เด็กไม่มีใครเอา เด็กก้าวร้าว
“แม่ไม่ชอบเลยที่หนูว่าเพื่อนอย่างนั้น หากมีใครว่าหนูแบบนี้บ้าง หนูคิดว่าหนูจะรู้สึกยังไงคะ“
ให้ความสนใจในพฤติกรรมที่ดี
เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่เหมาะสมให้รีบชมเชยและให้กำลังใจ มากกว่ารอการจับผิดหรือสนใจเฉพาะพฤติกรรมลบ
ส่งเสริมความสามารถเด็ก
มองหาความสามารถและความถนัดของเด็ก เช่นกีฬา ดนตรี ศิลปะ จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าและความสามารถในตัวเอง มุ่งมั่นในสิ่งที่ตัวเองชอบ
สอนให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์และมีความเห็นใจผู้อื่น
เช่น แยกตัวออกมา นับ 1-10 เมื่อโกรธ หรือสอนให้เด็กเห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยคิดกลับกันว่า หากมีใครทำกับเราแบบนี้บ้างเราจะรู้สึกอย่างไร
หากิจกรรมให้รับผิดชอบ
เช่น กิจกรรมสาธารณประโยชน์ เด็กจะได้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง เรียนรู้ปรับตัวในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
จัดหาบุคลากรสำหรับการดูแลแก้ปัญหาให้เพียงพอเหมาะสม
ข้อแนะนำสำหรับโรงเรียนที่ครูประจำชั้น หรือ ครูผู้สอน ไม่มีเวลาเพียงพอ โรงเรียนควรพิจารณาจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น ครูที่ปรึกษาพิเศษทางจิตวิทยา
การปรับพฤติกรรมเด็ก เป็นงานยากและใช้เวลารวมถึงต้องใช้ความอดทนสม่ำเสมอ แต่หากเราทำสำเร็จก็จะเป็นการช่วยได้ทั้งเด็กที่กลั่นแกล้งคนอื่น และเด็กถูกกลั่นแกล้งซึ่งคุ้มค่ามากๆ หากพยายามเต็มที่แล้วไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พ่อแม่ควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์เด็กได้
บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์
สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ที่อยากศึกษาและอยากได้แนวทางเพิ่มเติม เรื่องการรับมือจากการกลั่นแกล้งสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ คุณจะทำอย่างไรเมื่อลูกถูกแกล้ง
เด็กวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในในวันหน้าเรามาร่วมสร้างลูกและสร้างอนาคตไปด้วยกันนะคะ