เมื่อลูกเครียดจากความคาดหวังในการเรียนพ่อแม่ไม่ควรมองข้าม !
ลูกเครียดเพราะคาดหวังในเรื่องเรียน อาจไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด!
งานวิจัยพบความเครียดจากความคาดหวังเรื่องเรียน ส่งผลต่อการมีสุขภาวะโดยรวมที่ย่ำแย่ในเด็กนักเรียนวัยรุ่น
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ (2566) ที่ผ่านมา ได้มีงานวิจัยจิตวิทยาใหม่ (มาก) ตีพิมพ์ออกมาในวารสารวิชาการเด็กและครอบครัว (Journal of Child and Family Studies) เป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของความเครียดจากความคาดหวังเรื่องการเรียน (Academic expectations stress) อิทธิพลของผู้ปกครองที่มีต่อการเรียนของลูก (Parental Academic Socialization) และภูมิหลังของผู้ปกครอง (social background) กับสุขภาวะโดยรวม (Well-Being) ของนักเรียนวัยรุ่น ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร โดยมีความเชื่อว่าทั้งสามตัวแปรนี้สามารถส่งผลต่อสุขภาวะของนักเรียนวัยรุ่นได้โดยตรง รวมถึงเชื่อด้วยว่าภูมิหลังของผู้ปกครองนั้นส่งผลต่อการที่ผู้ปกครองจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องการเรียนของลูก ทำให้ลูกรู้สึกถึงอิทธิพลของผู้ปกครองที่มีต่อการเรียน และเกิดความเครียดจากความคาดหวังเรื่องการเรียนในระดับที่แตกต่างกัน
งานวิจัยได้ให้เด็กนักเรียนอายุ 11-15 ปี ทำแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลผู้ปกครองและวัดระดับตัวแปรต่าง ๆ โดยได้สอบถามถึงอาชีพและระดับการศึกษาของผู้ปกครอง และสอบถามระดับความเครียดที่มาจากความคาดหวังของตนเองและผู้อื่น (ครอบครัวและคุณครู) สอบถามระดับอิทธิพลของผู้ปกครองที่มีต่อการเรียนของลูกจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียนเพื่อกระตุ้นการเรียนของเขา (active involvement) การสนับสนุนทางอารมณ์จากการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจและการส่งเสริมอิสรภาพของเขา (emotional support) ความต้องการที่อยากจะเรียนดีและพร้อมรับความท้าทาย (Demandingness) และวัดระดับสุขภาวะโดยรวมผ่านแบบประเมินคุณภาพชีวิต (Quality of Life) แบบประเมินตรวจสอบการดูแลสุขภาพ และแบบประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น โดยได้แปลงระดับตัวแปรเหล่านี้ออกมาเป็นคะแนน และใช้กระบวนการทางสถิติผสมกับความน่าจะเป็นเพื่อดูแนวโน้มและทำนายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร (ปกติการได้มาซึ่งข้อมูลเชิงจิตวิทยาจะใช้กระบวนการทางสถิติและความน่าจะเป็นเช่นนี้ในการสรุปผลอยู่แล้ว)
ผลงานวิจัยนี้ได้ให้ข้อสรุปออกมาหลายประเด็นซึ่งมีความน่าสนใจมาก อย่างแรกเลยคืองานวิจัยพบว่า ‘ระดับความเครียดจากความคาดหวังเรื่องการเรียนนั้นส่งผลกระทบเชิงลบต่อระดับสุขภาพจิตและระดับคุณภาพชีวิต’ เนื่องจากพบว่าระดับความเครียดจากความคาดหวังเรื่องการเรียนแปรผกผันกับระดับสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (aka พบว่าหากลูกเครียดเพราะความคาดหวังเรื่องเรียนมาก จะมีสุขภาพจิตกับคุณภาพชีวิตลดลง เลยสรุปผลได้ว่าความเครียดส่งผลต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิต) และถึงแม้ว่าอาจจะไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าความเครียดนี้ส่งผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพเนื่องจากผลยังไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ผลการวิจัยก็ยังพบว่าความเครียดนี้มีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันเช่นเดียวกันกับรูปแบบความสัมพันธ์ของความเครียดนี้ที่มีต่อระดับสุขภาพจิตและระดับคุณภาพชีวิต (aka พบว่าหากลูกเครียดเพราะความคาดหวังเรื่องเรียนมากมาก อาจจะมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพกายลดลงได้ด้วย เลยพอได้ข้อสังเกตกลาย ๆ ว่าความเครียดอาจส่งผลต่อการดูแลสุขภาพได้)
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ งานวิจัยนี้ยังพบด้วยว่าความเครียดจากการเรียนนี้สามารถทำนายได้จากภูมิหลังของผู้ปกครอง รวมไปถึงการเลี้ยงดูลูกของผู้ปกครองด้วย โดยพบว่านักเรียนที่อยู่ในครอบครัวที่มีเศรษฐสถานะทางสังคมสูง เป็นลูกที่ถูกเลี้ยงผู้ปกครองที่ให้กำเนิดและยังอาศัยอยู่กับด้วยกันมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ปกครองเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องการเรียนมากไปและไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ จะมีความเครียดจากความคาดหวังเรื่องการเรียนสูง ซึ่งงานวิจัยก็ได้แนะนำด้วยว่า การเลี้ยงลูกแบบเน้นการสร้างความอบอุ่นและความสัมพันธ์ที่จริงใจระหว่างสมาชิกในครอบครัว (warm and engaged parenting) อาจสามารถช่วยแก้ไขจุดนี้เพราะสิ่งนี้ช่วยส่งเสริมทักษะความเห็นอกเห็นใจ (self-compassion) ต่อตัวเด็ก และช่วยให้เด็กมีสภาวะจิตใจที่ดี (psychological capital) ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ช่วยให้ความเครียดจากความคาดหวังเรื่องการเรียนในเด็กลดลง
ในฐานะพ่อแม่ เอาผลงานวิจัยนี้ไปปรับใช้อย่างไรได้บ้าง ?
รีเช็คตัวเองดูว่าเรามี ‘ความคาดหวัง’ อะไรต่อลูกไหม เพื่อให้รู้เท่าทันตัวเอง เพราะถึงแม้ความคาดหวังนี้จะมาจากตัวลูก แต่เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกมีความเครียดจากความคาดหวังในการเรียนได้เช่นกัน และอาจจะเป็นส่วนหลักของการสร้างความคาดหวังนี้ด้วย (งานวิจัยบอกมา!)
ลองไถ่ถาม พูดคุยกับเรื่องความเครียดจากความคาดหวังเรื่องการเรียนกับลูก เพื่อเป็นการสัมพันธภาพ และช่วยในการรีเช็คตัวเองเรื่องความคาดหวังของเราที่มีต่อลูกไปด้วยว่าสิ่งที่เราเข้าใจตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นไหม เพื่อหาแนวทางการแก้ไขและพัฒนาเรื่องนี้ร่วมกันต่อไป
‘ตระหนักรู้’ ถึงผลกระทบเรื่องภูมิหลังของเรา รวมถึงกลับมาย้อนมองถึงการเลี้ยงลูกของเราดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง (ex. มีการสนับสนุนทางอารมณ์บ้างหรือเปล่า มีความเป็น warm and engaged parenting บ้างไหม?)
และหากใครอยากได้แนวทางในการเลี้ยงลูกที่ warm and engaged มากขึ้น สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ผ่าน www.netpama.com ได้เลยค่า
บทความโดย คุณนายข้าวกล่อง
ที่มา:
Ang, R. P., & Huan, V. S. (2006). Academic expectations stress inventory (AESI): Development, factor analysis, reliability and validity. Educational and Psychological Measurement, 66(3),
522–539. https://doi.org/10.1177/0013164405282461.
Cassidy, T., Boulos, A. Academic Expectations and Well-Being in School Children. J Child Fam Stud (2023). https://doi.org/10.1007/s10826-023-02548-6
Suizzo, M.-A., & Soon, K. (2006). Parental Academic Socialization: Effects of home‐based parental involvement on locus of control across U.S. ethnic groups. Educational Psychology, 26(6), 827–846. https://doi.org/10.1080/01443410600941961.
https://www.childwelfare.gov/fei/definition/