window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

เลี้ยงลูกให้มี Self-Esteem เห็นคุณค่าในตัวตน กล้าท้าชนทุกอุปสรรค

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

เลี้ยงลูกให้มี Self-Esteem เห็นคุณค่าในตัวตน กล้าท้าชนทุกอุปสรรค


การเห็นคุณค่าในตัวตน เริ่มจากการนับถือตนเอง ซึ่งพ่อแม่ต้องสร้างสิ่งนี้ให้ลูกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หยั่งรากลึก เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุการณ์มากระทบ "ตัวตน" ความนับถือตนเองก็ไม่สั่นคลอน “ตัวตน” ไม่เปราะบาง - ข้อความจากหนังสือ Everest พาลูกค้นหาความนับถือตนเอง 


Self-Esteem คืออะไร 

ในทางจิตวิทยา  Self-Esteem หมายถึง การเห็นความสำคัญและเห็นคุณค่าในตนเองเป็นผลจากการประเมินตนเองจากความรู้สึกต่างๆ มีอิทธิพลมาจาก สภาพร่างกาย สภาพจิตใจ  การอบรมเลี้ยงดู รวมถึงสภาพแวดล้อม 


เลี้ยงลูกแต่ละช่วงวัยให้มี Self-Esteem 

การสร้างให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเห็นคุณค่าในตัวเอง รากฐานต้องสร้างจากการเลี้ยงดูที่เห็นคุณค่าในตัวเด็กเสียก่อน สามารถปลูกฝังสิ่งนี้ได้ตั้งแต่วัยทารกแบเบาะเป็นต้นไป


วัยทารก การเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย พ่อแม่ตอบสนองลูกอย่างเหมาะสม หิวก็ได้รับการป้อนนม เปียกแฉะก็ได้รับการเปลี่ยนผ้าอ้อม ร้องไห้ก็ได้รับการอุ้มปลอบโยน การรับรู้ว่าตนเป็นที่รักผ่านการเอาใจใส่ดูแล คือ จุดเริ่มต้นที่ดี


วัยเตาะแตะ (1-2 ขวบ) และวัยเด็กเล็ก (3-6 ขวบ) เป็นวัยที่เริ่มต้นทำอะไรได้ด้วยตนเองมากขึ้น รวมถึงพัฒนาการของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่เจริญเติบโตและแข็งแรงขึ้น เดินได้ วิ่งได้ ปีนป่าย กระโดด ขยำ ขว้างปา ขอให้ได้ทดลองท้าทายความสามารถของตนเองตามพัฒนาการ  การปล่อยให้ลูกได้ทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง อยากให้คุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะลงมือทำด้วยความพยายาม 


เมื่อทำได้สำเร็จ ลูกย่อมเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง สะสมทักษะใหม่ ๆ เรื่องราวใหม่ๆ ที่หลากหลาย สิ่งสำคัญคุณพ่อคุณแม่อย่าลืม “คำชม” ในความพยายามของลูกด้วยนะ


วัยรุ่นวัยเรียน (7-15 ปี) สำหรับวัยนี้คงไม่ต้องการการดูแลด้านร่างกายที่ใกล้ชิดแบบวัยเด็กเล็ก แต่ต้องการความใกล้ชิดเพื่อสร้างความอบอุ่นมั่นคงทางด้านจิตใจ แต่เวลาคุณภาพยังคงสำคัญเสมอ เพราะเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะได้สังเกต สำรวจ ความเป็นไปของลูก การรับฟังอย่างตั้งใจช่วยเปิดใจลูก รวมไปถึงการสนับสนุนให้ลูกเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการของตนเอง รวมถึงการสอนให้ลูกยอมรับในตนเอง (develop self-esteem) เข้าใจความแตกต่างของบุคคล ทั้งในด้านความคิดความเชื่อ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรม สิ่งสำคัญพ่อแม่ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก รักและเข้าใจ ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ “อยาก” ให้ลูกเป็น 


  1. การให้ความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่นในครอบครัว คือ สายสัมพันธ์ที่เป็นรากฐานของการนับถือตนเอง
  2. ให้เวลาคุณภาพในแต่ละวันแก่ลูก เพื่อพูดคุย รับฟัง ให้คำแนะนำ หรือแม้แต่นั่งดูทีวีด้วยกัน ทานอาหารด้วยกัน ความอบอุ่นเล็กน้อยเหล่านี้ แต่สร้างความมั่นคงทางใจอันยิ่งใหญ่ภายในใจลูกได้
  3. ปล่อยให้ลูกได้คิด ตัดสินใจ ลงมือทำ และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ในสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยมีพ่อแม่คอยให้กำลังใจ สนับสนุน คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ลงมือทำในสิ่งที่ตั้งใจเรียนรู้จากการลงมือทำ เพื่อพิสูจน์สิ่งที่ตนเองตั้งใจ 
  4. แนะนำดูแลด้านสุขภาพร่างกาย บุคลิกภาพของลูกให้เหมาะสม เพราะบุคลิกภาพที่ดีช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง
  5. ฝึกการควบคุมอารมณ์ และฝึกจัดการอารมณ์เครียด หรืออารมณ์ลบในใจ โดยพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี 
  6. สิ่งสำคัญหากลูกผิดหวัง สอนเรื่องการมองโลกในแง่บวก โดยเฉพาะเราทุกคนทำผิดพลาดได้ ไม่มีใครทำอะไรสมบูรณ์ไปทุกเรื่อง แม้แต่พ่อแม่เอง แต่พ่อกับแม่จะใช้ความผิดพลาดนั้นเป็นบทเรียนให้เราไม่กลับไปทำผิดพลาดอีกและเป็นบทเรียนให้เราพัฒนาตนเองต่อไป
  7. สอนลูกตั้งเป้าหมายที่สามารถทำได้จริง เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ง่าย ๆ เหมือนกับการทำ challenge กับตัวเองในการทำกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น วันนี้จะตื่นนอน 6 โมงเช้าเอง โดยไม่ต้องให้แม่มาปลุก วันนี้ตั้งจะอ่านหนังสือให้จบ 1 บท เป็นต้น เมื่อทำตามสิ่งที่ตั้งใจได้สำเร็จจากก้าวเล็กๆ จะได้ช่วยให้มีความมั่นใจในตัวเองมากกว่าเดิม รวมถึงการเปิดโอกาสให้ตนเองเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ
  8. กล้าปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ต้องการ ดีกว่าการฝืนใจเพียงเพราะไม่กล้าขัดใจ เกรงกลัว แต่ทำให้ตนเองกลับรู้สึกฝืนทน ยิ่งทำให้ตนเองรู้สึกท้อแท้ใจ และรู้สึกลดทอนคุณค่าในตนเอง
  9. มีท่าทีที่เป็นมิตร อาจเป็นผู้เปิดบทสนทนาก่อน มีรอยยิ้มบนใบหน้าอยู่เสมอ สร้างความรู้สึกเป็นมิตรต่อคนรอบข้าง
  10. ไม่เปรียบตนเองกับผู้อื่น เพราะแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน ควรทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด 
  11. ให้เวลากับคนที่เห็นคุณค่าของเรา เพราะบุคคลเหล่านี้จะช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้เรามีกำลังใจ
  12. สำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ต้องเป็นเซฟโซน หรือพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้แม้ในยามสุขหรือทุกข์ เป็น พ่อแม่ที่มีอยู่จริงอยู่เคียงข้างลูกเสมอเมื่อลูกต้องการ
บทความโดย แม่มิ่ง
หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa