ทำความเข้าใจลูกวัยรุ่นต้องฟังด้วยใจไม่ใช่แค่หู
ทำความเข้าใจลูกวัยรุ่นต้องฟังด้วยใจไม่ใช่แค่หู
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นนั้นมีมากมาย นอกจากสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ช่วงวัยรุ่นยังมีรอยต่อของชีวิต เช่น สอบเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา สอบเข้าเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษา เป็นต้นถือเป็นช่วงเวลาที่หนักเอาการทีเดียว ความเครียด ความกดดัน รวมไปถึงความสับสนที่เกิดขึ้นจากปัญหารอบตัว ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมไม่น่ารักออกมาให้พ่อแม่เห็นอยู่บ่อย ๆ จนทำให้พ่อแม่อดกังวลใจจนไปถึงเหนื่อยใจ จนกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก
ทำไม การฟัง จึงสำคัญและช่วยเยียวยาปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะการฟังคือ จุดเริ่มต้นของความเข้าใจที่หลาย ๆ คนไม่คาดคิด ทำให้ “มองข้าม” ความสำคัญของการฟัง
ประโยชน์ของการฟังลูกด้วยใจ
- ลูกสบายใจได้ระบายความทุกข์จากใจ โดยที่พ่อแม่อาจไม่ต้องให้คำแนะนำใด ๆ เลย
- ลูกเชื่อใจ ไว้ใจ อบอุ่นใจ และดีใจ ที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับปัญหาหรือเรื่องราวของลูก
- ลูกได้บอกเล่าปัญหา ได้แสดงความคิด ได้ค้นหาแนวทางร่วมไปกับพ่อแม่
- ลูกไม่รู้สึกเดียวดายที่จะแก้ปัญหาเพียงลำพัง
เวลาที่เราหรือใครก็ตาม โดยเฉพาะลูกวัยรุ่นที่ยังผ่านโลก ผ่านประสบการณ์น้อยนิด เมื่อเกิดปัญหาจะยิ่งสึกอ้างว้างเดียวดายเป็นอันดับแรกก่อนจะคิดค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้น ๆ สิ่งนี้เองที่ทำให้วัยรุ่นมักแสดงพฤติกรรมไม่น่ารัก เพราะลูกกำลังรู้สึก “ขาด” ความเชื่อมั่นในจิตใจว่า ตนเองจะสามารถแก้ไขปัญหาหรือทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านพ้นด้วยดีไปได้อย่างไร ซึ่งลูกวัยรุ่นเมื่อเกิดปัญหามักแสดงพฤติกรรมทางกายที่พ่อแม่สังเกตได้ เช่น ซึม เก็บตัว หงุดหงิด โมโหรุนแรง เป็นต้น
สะท้อนความรู้สึก ก่อนการ รับฟัง
เมื่อพ่อแม่สังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
“แม่เห็นสีหน้าลูกดูเครียด ๆ นะ มีอะไรจะเล่าให้แม่ฟังไหมจ๊ะ”
“ช่วงนี้ลูกดูซึม ๆ ไปนะ ข้าวปลาก็ไม่ค่อยกิน มีปัญหาอะไรในใจอยากเล่าให้พ่อแม่ฟังไหม”
การสะท้อนความรู้สึกจะช่วยให้ลูกกล้าเปิดใจ เพราะบางครั้งลูกไม่รู้จะเริ่มต้นพูดคุยกับพ่อแม่อย่างไร ลูกจะรู้สึกอบอุ่นใจที่พ่อแม่ให้ความใส่ใจและให้ความสำคัญ เมื่อลูกพร้อมเล่า เราในฐานะพ่อแม่ ต้องวางงาน วางมือถือ วางหนังสือ วางทุกสิ่งกำลังอยู่ตรงหน้า ให้ความสำคัญกับลูก
เมื่อลูกพูด ตั้งใจฟังให้จบ ไม่พูดแทรก ไม่พูดตัดบท ไม่ต้องรีบสอน ดุว่า หรือตัดสินถูก – ผิด ไม่ว่าเรื่องนั้นจะรู้สึกขัดแย้งในใจพ่อแม่อย่างไรก็ตาม ฟังจนจบ ระหว่างที่ฟังใช้ภาษากาย (body language) เช่น มองหน้า โอบบ่า จับมือ พยักหน้ารับรู้ โดยเลือกใช้ภาษากายให้เหมาะสม
เมื่อฟังจบดูพฤติกรรมของลูก ซักถามความคิดด้วยคำถามปลายเปิด เช่น “ลูกคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง” “ลูกผ่านเรื่องราวนี้ได้ยังไง ลองเล่าให้พ่อแม่ฟังได้ไหม” “ลูกสบายใจขึ้นไหมที่เล่าให้พ่อแม่ฟัง” “อยากให้พ่อแม่ช่วยอะไรไหม”
ขั้นตอนต่อไปการ ให้คำแนะนำคำปรึกษาแก่ลูก เมื่อลูกต้องการ อาจช่วยกันคิดแก้ปัญหา แบบระดมสมอง ก็ดีนะคะ พ่อแม่จะได้เห็นวิธีการจัดการปัญหาของลูกด้วย ถึงตรงนี้เราจะบอก สอน แนะนำอะไรลูกจะรับฟังเรามากขึ้น
ได้เห็นอานุภาพของการ รับฟังด้วยใจ (ด้วยความตั้งใจ) ความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นได้ด้วยการรับฟังให้เข้าใจเรื่องราว ความคิดซึ่งเป็ฯที่มาของการกระทำ บางครั้งพ่อแม่อาจมองต่างมุมจากลูก เราบอกสอนกันได้หากได้รับฟังกันด้วยความเข้าใจ บางเรื่องราวอาจไม่ใช่สิ่งที่คิด การที่เราเผลอดุว่าลูกไป โดยไม่ทันได้รับรู้หรือรับฟังเรื่องราวทีเกิดขึ้นจริง ย่อมสร้างช่องว่างของความสัมพันธ์ที่ห่างไกลออกไปทุกที และช่องว่างนั้นกลับถูกเติมเต็มด้วยปัญหานานาประการ รับฟังด้วยใจ ไม่ใช่แค่หู เราจะได้ลูกที่น่ารักและความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวกลับคืน
บทความโดย แม่มิ่ง
อยากทำความเข้าใจลูกวัยรุ่นเพิ่มเติม ก็ขอชวนชาวป๊าม้าลองฝึกฝนวิชาสะท้อนความรู้สึกได้ฟรีๆที่ www.netpama.com ลองเรียนรู้แล้วมาแชร์กันได้น้า