window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

การเป็นเซฟโซนสำหรับลูก

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

การเป็นเซฟโซนสำหรับลูก


เคยสงสัยไหม ว่าทำไมเมื่อลูกย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นถึงไม่กล้าที่จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง เริ่มพูดคุยกับเราน้อยลง หรืออาจจะรู้สึกว่าไม่สนิทกับลูกเท่าตอนที่ลูกยังเด็ก มันมีสาเหตุมาจากอะไร แล้วพอจะมีวิธีแก้ไขได้ไหม บทความนี้มีคำตอบให้ครับ


ย้อนกลับไปครั้งเมื่อลูกยังเด็ก พ่อแม่นั้นเปรียบเสมือนโลกทั้งใบของเขา เพราะเขาต้องอยู่กับเราตลอดเวลา ย่อมเกิดความสนิทสนมและความผูกพันซึ่งกันและกันเป็นธรรมดา แต่เมื่อลูกโตขึ้น เขาก็ต้องออกไปเผชิญกับโลกภายนอก โดยที่ไม่ได้มีเราอยู่ข้างๆ เมื่อลูกเริ่มปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน ได้ทำกิจกรรมต่างๆด้วยกัน เกิดเป็นความสนิทกันระหว่างกลุ่มเพื่อน มีปัญหาอะไรก็พูดคุยกัน ปรึกษากัน บวกกับการที่ไม่มีช่องว่างระหว่างวัยนั้นย่อมทำให้การพูดคุยกันเป็นไปด้วยความสบายใจ


จึงไม่แปลกที่ลูกในวัยที่เริ่มโตขึ้น จะเริ่มติดเพื่อน ไม่ค่อยพูดคุยกับพ่อแม่มากเหมือนเมื่อก่อน หรือไม่ค่อยกล้าที่จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังเหมือนเคย แต่! สาเหตุมันมาจากปัจจัยภายนอกเหล่านั้นเพียงอย่างเดียวหรือ แน่นอนว่าไม่ใช่ครับ


ถึงตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเริ่มย้อนกลับมองมาที่ตัวเอง ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ในวันที่ลูกยังมีเราเป็นโลกทั้งใบจนถึงตอนนี้นั้น เราเลี้ยงเขามาอย่างไร? เราเป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริง ที่ให้ความอบอุ่นกับลูก ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจ คอยรับฟังสิ่งที่ลูกเล่าให้ฟังหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเรากับลูก ในวันที่เราไม่ได้เป็นโลกทั้งใบสำหรับเขาแล้ว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “เราเป็นเซฟโซนสำหรับลูก” หรือไม่นั่นเอง


การเป็นเซฟโซนสำหรับลูกคืออะไร ความหมายตามชื่อเลยครับ คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เขา ทั้งทางร่ายกายและจิตใจ เราควรทำให้ลูกรู้สึกว่าในวันที่เขาต้องเจอเรื่องที่ทำให้เขาต้องทุกข์กายหรือใจ หากเขาหันหลังกลับมาจะยังมีเราที่พร้อมจะอยู่ข้างๆ และช่วยให้เขาผ่านเรื่องราวเหล่านั้นไปได้ ก่อนอื่นเลย เราจะต้องมีความเปิดกว้างในสิ่งใหม่ๆ เสมอ เนื่องจากความแตกต่างระหว่างวัยย่อมก่อให้เกิดความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของความคิด สังคม และค่านิยมต่างๆ


หากเราสามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของลูกได้ ก็จะลดช่องว่างระหว่างวัยตรงนี้ไปได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ลูกวัยรุ่นต้องการจากพ่อแม่ นั่นก็คือ การรับฟัง การรับฟังในที่นี้คือการรับฟังอย่างตั้งใจ และไม่ตัดสิน โดยเฉพาะการไม่ตัดสินนี่แหละ ที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกรับรู้ได้เลยว่าต่อไปเขาจะอยากมาเล่าปัญหาต่างๆ ให้เราฟังหรือไม่ หากลูกมาปรึกษาในสิ่งที่เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขา แล้วเราตอบสนองโดยการดุและสั่งสอนเขากลับไปทันที ซึ่งอาจจะมาจากเจตนาที่หวังดีต่อลูก แต่มันอาจจะทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายใจที่จะคุยกับเรา และไม่อยากที่จะเล่าปัญหาของเขาให้เราฟังอีก


หากลองเปลี่ยนเป็นการรับฟังลูกอย่างตั้งใจ และไม่ตัดสินก่อน จากนั้นจึงพูดคุยกันถึงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าว โดยพูดคุยกันแบบให้เกียรติซึ่งกันและกัน ใช้เหตุผล และไม่ใช้อารมณ์ในการพูดคุยกัน จะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจมากขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาและความพยายามพอสมควร แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นย่อมคุ้มค่าแน่นอน


การเป็นพ่อแม่ที่สามารถเป็นเซฟโซนให้ลูกได้นั้นจะทำให้ลูกสามารถที่จะเติบโตไปด้วยความมั่นคงทั้งทางร่างกายและจิตใจ แม้ในวันที่โลกนั้นโหดร้ายกับลูกของเรา เขาก็จะรับรู้ได้เสมอ ว่ามีพ่อแม่ที่พร้อมจะคอยอยู่เคียงข้างเขา และช่วยให้เขาผ่านพ้นอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ไปได้ เพราะฉะนั้นเรามาเป็นพ่อแม่ที่เป็นเซฟโซนสำหรับลูกกันดีกว่า


บทความโดย นศพ.ปัณณวัฒน์ ราษฎร์อารี


ทุกๆท่านสามารถเรียนรู้เรื่องการเป็นเซฟโซนสำหรับลูกได้ในบทที่สอง ของ www.netpama.com ว่าด้วยเรื่องการสื่อสาร ลองมาลงทะเบียนเรียนฟรีๆ กันได้เลย

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa