window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

การเลี้ยงลูกแบบ “เร่งรีบ” อาจจะทำให้สูญเสียสิ่งที่สำคัญ 

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

การเลี้ยงลูกแบบ “เร่งรีบ” อาจจะทำให้สูญเสียสิ่งที่สำคัญ 


“ถ้ารู้แบบนี้เรียนให้จบ ม.6 ก็ดี” เป็นสิ่งที่หมอคิดอยู่บ่อยๆ เวลาที่นึกย้อนไปถึงอดีต


หมอเกิดและเรียนอยู่ในยุคสมัยที่เด็กวัยรุ่นนิยมการสอบเทียบเพื่อจะได้เข้าไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้เร็วๆ เด็กที่เรียนดีส่วนใหญ่ก็จะทำเหมือนๆกัน นั่นคือ เริ่มไปสอบเทียบตั้งแต่ ม.4 บางคนได้ไปลองสอบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่เรียนจบ ม.4 หากสอบได้คณะที่หวังและตั้งใจ ก็จะเข้าไปเรียนทันที หมอเป็นคนหนึ่งที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อเรียนจบ ม.5


ตอนนั้นหมอได้รับเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียนและต้องเริ่มปฏิบัติหน้าที่หลังจากขึ้นชั้น ม.6 แต่เมื่อสอบติดในคณะที่ตั้งใจ จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อม.6 สละสิทธิ์ในตำแหน่งที่ถือว่าเป็นเกียรติสำหรับนักเรียนธรรมดาๆ คนหนึ่ง


เมื่อเวลาผ่านมาหลายปี หมอมองย้อนกลับไป ก็รู้สึกเสียดายเสมอว่าตัวเองน่าจะเรียนต่อม.6 ประสบการณ์กับเพื่อนๆในชั้นเรียนปีสุดท้ายในรั้วโรงเรียน รวมถึงการมีโอกาสดำรงตำแหน่งสำคัญ คงมีหลายๆสิ่ง หลายๆอย่าง ให้หมอได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง


แต่เพราะหลายๆเหตุผลที่ทำให้กลัวว่าถ้าตัวเองทิ้งโอกาสที่ผ่านเข้ามาในตอนนั้นอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ทำให้เลือกที่จะทิ้งชีวิตความเป็นนักเรียน 


ทั้งที่ช่วงเวลาที่มีความสุขและสนุกที่สุดในชีวิตก็เกิดขึ้นตอนที่ยังเป็นเด็ก แต่หมอและเพื่อนหลายๆคน ก็เลือกที่จะรีบเรียน รีบจบ รีบที่จะใช้ชีวิตความเป็นผู้ใหญ่ 


ตอนนี้ก็สงสัยและเสียดายเสมอว่า เรารีบเกินไป และทำไมต้องรีบขนาดนั้น จนทิ้งโอกาสที่สำคัญและมีความหมายกับตัวเอง


จนมาทำหน้าที่จิตแพทย์เด็กในตอนนี้ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หมอกลับพบว่าการใช้ชีวิตของเด็กสมัยนี้ เร่งและรีบมากกว่าสมัยก่อน เรียกว่าทิ้งกันไม่เห็นฝุ่นก็ว่าได้


พ่อแม่สมัยนี้เลี้ยงลูกแบบเร่งรีบเพราะหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่มากขึ้น ความกดดันของสังคมรอบข้าง แต่พ่อแม่อาจจะลืมคิดไปว่า ความกลัวจะพลาดสิ่งที่คิดว่าสำคัญ อาจทำให้สูญเสียสิ่งที่สำคัญมากกว่า


หมออยากจะเล่าเรื่องของคุณแม่กับลูกชายอายุเจ็ดขวบให้ฟัง… คุณแม่ท่านหนึ่งมาปรึกษาเรื่องลูกชายที่ดูเซื่องซึม ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตอนที่ขึ้นชั้นประถม เด็กอายุเจ็ดขวบคนหนึ่ง ต้องตื่นแต่เช้า รีบกินอาหารในรถ ไปโรงเรียนให้ทันเข้าแถว เรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็น และเรียนพิเศษเสริมต่อทุกเย็น กลับบ้านมาเพื่อรีบทำการบ้านให้เสร็จ แบ่งเวลากินอาหารเย็นแบบเร็วๆ อาบน้ำ ทำการบ้านต่อ รีบเข้านอน เพราะต้องตื่นแต่เช้า เสาร์อาทิตย์ก็ต้องเรียนพิเศษ และยังต้องเรียนกอล์ฟ เรียนเปียโน เรียนศิลปะ


ถามว่าเวลาไหนบ้างที่ลูกของคุณแม่จะได้ทำอะไรก็ได้ตามที่อยากทำ หรือเล่นสนุกตามประสาเด็ก คุณแม่คิดอยู่นาน แล้วตอบว่า "ช่วงปิดเทอมก็พอจะได้เล่นบ้างค่ะหมอ" นิ่งไปอีกสักพัก คุณแม่ก็พูดต่อว่า "บางทีเค้าขอพัก แต่เราก็บอกว่า ให้ทำต่อ แม่กลัวว่าถ้าลูกเรียนน้อยเกินไป จะสู้เพื่อนๆไม่ได้ เพื่อนลูกทุกคนเรียนหนักแบบนี้ กลัวว่าจะไม่ทันเขา เดี๋ยวนี้พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนพิเศษตั้งแต่สองสามขวบนะหมอ"


คนเราใจร้อนมากขึ้น หรือลึกๆ กลัวจะตามคนข้างๆไม่ทัน เมื่อเราเห็นคนอื่นกำลังวิ่ง เราก็อดไม่ได้ที่ต้องวิ่งตาม การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้มีผลกระทบแค่ตัวเรา แต่มีผลกับความเป็นพ่อแม่และลูก เมื่อพ่อแม่พาให้ลูกเร่งไปด้วย เด็กบางคนวิ่งได้เร็วและทำได้ แต่บางคนก็ยังไม่พร้อมกับจังหวะเร่งที่พ่อแม่กำหนดให้ แต่ผู้ใหญ่กลับมองผิดปกติ


เด็กในยุคสมัยนี้ต้องรีบเร่งกับบางสิ่งบางอย่างที่พ่อแม่คิดว่าสำคัญกับการมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเรียน จนบางครั้งทำให้ความเป็นเด็กที่ควรจะเป็นหายไป


ชีวิตไม่เหมือนการวิ่งห้าสิบเมตร ที่ต้องใช้แรงทั้งหมดตั้งแต่ออกสตาร์ต และวิ่งให้เร็วที่สุดเพื่อให้เข้าเส้นชัยในระยะใกล้ แต่ชีวิตคนเปรียบเหมือนการวิ่งระยะไกล ที่คนวิ่งต้องระยะอัตราเร็วให้สม่ำเสมอ ถ้าวิ่งเร็วมาก ใช้แรงไปหมดตั้งแต่แรก เมื่อไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง ก็คงไปต่อไม่ไหว


ทุกคนควรมีสติในการดำรงชีวิต พ่อแม่ก็ต้องมีสติในการเลี้ยงลูก ถึงจะเป็นเครื่องจักรถ้าใช้งานหนักเกินไปก็พังได้ นับประสาอะไรกับคนธรรมดาๆ และคงจะน่าเศร้า ถ้าเด็กๆต้องถูกเร่งจนไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเด็กธรรมดา


เด็กต้องมีเวลาที่ได้เล่น ได้ผ่อนคลาย ไม่ใช่ว่าให้เรียนอย่างเดียว เหมือนที่ไอน์สไตน์บอกว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" 


ผู้ใหญ่อย่างเราก็เคยเป็นเด็กมาก่อน ก็น่าจะเข้าใจจิตใจของเด็กๆ ก็หวังว่าพ่อแม่จะไม่เร่งรัดลูกๆจนเกินไปนัก เอาให้เป็นจังหวะที่พอเหมาะ แล้วลูกก็จะวิ่งไปได้ตามเส้นทางของชีวิตที่ยังรอคอยเขาอยู่อีกยาวไกล


บทความโดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ เข็นเด็กขึ้นภูเขา


การเลี้ยงลูกเชิงบวกสามารถเรียนรู้ได้ง่ายๆและฟรีๆที่ www.netpama.com เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกและดีต่อคุณเอง มาลงทะเบียนเรียนกันนะ !

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa