window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

Net PAMA Live: สอนลูกให้เห็นคุณค่าและมีความมั่นใจในตัวเอง

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

Net PAMA Live: สอนลูกให้เห็นคุณค่าและมีความมั่นใจในตัวเอง


เป้าหมายสูงสุดที่เราคิดเอาไว้ว่าอยากให้ลูกเราทำได้คืออะไรกันบางคะ บางคนอยากให้ลูกเป็นเด็กมีน้ำใจ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น บางคนอยากให้ลูกปรับตัวได้ในสังคม ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่สิ่งที่พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกเป็นมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นการเป็นคนที่มีความสุข เป้าหมายนี้ดูจะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วทำได้ยาก เพราะการจะมีความสุขได้ เขาต้องรู้สึกด้วยตนเอง แม้พ่อแม่จะมองว่าสิ่งแวดล้อมปัจจุบันจะทำให้เขามีความสุขได้มากขนาดไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวเด็กเองรู้สึกเช่นนั้นหรือไม่ แต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่ามีคุณสมบัติอยู่หนึ่งข้อที่จะช่วยให้เขาสามารถเติบโตไปเป็นเด็กที่มีความสุข รักตัวเองและยังคงเคารพผู้อื่นได้


คุณสมบัติข้อนั้นคือ การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-worth) ซึ่งกว่าจะไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเองนั้น จะต้องมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องได้แก่ ความมั่นใจในตนเอง (Self-confident) และความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem)


ความมั่นใจในตนเอง (Self-confidence) คือ การที่เด็กคนนึงสามารถรับรู้ได้ว่าตนเองทำอะไรได้ดี โดยมีสภาพแวดล้อมจากภายนอกเป็นตัวบอกในลักษณะเชิงบวก เช่น คนรอบตัวเด็กบอกว่า หนูวิ่งได้เร็วมากเลยนะ 


ความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) คือ การที่เด็กสามารถยืนยันกับตนเองได้แล้วว่าตนเองมีความสามารถ แม้บางครั้งถูกกระทบกระเทือนจากสภาพแวดล้อมที่ขัดแย้งกับความเชื่อของเด็ก อาจจะทำให้เด็กลังเลสงสัยในตัวเองไปบ้าง แต่เขาจะกลับมารู้คุณค่าความสามารถของตนเองได้อีกครั้ง โดยการจะเกิดความภาคภูมิใจในตนเองได้นั้น เด็กจำเป็นจะต้องได้รับ feedback จากคนรอบตัวก่อน แต่หากเด็กไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถของตนเองจากคนรอบตัว เด็กก็จะเกิดความสงสัยในความสามารถของตนเอง ไม่แน่ใจว่าตนเองมีความสามารถอะไรบ้าง


แล้ว ความมั่นใจในตนเอง กับความภาคภูมิใจในตนเอง ต่างกันอย่างไร?

ความมั่นใจในตนเอง เกิดได้จากการที่คนรอบตัวบอกข้อมูลเชิงบวกไปที่ตัวเด็ก แล้วทำให้เด็กค่อย ๆ ยืนยันความมั่นใจในตัวเองขึ้นมา และเมื่อเด็ก ๆ ได้รับข้อมูลจากสภาพแวดล้อมมากพอจะทำให้พัฒนาไปสู่การที่เด็กรับรู้ได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลจากสภาพแวดล้อมแล้ว สิ่งนี้เรียกว่า ความภาคภูมิใจในตัวเอง และแม้ว่าคนรอบตัวจะให้ข้อมูลเชิงลบก็อาจจะไม่กระทบต่อตัวตนของเด็กมากนัก เนื่องจากเขาได้รับประสบการณ์และข้อมูลมามากพอแล้ว ซึ่งทั้งสองอย่างจะช่วยพัฒนาให้เด็กเกิดการพัฒนาด้านที่ตนเองรับรู้ว่าทำได้ดี (ด้านบวก) เพิ่มขึ้น


แต่เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้น สิ่งที่เขาคิดว่าตนเองสามารถทำได้ดีที่สุดอาจไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เด็กจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับด้านที่ไม่ดีของตนเองมากขึ้น และจะเกิดเป็นการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง


การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-worth) คือ การที่เด็กสามารถยอมรับทั้งด้านบวกและด้านลบของตัวเองได้ และเชื่อว่าเขาจะสามารถเติบโตไปได้อีก ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยให้เด็กเรียนรู้ตนเองตามความเป็นจริง และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคหรือความทุกข์ที่เขาพบเจอ


คุณเมริษา ยอดมณฑป หรือ ครูเม นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ ได้ให้อธิบายความหมายของ 3 คำนี้ไว้ใน Net PAMA Live : สอนให้ลูกเห็นคุณค่าและมีความมั่นใจในตัวเอง ผ่านเหตุการณ์ตัวอย่าง


ในชั่วโมงพละ ชมพู ฝึกซ้อมวิ่งแข่งในโรงยิม เมื่อคุณครูมาเห็นจึงบอกชมพูว่า หนูวิ่งได้เร็วมาก ๆ เลยนะ วิ่งเก่งมาก ทำให้ชมพูเกิดการรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการวิ่ง สิ่งนี้เรียกว่า ความมั่นใจในตนเอง (Self-confidence)  และเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งคุณพ่อคุณแม่และเพื่อน ๆ ของชมพูก็ต่างพูดว่า ชมพูเป็นคนที่วิ่งเก่งมาก ในวันแข่งชมพูได้เจอกับปันปันที่ลงแข่งวิ่งนัดเดียวกัน ปันปันบอกกับชมพูว่า ชมพูวิ่งไม่ชนะเราหรอก เราวิ่งไวและเก่งกว่าชมพูดมาก ๆ แต่แทนที่ชมพูจะรู้สึกกลัวไปตามที่ปันปันพูด ชมพูกลับไม่สนใจเพราะชมพูเชื่อว่าตนเองมีความสามารถในการวิ่งและตนเองก็เป็นคนวิ่งเก่ง การที่ชมพูสามารถคิดเช่นนี้ได้เป็นเพราะชมพูมีความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) แต่เมื่อการแข่งขันมาถึง ชมพูเกิดแพ้ปันปันในการแข่งขันนั้นพอดี ถึงอย่างนั้นแล้ว ชมพูก็ยังคงคิดว่าไม่เป็นไร ชมพูสามารถฝึกฝนให้มากกว่านี้และพัฒนาการวิ่งของตนเองไปอีกได้ การที่ชมพูมีความคิดเช่นนี้เรียกว่า การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-worth)


แล้วคำชมแบบไหนที่จะช่วยให้เด็ก ๆ พัฒนาทั้ง 3 ตัวได้


  1. ชมอย่างจริงใจและเป็นรูปธรรม แต่การที่ผู้ปกครองจะสามารถชมเด็กได้ จะต้องเกิดจากการที่ผู้ปกครองมีเวลาในการสังเกตเด็ก รู้จักเด็กอย่างแท้จริง จึงจะรับรู้ได้ว่าเด็ก ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เช่น เมื่อกี้แม่เห็นหนูไปเข้าห้องน้ำมา หนูเก่งมากเลยนะ เข้าห้องน้ำคนเดียวได้แล้ว 
  2. ชมให้เหมาะสมกับความพยายามที่เด็กทำ เมื่อเขาทำสิ่งใหม่ ๆ หรือสื่งที่เขาใส่ความพยายามไปกับมันมาก การชมในระดับที่มากขึ้นกว่าการชมพฤติกรรมปกติของเขาก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยพัฒนา

ทั้งความมั่นใจในตนเองและการเห็นคุณค่าในตนเองสร้างได้อย่างไร


บันไดขั้นที่ 1 Unconditional love and time เด็กสามารถเติมเต็มขั้นบันได้นี้ได้ตั้งแต่วัยทารก โดยเริ่มจากการที่เขาได้รับการตอบสนองตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเขาร้องไห้ หิวนมหรือต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม


บันไดขั้นที่ 2 Autonomy and Chance การที่เด็กสามารถลงมือทำอะไรบางอย่างได้ด้วยตนเอง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องตามใจลูกไปซะทุกอย่าง แต่ให้โอกาสเขาภายใต้เงื่อนไขว่า สิ่งที่เขาทำจะต้องไม่ทำให้ตัวเอง ผู้อื่นหรือข้าวของเสียหาย แม้สิ่งที่ทำนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่จะช่วยทำให้เด็กค่อย ๆ พัฒนาความมั่นใจในตนเอง ตราบใดที่เขารับรู้ว่าพ่อแม่พร้อมจะให้โอกาสเขาเสมอ


บันไดสองขั้นนี้จะช่วยให้เด็กพัฒนาความมั่นใจในตนเอง ซึ่งล้วนเกิดจากการได้ลองทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้รับ feedback จากคนรอบตัว


บันได้ขั้นที่ 3 Responsibility and Positive reinforce การมอบหมายงานตามวัย การที่เด็กได้รับผิดชอบสิ่งต่าง ๆ เช่น การทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการเตรียมข้าวของเครื่องใช้ของตนเอง จะทำให้เด็กรับรู้ว่าตนเองสามารถรับผิดชอบและสร้างคุณค่าให้กับส่วนร่วมได้ รวมทั้งการได้รับการชื่นชมจะยิ่งทำให้เขารับรู้ว่าตนเองสามารถทำสิ่งนั้นได้ บันไดขั้นนี้จะเป็นขั้นแรกที่นำไปสู่การมีความภาคภูมิใจในตัวเอง 


บันไดขั้นที่ 4 Resilience and Support เป็นขั้นที่เด็ก ๆ จะได้เจอกับอุปสรรคหรือความทุกข์ยากบางอย่าง เช่น แม้เขาจะตั้งใจอ่านหนังสือแล้วแต่คะแนนสอบที่ออกมาก็ยังไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวัง ในขั้นนี้การที่เด็กมีความภาคภูมิใจในตนเองอย่างเดียวอาจทำให้เกิดความท้อใจได้ แต่หากได้รับการสนับสนุนและกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ ก็จะช่วยให้เขาสามารถก้าวข้ามอุปสรรคนั้นมาได้ ซึ่งจะนำไปสู่บันไดขั้นที่ 5


บันไดขั้นที่ 5 Self-worth การเห็นคุณค่าในตนเอง เขาไม่จำเป็นต้องพิสูจน์กับใครหรือรอให้ใครมายืนยัน เขาก็รับรู้ว่าตนเองมีค่ามากพอ


ความมั่นใจในตนเอง ความภาคภูมิใจในตนเองและการเห็นคุณค่าในตนเองมีความสำคัญอย่างไร


สำคัญต่อการทำให้คน ๆ นึงรู้จักรักตัวเองเป็น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเขาก็จะสามารถเติบโตไปได้ในแบบของตัวเขาเอง


คำนึงไว้เสมอว่าพ่อแม่เป็นสถานที่แรกที่จะสร้างให้เด็ก ๆ เกิดความมั่นใจในตนเอง ความภาคภูมิใจในตัวเองและเห็นคุณค่าของตนเอง

ทั้งสามตัวนี้ ไม่ได้เกิดจากการเปรียบเทียบว่าใครทำได้ดีกว่าใคร แต่เกิดจากการที่เขารับรู้ว่าตัวเองทำได้ดีและเขาพยายามพัฒนามันต่อไปก็เพียงพอแล้ว


และเด็กที่มีความมั่นใจในตนเองไม่จำเป็นต้องได้รับคำพูด หรือการแสดงออกเสมอไป แต่เขาจะสามารถยืนหยัดในความต้องการของตนเองและรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่าแบบไหนโดยไม่เดือดร้อนผู้อื่นต่างหากคือเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเอง


รับชม Live เต็ม ๆ ได้ที่ : https://www.facebook.com/watch/?v=262586059524382

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa