window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

เฉลย คุณจะทำยังไงเมื่อลูกถูกแกล้ง

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

เฉลย คุณจะทำยังไงเมื่อลูกถูกแกล้ง

ก. แจ้งความ (เท็จ)

ข. สู้กลับ

ค. สาปแช่ง

ผิดเพราะ การที่เราไม่สามารถควบคุมความโกรธของตัวเองได้นั้น อาจทำให้เผลอทำสิ่งที่ยิ่งเลวร้ายมากกว่าเดิมได้ ซึ่งจะส่งผลกับความรู้สึกกังวล สับสน และความไม่สบายใจแก่ลูก ลูกอาจจะไม่กล้าเล่าสิ่งที่ลูกเผชิญมาให้เราฟังในครั้งต่อไป รวมถึงการแก้ปัญหาที่ชี้นำให้ลูกใช้กำลังนั้น อาจจะทำให้ลูกยิ่งโดนล้อ หรือกลั่นแกล้งมากยิ่งขึ้นได้ และยิ่งไปกว่านั้นคือลูกของเราอาจกลายเป็นผู้ที่ไปกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นได้ในอนาคต…


ข้อที่ถูกต้องคือ เราควรตั้งสติและจัดการอารมณ์โกรธของตัวเองก่อนที่จะจัดการปัญหา เมื่อพร้อมแล้วจึงค่อย ๆ สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับลูก เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูก เน้นที่การสื่อสารและรับฟังความรู้สึกของลูกให้ได้มากที่สุด ต่อจากนั้นสามารถชวนลูกพูดคุยถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เราเองคิดว่าควรจะต้องทำ และลูกเองสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อวิธีการแก้ปัญหานั้น ๆ ได้ นอกจากนี้ควรขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาเป็นผู้ดูแลและจัดการเมื่อต้องอยู่ห่างสายตาของพ่อและแม่ เช่น กลุ่มเพื่อนที่ไว้ใจได้ ครูประจำชั้น และโรงเรียน เป็นต้น โดยสามารถทำได้ดังนี้


เมื่อลูกถูกรังแก รับมืออย่างไรไม่ให้เรื่องเลวร้ายไปมากกว่าเดิม

 

เมื่อถึงวัยที่ลูกต้องเดินทางสู่โลกกว้าง ต้องอยู่ห่างจากสายตาคุณพ่อคุณแม่ ความสบายใจที่เราต่างคาดหวังมีเพียงไม่กี่เรื่อง และเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญนั่นก็คือ “ขอให้ลูกได้เจอสังคมที่ดีและปลอดภัย” 

 

แต่ในโลกกว้างใบนี้มีอะไรที่เหนือการควบคุมของเรามากมาย เหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ และจะเป็นอย่างไรถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับลูกเรา เราคงจะเครียดและทุกข์ใจอย่างแน่นอน วันนี้ NetPAMA เลยมีคำตอบมาแบ่งปัน ว่าเราควรจะรับมืออย่างไรเมื่อวันหนึ่งลูกของเราโดนกลั่นแกล้งรังแก
 

การกลั่นแกล้งรังแกไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ หากมองย้อนกลับไปในวัยเด็กของคุณพ่อคุณแม่ อาจจะพอนึกออกว่าเราก็เคยพบเห็นการกลั่นแกล้งหรืออยู่เคยในประสบการณ์เหล่านั้นอยู่บ้าง ไม่ว่าในรูปแบบของการกลั่นแกล้งทางคำพูด การล้อเลียน การโดนแบ่งแยกออกจากเพื่อน การทำให้รู้สึกแย่ หรือรุนแรงถึงขั้นทำให้บาดเจ็บทางร่างกาย 

 

1. สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำคือ จัดการใจเรา 

รู้ทัน รู้ทัน และรู้ทันพายุความโกรธที่หมุนวนอยู่ในใจเรา จนอยากลงมือทำอะไรซักอย่าง เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับลูก การโกรธไม่ใช่เรื่องผิดเราสามารถโกรธได้ แต่การที่ไม่รู้ตัวว่าโกรธอาจทำให้เราเผลอลงมือทำในสิ่งที่จะส่งผลเสียตามมา จนการแก้ไขนั้นทำได้ยากกว่าเดิม ดังนั้นการลงมือทำอะไรก็ตาม ควรทำตอนที่อารมณ์ของเราเย็นลงแล้ว อย่าลืมหายใจเข้าออกลึก ลึก และ ช้า ช้า เพื่อสงบพายุใจของเราลงซะก่อน 

 

2. ประคองใจลูก 

เมื่อพายุในใจเราสงบลงแล้ว เราถึงจะเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ลูกพึ่งพิงได้ ทั้งมั่งคง ปลอดภัย และน่าไว้วางใจ  

เด็กจะรู้สึกอยากเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนที่เขารู้สึกปลอดภัย และเป็นคนที่เขาไว้วางใจว่าจะสามารถช่วยเหลือและแก้ปัญหาในแบบที่เขาเองก็ต้องการได้ 

 

พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านคำถามปลายเปิด เช่น “ลูกลองเล่าให้ฟังได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง?” “แม่เห็นลูกดูไม่ค่อยอยากไปโรงเรียน ลูกมีอะไรไม่สบายใจไหม?” หากลูกเริ่มเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟัง ไม่ควรรีบแนะนำหรือจัดการอะไร ให้เราสะท้อนอารมณ์ลูกไปพร้อมๆ กับการตั้งใจฟังอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเด็กพร้อมที่จะเล่ามากขึ้น เราก็สามารถถามข้อมูลเพื่อให้รู้สาเหตุที่มาที่ไปเพิ่มเติมได้ สามารถเรียนรู้เทคนิคการสื่อสารได้ในบทที่ 2 ของคอร์สจัดเต็มเน็ตป๊าม้า

 

เด็กที่โดนกลั่นแกล้งรังแกส่วนใหญ่มักจะเผลอคิดว่าตัวเองผิด ไร้ค่า ไม่เป็นที่รักของใครๆ เนื่องจากเวลาที่โดยแกล้งทีไร ก็มักมีคนที่ช่วยกันแกล้ง สนับสนุน หรือร้องเชียร์จนดูเหมือนเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย จึงยิ่งทำให้เด็กรู้สึกด้อยคุณค่าในตัวเอง เราจึงไม่ควรตำหนิหรือซ้ำเติม สิ่งที่เราควรทำมากที่สุดคือ กลับมาเสริมสร้างSelf ให้ลูก บอกให้เด็กเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขา เขาไม่ใช่คนผิดและคุณค่าในตัวเขายังคงอยู่ พูดให้เด็กเกิดความหวังและกำลังใจว่าเราจะมาช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกัน 

 

3. ขอความร่วมมือและป้องกัน 

เก็บหลักฐานข้อเท็จจริงที่สามารถยืนยันได้ว่าลูกของเราโดนกลั่นแกล้งรังแก โดยเก็บรวมรวมให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อแจ้งกับทางโรงเรียนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำการขอนัดหมายเจรจาหาแนวทางการจัดการ และสร้างวิธีการป้องกันร่วมกันโดยมีหลักการคือให้เด็กได้รับประโยชน์มากที่สุด 

 

แนวทางการป้องกันที่พ่อแม่สามารถให้คำแนะนำกับลูกได้นั้นโดยทั่วไปแล้วควรบอกให้ลูกเมินเฉยหลีกเลี่ยงการเจอหน้ากัน สอนให้ลูกจัดการกับความโกรธ ให้ทางเลือกกับลูกว่าเมื่อโกรธอะไรที่ควรทำและไม่ควรทำอะไร บอกให้ลูกรู้ว่าสามารถไปหาคุณครูคนไหนได้บ้าง ที่สำคัญควรแนะนำลูกว่าสถานการณ์แบบไหนที่ลูกเจอคือสัญญาณ “ธงแดง” ที่หมายถึงการสัญญาณอันตราย เช่น การโดนล้อมรอบจากหลายคน เริ่มมีการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย หรือมีอาวุธ สถานการณ์แบบนี้ควรแนะนำให้ลูกป้องกันตัว ร้องขอความช่วยเหลือ และโทรหาคุณพ่อคุณแม่ทันที  
 

นอกจากนี้หากสาเหตุที่ลูกโดนกลั่นแกล้งรังแกนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรค หรือลักษณะทางร่างกายบางอย่าง เช่น เด็กมีภาวะออทิสติก เด็กมีการเรียนรู้บกพร่อง เด็กมีรูปร่างอ้วน ฯลฯ ให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกเข้ารับการดูแลรักษาไปพร้อมๆ กับการป้องกันในด้านอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นเป้าในการถูกกลั่นแกล้งรังแก 
 

4. คอยสังเกตถึงแม้ลูกไม่ได้บอก 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกของเราตกอยู่ในสถานการณ์การถูกกลั่นแกล้งรังแกหรือเปล่า เราสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรม อารมณ์ และร่างกายที่เปลี่ยนไปของลูก เช่น ลูกเริ่มเก็บตัวมากขึ้น เลี่ยงที่จะไปโรงเรียน หรือเลี่ยงที่จะเจอกับกลุ่มคนบางกลุ่ม มีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย เศร้า ดูกังวลใจ หรือกลับมาบ้านด้วยร่องรอยบางอย่างบนร่างกาย หากเป็นเช่นนี้ เราสามารถพูดคุยกับลูกได้ทันที เพราะอาจมีเหตุการณ์บางอย่างที่ลูกคุณกำลังเผชิญอยู่  

 

สุดท้ายนี้หากเราคอยเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สามารถให้ลูกมาพึ่งพิงได้เสมอ ทั้งมั่งคง ปลอดภัย น่าไว้วางใจ และเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตัวเขามากที่สุด สิ่งนี้ก็จะคอยเป็นเกราะที่เข้มแข็งและทรงพลังให้กับลูกๆของเรา ให้สามารถข้ามผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ไปได้อย่างแน่นอน 

 

บทความโดย ภณิชชา


สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่อยากฝึกฝนวิชาการเลี้ยงลูกเชิงบวก ฝึกวิธีการใช้ความสงบสยบปัญหาลูกทะเลาะกัน เราอยากแนะนำให้ลองเรียนฟรี ๆ ได้ที่ คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า นะคะ บอกเลยว่ามีทั้งคลิปละครให้ดูเป็นตัวอย่างแถมยังมีแบบฝึกหัดให้ลองทำ สนุกและได้ความรู้ที่ใช้ได้จริงกลับไปแน่นอนค่ะ

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa