window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

รับมือปัญหาลูกติดเกม ไม่ต้องดุแต่ได้ผล ต้องทำยังไง? 

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

รับมือปัญหาลูกติดเกม ไม่ต้องดุแต่ได้ผล ต้องทำยังไง? 

ปัญหาลูกติดเกม ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหายอดฮิตสำหรับเด็กยุคนี้ ที่เชื่อเลยว่าทำให้ชาวผู้ปกครองอย่างเราต้องเครียดจนปวดหัวอยู่หลายครั้ง และก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราควรจะแก้ไขปัญหานี้กับลูกของเราอย่างไรเหมือนกัน  

 

แต่วันนี้ พวกเราเน็ตป๊าม้า โครงการหลักสูตรเพื่อสอนวิชาเลี้ยงลูกเชิงบวกออนไลน์แก่ผู้ปกครอง (ฟรี!) จะมาไขคำตอบและให้วิธีที่ถูกต้องตามหลักเลี้ยงลูกเชิงบวกในการแก้ไขปัญหานี้กัน หากผู้ปกครองท่านไหนพร้อมแล้ว เราลองมาเปิด เฉลยวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกันเลย 

 

โดยปกติ หากเราใช้วิธีดุ ทำโทษ หรือยึดโทรศัพท์เด็กไปเลยเพื่อแก้ไขปัญหา แม้มันจะเป็นวิธีการที่ทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมได้ในเวลานั้น แต่มันก็ดูจะเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืนเท่าไหร่ เพราะนอกจากจะทำให้ตัวเด็กไม่พึงพอใจอย่างมากจนอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกแตกหักกันได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ วิธีนี้ดูจะเป็นวิธีที่ไม่ให้ความแฟร์ต่อตัวเด็กเท่าไหร่เหมือนกัน เพราะถ้าลองกลับมุมมองเป็นเด็กดู การที่อยู่ดี ๆ จะมีใครสักคนมาหยิบของสักอย่างที่เรากำลังใช้ออกไป หรืออยู่ดี ๆ กำลังจะทำอะไรสักอย่างสำเร็จ หรือกำลังมีความสุขกับอะไรสักอย่างอยู่แต่โดนขัดฟีล มันก็คงจะน่าหงุดหงิดใจไม่น้อย จึงไม่แปลกที่ลูกจะยิ่งไม่พอใจ ทำให้สุดท้ายอาจจะยิ่งต่อต้านเราและยังคงทำพฤติกรรมนั้นอยู่เรื่อย ๆ หรือเผลอ ๆ อาจยิ่งรุนแรงขึ้นกว่าเดิมด้วย 

 

การใช้การพูดคุยเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกัน เลยเป็นอีกหนึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นสิ่งที่เหมาะสมและควรทำที่สุดในสถานการณ์นี้ เพราะนอกจากจะเป็นวิธีที่สร้างความแฟร์ให้กับลูกและเรา และอาจจะเป็นวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรงอีกด้วย แถมยังเป็นแนวทางที่ช่วยบ่มเพาะการทำให้รู้จักการเคารพกติกาและรับผิดชอบในการกระทำของตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ลูกจะต้องเผชิญเมื่อออกไปอยู่ในสังคมข้างนอก 

 

โดยเริ่มต้น เราอาจจะเรียกลูกมาพูดคุยและสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่สร้างผลกระทบต่อตัวเราและลูก รวมถึงลองถามตัวลูกเองด้วยว่าลูกรู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองอย่างไร หรือถ้าอยู่ในจุดที่ผู้ปกครองรู้สึกว่าหนักมากแล้วจริง ๆ คือเด็กเริ่มขาดความรับผิดชอบ การเรียนแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้ อย่างเช่นกินข้าว อาบน้ำ หรือทำการบ้าน เราอาจจะสามารถสะท้อนให้ลูกเห็นได้เลยว่าเกมส่งผลกระทบกับเขาอย่างไร และเริ่มเข้าสู่การตั้งข้อตกลงร่วมกันต่อไป  


การสร้างข้อตกลง อยากแนะนำว่าให้คำนึงถึง 3 อย่างด้วยกัน นั่นคือ 

1. สร้างข้อตกลงเรื่องระยะเวลาในการเล่น 

หากพูดถึงเวลาที่เหมาะสมในการเล่นเกมต่อวัน สำหรับเด็ก ๆ แล้วจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ชม. ต่อวัน แต่ทั้งนี้อาจต้องคำนึงถึงเรื่องอายุของเด็กด้วย โดยยิ่งเด็กเล็ก ยิ่งไม่ควรให้เล่นเกมหรือใช้หน้าจอในระยะเวลานาน แต่สำหรับเด็กโต หรือวัยรุ่น เราอาจลองให้เด็กกำหนดเวลาเล่นได้ด้วยตัวเอง โดยที่อาจลองพิจารณาเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันอื่น ๆ ประกอบด้วย ซึ่งคำนึงถึงว่าให้เขาสามารถที่จะเล่นแบบที่ยังสามารถรับผิดชอบการเรียน การใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง จัดการเวลาทำการบ้าน เวลาอาบน้ำกินข้าวอย่างเป็นกิจลักษณะ อาจลองออกแบบตารางกิจวัตรประจำวันร่วมกันกับลูกได้เลย 

 

2. สร้างข้อตกลงโดยมีความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย

การสร้างข้อตกลงที่เราพูดกันนี้ เหมือนกับการสร้างกฎกติกา ที่ทั้งเราและลูก ๆ ต้องปฏิบัติตามนั้นร่วมกัน โดยกฎกติกาจะต้องเป็นสิ่งที่ทั้งเราและลูกต่างตกลงเห็นด้วยตรงกันแล้ว จึงเริ่มต้นใช้ข้อตกลงนั้นอย่างสม่ำเสมอ และหากคนใดที่ไม่ทำตามข้อตกลงที่วางร่วมกันเอาไว้ ก็จะมีสิทธิที่พูด ตักเตือน หรือทักท้วงได้ทั้งสองฝ่าย และจำเป็นต้องมีความเด็ดขาด หรือต้องมีผลกระทบจากการไม่ทำตามกฎที่วางเอาไว้อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน สามารถศึกษาเพิ่มเติมเรื่องวิธีการตั้งกฎกติกาที่จะต้องอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ได้ที่ คอร์สจัดเต็มของเน็ตป๊าม้า

 

โดยยิ่งกฎมีความละเอียดรอบด้านมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น ซึ่งการที่เราจะสามารถตั้งกฎได้อย่างเหมาะสมนั้น จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกคนในครอบครัว เพื่อให้ได้หลายมุมมอง โดยเฉพาะการได้คุยกับบุคคลที่มีความคิดที่อาจจะตรงข้ามกับเราเพื่อเกิดมุมมองใหม่ ๆ การพูดคุยกับลูกเลยเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะส่วนใหญ่เรามักจะไม่เข้าใจในมุมของลูกเท่าไหร่ว่าเขาคิดอย่างไร การได้คุยกับลูกจะช่วยปิดช่องโหว่ของกฎกติกาหรือข้อตกลง ทำให้กฎนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น

 

  • ตัวอย่างการสร้างข้อตกลง (ลูกวัยประถม) 

‘อาบน้ำ กินข้าวเย็น และทำการบ้านให้เสร็จก่อน 19.00 น. ถึงจะสามารถเล่นเกมได้ 1 ชม. ถ้าหากยังทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เสร็จ จะไม่อนุญาตให้เล่นเกมได้ในทุกกรณี’ 

ตอนเล่นเกมต้องเล่นในห้องนั่งเล่น (เพื่อให้อยู่ในสายตาเรา) และเล่นได้ไม่เกิน 1 ชม. เมื่อเล่นเสร็จแล้วต้องเอาโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตมาคืนที่ผู้ปกครอง

  • ตัวอย่างการสร้างข้อตกลง (วัยรุ่น) 

‘ขอให้ทำการบ้านเสร็จก่อน แล้วถึงจะเล่นเกม โดยการเล่นเกมสามารถเล่นได้ไม่เกิน 4 ทุ่มหลังจากทำการบ้านเสร็จ’

โดยหากเปิดประตูไปตอน 4 ทุ่มตรงแล้วยังเล่นเกมอยู่ จะขอยึดโทรศัพท์ / แท็บเล็ต / โน้ตบุ๊คในทุกกรณี 

เรียนรู้ตัวอย่างเพิ่มเติมในการสร้างข้อตกลงได้ที่ บทที่ 6 เทคนิคการทำตารางให้คะแนน ของคอร์สจัดเต็ม


โดยในช่วงแรกนั้น เราสามารถเตือนลูก ๆ ก่อนหมดเวลาเพื่อให้ได้เตรียมตัวก่อนต้องหยุดเล่นตามเวลาที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากการตั้งกฏนั้นก็ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เด็กต้องเริ่มรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น การช่วยทำให้เด็กทำตามกฏสำเร็จได้ ก็จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมใหม่ได้ไม่ยากจนเด็กรู้สึกท้อเกินไป ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถสร้างกฎให้แตกต่างกันได้ตามความเฉพาะตัวของลูกแต่ละคน และตามความสอดคล้องกับวัฒนธรรมของครอบครัว

 

3. ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัดแต่ไม่เคร่งเครียด

พ่อแม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎที่ตกลงกันไว้อย่างอย่างหนักแน่น หากเรามีการโอ่นอ่อน (เพราะสงสารลูก) หรือทำตามไม่ทำตามบ้าง หรือแอบแหกกฎบ้าง เด็กจะมองว่าข้อตกลงที่ได้ตั้งไว้ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ส่งผลทำให้เด็กก็อาจแหกกฎตาม และให้ความร่วมมือต่อเราน้อยลง ชาวผู้ปกครองอย่างเราเลยจำเป็นต้องใจเด็ดกับเรื่องนี้มาก ๆ นะคะ ถ้าไม่ทำแล้วจำเป็นต้องโดนบทลงโทษตามที่ตกลงไว้ เด็กก็ต้องได้รับโทษตามนั้น เพื่อทำให้เขาได้รู้จักการรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาทำ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีต่อไป (ศึกษาวิธีการลงโทษที่เหมาะสมได้ใน บทเรียนที่ 5 เทคนิคการลงโทษ ของคอร์สจัดเต็ม) และสิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่กันไปคือการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูก ๆ เสมอ หมั่นชื่นชมให้กำลังใจเมื่อลูกพยายามทำตามกฎจนสำเร็จ 

 

และหากผู้ปกครองท่านใดอยากเรียนรู้ หรือหาแนวทางการดูแลลูกเพื่อปรับพฤติกรรมการติดเกมเพิ่มเติม สามารถเข้ามาศึกษาฟรีกันต่อได้เลยที่ www.netpama.com 

 

บทความโดย: คุณนายข้าวกล่อง 

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa