window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

9 วิธีเลี้ยงลูกให้ติดเกม

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

9 วิธีเลี้ยงลูกให้ติดเกม

ทุกวันนี้งานของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพิ่มขึ้นมากมาย แม้ว่าอัตราการเกิดลดลง แต่กลับพบว่า เด็กๆ ยุคนี้มีปัญหาอารมณ์และปัญหาพฤติกรรมรุนแรงขึ้น หนึ่งในปัญหาที่พ่อแม่กำลังเครียดและหนักใจอันดับต้นๆ ณ เวลานี้ ได้แก่ ปัญหาลูกติดมือถือ ติดสื่อสังคมออนไลน์ และติดเกม

เด็กสมาธิสั้น (โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย) เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเด็กปกติทั่วไปที่จะติดเกม เพราะเด็กกลุ่มนี้ชอบความสนุก ตื่นเต้น ท้าทาย แต่มักจะขาดวินัยและควบคุมตัวเองไม่ได้ และเมื่อติดเกมแล้วอาการสมาธิสั้นจะยิ่งแย่ลง มีอารมณ์หงุดหงิด ดื้อ ต่อต้านมากขึ้น

หมอเขียนบทความมาหลายบทความ รวมทั้งให้สัมภาษณ์แนะนำพ่อแม่เรื่อง เลี้ยงลูกยังไงไม่ให้ลูกติดเกม ก็หลายครั้งมาก เลยรู้สึกเบื่อที่จะเขียนซ้ำๆ แบบเดิมๆ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผล วันนี้เลยอยากลองเปลี่ยนแนวดูบ้าง เผื่อว่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

9 วิธีเลี้ยงลูกให้ติดเกม มีอะไรบ้าง มาดูกัน

1. อนุญาตให้เด็กเป็นเจ้าของมือถือและสามารถเก็บมือถือไว้เอง

การซื้อมือถือให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก แล้วบอกว่าพ่อแม่ซื้อให้เป็นของของเค้า เค้าสามารถเก็บไว้กับตัวเอง เอาติดตัวไปไหนมาไหนได้ตลอดเวลา เป็นความพลาดข้อแรกของหลายบ้าน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วพ่อแม่อยากจะยึด หรืออยากจะไปยุ่งกับมือถือ"ของลูก" คิดเหรอว่าเด็กจะยอมง่ายๆ เมื่อมันเป็น"ของลูก"

สิ่งที่ควรพูด: "มือถืออันนี้เป็นของแม่ แม่ให้หนู-ยืม-ใช้เป็นครั้งคราว การที่แม่จะให้หนูยืมหรือไม่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของหนู และแม่จะเป็นคนอนุญาตเองว่าหนูจะได้ใช้หรือไม่ได้ใช้"  (สามารถเรียนรู้ทักษะการสื่อสารได้ที่บทที่ 2 ของ คอร์สจัดเต็ม)

2. ไม่มีการตกลงกติกา

การปล่อยให้ลูกเล่นเกมบนมือถือเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ นานแค่ไหนก็ได้อย่างอิสระ เป็นความพลาดที่พบได้บ่อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ

สิ่งที่ควรทำ: พ่อแม่จำเป็นต้องมีการสร้างกติการ่วมกันกับลูกก่อนเสมอว่า ลูกสามารถเล่นเกมได้วันไหนบ้าง เวลาไหนบ้าง เล่นได้ครั้งละไม่เกินกี่นาที ตั้งแต่เวลาไหนถึงเวลาไหน ก่อนจะเล่นได้ต้องรับผิดชอบทำอะไรบ้างให้เสร็จก่อน หากละเมิดกติกาจะต้องถูกทำโทษอย่างไร ตรงไหนบ้างที่ถูกกำหนดให้เป็น"พื้นที่ปลอดมือถือ" เช่น ห้องนอน โต๊ะทำการบ้าน โต๊ะอาหาร เวลาเดินอยู่ริมถนน ฯลฯ (เรียนรู้การสร้างกติกาที่เหมาะสมได้ใน คอร์สเรียนจัดเต็มของเน็ตป๊าม้า)

3. ใช้เกมเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็กแทนตัวพ่อแม่

"ไม่มีเวลา" เป็นคำตอบที่พ่อแม่ที่มีลูกติดเกมมักบอกกับหมอ หากพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก รอจนพวกเค้าติดงอมแงมแล้ว ลูกๆ ก็จะ"ไม่มีเวลา"ให้กับพ่อแม่เป็นการตอบแทนเช่นกัน

สิ่งที่ควรทำ: หมอรู้ว่าพ่อแม่ทุกคนรู้ว่าต้องทำยังไง แต่จะทำได้รึเปล่าหละ อยู่ที่พ่อแม่จะตัดสินใจเลือกอะไรระหว่าง...(เติมคำในช่องว่าง)...กับลูก

4. ละเลยการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว

หลายครอบครัวที่มีลูกติดเกม หมอพบว่ามักจะเป็นครอบครัวที่พ่อ แม่ ลูก อยู่กันคนละทิศละทาง ต่างคนต่างอยู่ แต่ละคนง่วนอยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจ ไม่ค่อยได้มีการทำกิจกรรมสนุกสนานด้วยกัน

สิ่งที่ควรทำ: พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีกิจกรรมทำยามว่าง เป็นกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินไม่แพ้การเล่นเกม หรือมากกว่าการเล่นเกม ซึ่งควรเป็นกิจกรรมที่ลูกชอบ และสามารถร่วมกันทำกิจกรรมนั้นๆ ได้ทั้งครอบครัวเพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่กับลูก หมอแนะนำเกมกระดาน (Board Game) ซึ่งในปัจจุบันมีมากมายหลายเกม ไม่ใช่มีแต่เกมเศรษฐี และแต่ละเกมก็สนุกมากๆ รับรองเลยว่าหากพ่อแม่ได้เล่นกับลูกบ่อยๆ ลูกอาจจะไม่สนใจที่จะเล่นเกมมือถือเลยก็ได้ ช่วงที่ลูกหมออยู่ในวัยเสี่ยงที่จะติดเกม หมอก็ได้เกมกระดานนี่แหละเป็นตัวช่วยให้ผ่านจุดนั้นมาได้

5. กลัวอารมณ์ลูกไม่อยากขัดใจลูก

พ่อแม่หลายคนอาจรู้สึกไม่ดีเวลาที่ต้องขัดใจลูก ไม่อยากให้ลูกเสียใจ หลายคนอาจรู้สึกผิดเพราะคิดว่าตนเองไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกจึงอยากชดเชยด้วยการยอมให้เล่นเกม บางคนเวลาเห็นลูกกรี๊ด กรีดร้องเวลาไม่ได้เล่นเกม ก็ตกใจ ลนลานทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะจัดการยังไง สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการยอมลูก เพียงเพื่อให้ลูกหยุดร้อง

สิ่งที่ควรทำ: ทบทวนอารมณ์ของพ่อแม่ว่ารู้สึกอย่างไรเวลาลูกกรี๊ด หาคำตอบให้ได้ว่าทำไมถึงต้องกลัวอารมณ์ลูก ถามและตอบตัวเองให้ได้ว่า อยากให้ลูกเสียน้ำตาในวันนี้หรือเสียอนาคตในวันหน้า

6. ขัดแย้งกันเองระหว่างผู้ปกครองในการจัดการกับพฤติกรรมเด็ก

เมื่อลูกขอเล่นเกม แม่อาจจะไม่ให้ แต่พ่ออาจตามใจ เวลาเกิดความขัดแย้งกันอย่างนี้ เด็กๆก็มักเลือกเข้าข้างฝ่ายที่ให้ประโยชน์กับเค้ามากที่สุด ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ได้ เช่น เค้าอาจรู้สึกว่าแม่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเค้า เป็นศัตรูกับเค้าไปเลย ต่อไปแม่จะพูดจะว่าอะไรเด็กก็จะไม่ฟัง แล้วก็วิ่งไปหาพ่อ หลายบ้านพ่อแม่อาจอยู่ข้างเดียวกัน แต่เด็กมีฝ่ายสนับสนุนที่แข็งแกร่ง อย่างเช่น ปู่ย่าตายาย

สิ่งที่ควรทำ: เคลียร์กันให้ดีๆ สื่อสารกันแบบสร้างสรรค์ ตกลงกันให้ได้ว่าอะไรคือกฎของบ้าน ซึ่งควรเป็นกฎเดียว

7. ได้แต่บ่นแต่ไม่เคยเอาจริง

เวลาที่ลูกเล่นเกมเกินเวลา สิ่งที่พ่อแม่มักจะทำเสมอแต่เป็นวิธีที่ไม่เคยได้ผล คือ การดีแต่บ่น เช่น “เล่นนานไปแล้ว” “เลิกได้แล้วนะ” “เมื่อไหร่จะเลิกซักที” "หนังสือหนังหาทำไมไม่รู้จักอ่านบ้าง" การพูดบ่อยๆ นอกจากจะไม่เคยได้ผลแล้ว ยังทำให้ลูกเกิดความรู้สึกว่า “บ่นอีกแล้ว...รำคาญ” ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้ลูกไม่อยากคุยด้วยและไม่อยากเจอหน้าพ่อแม่ เพราะคิดว่าจะต้องโดนดุ โดนบ่น พ่อแม่เองก็อาจไม่พอใจลูก และนำไปสู่การทะเลาะกัน

สิ่งที่ควรทำ: พูดให้น้อยลง ฝึกทำเสียงที่เด็กฟังแล้วรู้ว่าเรากำลังเอาจริง แต่ไม่ใช่เสียงที่ใช้อารมณ์ การลงโทษจริงจังตามกติกาที่ตกลงกันไว้เป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่าการบ่นอย่างเดียวแน่นอน (เรียนรู้วิธีการลงโทษที่เหมาะสมได้ใน บทที่ 3 การเทคนิคการลงโทษ ของ คอร์สเรียนจัดเต็ม)

8. ใจอ่อนเวลาเด็กต่อรอง

ธรรมชาติของเด็กมักจะชอบต่อรองกับพ่อแม่เสมอเมื่อหมดเวลาเล่น โดยมักจะพูดว่า “แป๊บนึง...ขออีก 10 นาที จะจบเกมแล้ว” ไปๆ มาๆ 10 นาทีที่ว่าก็อาจลากยาวเป็นครึ่งชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงเลยก็เป็นได้ ซึ่งพอต่อรองได้ครั้งหนึ่งก็มักจะมีครั้งต่อๆ ไป เพราะเด็กเค้ารู้ว่าพ่อแม่มักจะใจอ่อน การใจอ่อนอย่างนี้ไม่ได้มีผลเสียกับเรื่องเล่นเกมเท่านั้นนะครับ แต่จะมีผลต่อกฎเกณฑ์ทุกอย่างในบ้าน ถ้าลูกรู้ว่าพ่อแม่มักจะใจอ่อน มันก็จะเป็นเรื่องยากที่เค้าจะทำตามกฎกติกาที่วางไว้ เพราะคิดว่าเดี๋ยวค่อยต่อรองเอาทีหลังได้ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการรักษาระเบียบวินัยในตัวเองของเค้าในระยะยาว

สิ่งที่ควรพูด: "แม่เข้าใจว่าหนูกำลังสนุกกับเกม แม่ให้หนูเลือกว่าจะเลิกเล่นเกมตอนนี้ หรือจะยืมเวลาเล่นเกมของวันพรุ่งนี้มาใช้"

9. ตามเทคโนโลยีไม่ทัน

ละเลยในการแสวงหาและศึกษาแอปพลิเคชันสำหรับควบคุมการใช้งานออนไลน์ของลูก ไม่รู้วิธีตั้งค่าบนมือถือเพื่อติดตามและควบคุมการใช้งานเกินพอดีของลูก

สิ่งที่ควรทำ: ศึกษาวิธีใช้ function เวลาหน้าจอ (Screen Time) สำหรับผู้ใช้ IOS12 ขึ้นไป หรือวิธีติดตั้งแอป Google Family Link สำหรับผู้ใช้ Android ในการทำข้อตกลงกับลูกๆพ่อแม่ควรใช้ Family Media Plan จาก healthychildren.org เป็นตัวช่วย

หรือเรียนรู้เทคนิคการปรับพฤติกรรมลูกได้ที่ คอร์สเรียนจัดเต็มของเน็ตป๊าม้า มีทั้งคลิปวิดิโอตัวอย่างและแบบฝึกหัดให้เข้าใจวิธีการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมได้อย่างแน่นอน

 

เขียนและเรียบเรียงโดย รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล (จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และเจ้าของเพจ สมาธิสั้น แล้วไง)

ภาพประกอบโดย ศิรภัสสร เย็นจิตต์

 

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa