window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

ขอโทษนะลูก…แม่ไม่อยากเป็นแม่ที่ขี้โมโหเลย

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

วิธีการจัดการอารมณ์แม่และการสร้างวินัยให้ลูกเพื่อลดอารมณ์โมโห หรือโกรธของแม่
บทความโดย #มัมมี่Bชวนเมาท์ 


ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่า “แม่” นั้นไม่ง่ายเลย


แม่ต้องมีความรับผิดชอบภาระหลายอย่าง แม่บางคนเลี้ยงลูกคนเดียวเต็มเวลา ไม่มีวันหยุด ทุ่มเทให้ลูกจนชีวิตและความสุขของตัวเองหายไป


แม่บางคนต้องเป็นเสมือนเสาหลัก ต้องหาเงิน ดูแลลูก ดูแลค่าใช้จ่ายในบ้านแบกทุกอย่างไว้ภายใต้ความกดดัน 


ด้วยความเหนื่อยล้า ความเครียด ความคาดหวังกดดัน อารมณ์ที่กักเก็บไว้จนท่วมท้น ทำให้พลังกายพลังใจของแม่หมด ส่วนลูกเองบ่อยครั้งที่ไม่ได้ดั่งใจ ไร้ระเบียบ ไม่รับผิดชอบตัวเอง…


เมื่อแม่เหนื่อย แม่โกรธ แม่อาจเผลอใช้อารมณ์ลงกับลูก ตวาด เสียงดัง ประชดประชัน หรือตีลูก ยิ่งโกรธอารมณ์แม่ยิ่งแรง สุดท้าย… จบลงด้วยความเสียใจทุกที 


ในฐานะแม่คนหนึ่งเชื่อว่า…ไม่มีแม่ที่เลี้ยงลูกเองคนไหนที่ไม่เคยโมโหหรือทำผิดกับลูก และเชื่อว่าแม่ที่เข้ามาอ่านบทความนี้ คือ แม่ที่รู้ปัญหาและพยายามเหลือเกินที่จะแก้ไขและปรับปรุงอารมณ์ของตัวเอง


ไม่ใช่เรื่องผิดเลยหากแม่จะพลาด เรายอมรับแต่จะไม่ยอมแพ้ ไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดของเรากลายเป็นความเคยชินจนสุดท้ายกลายเป็นนิสัย


หลังระเบิดอารมณ์กับลูก ความโกรธของเราอาจจะหายไปได้ แต่สิ่งที่เหลืออยู่คือ รอยแผลในใจลูก และรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างเราแม่ลูก สะสมเป็นรอยลึกขึ้นทุกวัน ๆ และลูกคือกระจกสะท้อนของตัวเรา พ่อแม่มีนิสัยอย่างไร มักจะส่งผลกับนิสัยและพฤติกรรมของลูกเช่นเดียวกัน


วันนี้เรามี วิธีจัดการอารมณ์แม่ และการสร้างวินัยให้ลูกเพื่อลดอารมณ์โกรธของแม่มาฝาก
ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้

 

1.การจัดการอารมณ์แม่เมื่อโมโหหรือโกรธ


เมื่อแม่โกรธ ขอให้เริ่มด้วยการ ยอมรับและรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ยอมรับกับตัวเองว่าโกรธและโมโหอยู่ ตั้งสติ หายใจลึกๆ นับ 1-10 ถ้ายังไม่ไหว ให้บอกลูกไปตรงๆ และต้องแยกตัวเองออกมาก่อน 


การดุด่า หรือตีลูกรุนแรงมักจะเกิดจากการระบายความโกรธ แต่ไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริงในใจแม่ จึงมักจะทำให้แม่รู้สึกเสียใจภายหลัง


“แม่โมโหจริงๆที่กลับมาจากทำงานแล้วเห็นบ้านรกเลอะเทอะแบบนี้”

“ตอนนี้แม่โกรธมากนะ แม่จะไปอยู่อีกห้อง 10 นาทีเพื่อสงบอารมณ์ก่อน ระหว่างนี้แม่อยากให้ลูกเก็บของให้เรียบร้อย”


ขอโทษลูกจากใจจริงหากเราพลาดพลั้งไป และเมื่อแม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้แล้ว ค่อยจัดการพูดคุยกับลูก บอกความรู้สึกแม่และสิ่งที่แม่อยากให้เขาทำ (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเทคนิคป๊าม๊า message คอร์สจัดเต็ม บทที่ 2 เรื่อง ทักษะการสื่อสาร) 


สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ แม่ต้อง “ให้ความสุขกับตัวเองบ้าง” เวลาส่วนตัว ของกิน สิ่งที่เราชอบ วันละนิดก็ยังดี พลังกาย พลังใจที่เพียงพอจะทำให้แม่ไปต่อได้อย่างมั่นคง 


2.การดูแลสร้างวินัยและกฏกติกาภายในบ้านให้กับลูก


“การสร้างบ้านต้องใช้เวลา การสร้างวินัยให้ลูกก็เช่นกัน” 

แม้ต้องใช้เวลานานในการปลูกฝังและสร้างวินัยให้ลูกแต่คุ้มค่ามาก วินัยที่ดีจะทำให้พื้นฐานครอบครัวมั่นคงแข็งแรง 

การสร้างวินัยเชิงบวกให้ลูกไม่เพียงแต่จะได้วินัยที่ดีของลูก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับแม่ก็จะดีด้วยเช่นเดียวกัน


เทคนิคในการสร้างวินัยเชิงบวกให้ลูกมีมากมาย ยกตัวอย่างเช่น 


  • การทำตารางเวลากิจวัตรประจำวันสำหรับเด็กเล็ก กินนอน เป็นเวลา เล่นของเล่นแล้วต้องเก็บเข้าที่ เสื้อผ้าถอดต้องใส่ตะกร้า
  • การสร้างกติกาข้อตกลงในบ้านกับลูกที่เริ่มโต กำหนดเวลาทำการบ้าน อ่านหนังสือ เล่นเกม ใช้มือถือร่วมกัน 
  • การรับฟังที่ดี เปิดโอกาสให้ลูกได้ร่วมกำหนดกฏ กติกาในบ้านร่วมกัน
  • การชมที่พฤติกรรมดี ทำให้ลูกอยากทำดีต่อไป
  • การกำหนดการให้รางวัลและการทำโทษที่เหมาะสม โดยไม่ต้องดุด่า หรือตี คงความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกไว้ เช่น การปรับสิทธิ์บางอย่างของลูกตามที่เคยตกลงกันไว้ หรือ การทำดีเพื่อชดเชยความผิด

ข้างต้นทั้งหมดนี้ ถูกรวบรวมเป็นบทเรียนไว้ในคอร์สจัดเต็มของทาง Netpama สามารถเข้าไปเรียนได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายที่ คอร์สจัดเต็มของเน็ตป๊าม้า เป็นบทเรียนสั้น ๆ กระชับ เข้าใจง่าย ในแต่ละบทจะมีทั้งคลิปละคร ตัวอย่างคำพูด เข้าใจง่ายเอาไปใช้ได้เลยในชีวิตประจำวัน รับรองว่าได้ผลแน่นอนค่ะ !


เมื่อแม่ปรับลูกจะเปลี่ยน เราไม่ต้องเป็นแม่ที่ดีพร้อม แต่เราจะพยายามเป็นแม่ที่ดีขึ้นสำหรับลูกเสมอ netpama ขอเป็นเพื่อนร่วมทางในการเติบโตของทุกครอบครัวนะคะ 

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa