ทำอย่างไร หากลูกของเรารังแกคนอื่น
ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากได้ยินว่าลูกของตนเองนั้นถูกบูลลี่ พ่อแม่หลายคนล้วนใจสลายทุกครั้งเมื่อเห็นลูกของตนเองบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นจากการเล่นซนจนเป็นแผลหรือการประมาทของเด็ก ๆ เอง แต่คงเทียบไม่ได้กับการเห็นลูกถูกผู้อื่นรังแก ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูดหรือร้ายแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกาย และยิ่งไปกว่านั้น ความรู้สึกของพ่อแม่คงสับสนและเจ็บปวดมากขึ้นไปอีก หากได้รู้ว่าลูกของตนเองไม่ได้ถูกกระทำแต่กลายเป็นผู้กระทำการรังแกผู้อื่นสักเอง
ในยุคที่ทุกอย่างรวดเร็วไปหมด พ่อแม่หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า บูลลี่ ผ่านหูมาบ้าง แต่จริง ๆ แล้วการบูลลี่คืออะไรกันแน่?
คุณหมอมะเหมี่ยวหรือ พญ. มนิสสรา เกตุแก้ว จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้อธิบายถึงการบูลลี่ไว้ใน ‘Net PAMA Live : ลูกโดนบูลลี่ พ่อแม่ช่วยยังไงดี’ ว่าหมายถึง การกระทำของคนนึงที่กระทำกับอีกคนนึงโดยมักเกิดจากความต่างของอำนาจ และทำซ้ำอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเสียหายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ หรืออาจกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า เป็นการข่มเหง รังแกหรือกลั่นแกล้งอย่างรุนแรง โดยที่ผู้กระทำบางคนอาจกล่าวว่าการบูลลี่นั้นเป็นเพียงเพื่อการเล่นสนุกและสร้างความสัมพันธ์เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว การบูลลี่นั้นไม่ใช่การเล่น เนื่องจากความสนุกจากการเล่นต้องเกิดในทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เกิดแค่กับฝ่ายผู้กระทำเท่านั้น อีกทั้งการบูลลี่ไม่จำเป็นต้องเกิดจากบุคคลภายนอกเท่านั้นแต่ในครอบครัวก็สามารถแสดงพฤติกรรมที่เข้าข่ายการบูลลี่ได้เช่นกัน เช่น การที่คุณปู่ทักหลานว่า “ทำไมตัวดำจัง ไม่เหมือนพ่อเราเลย” ซึ่งคำพูดเช่นนี้ก็สามารถเป็นการบูลลี่ได้ หากส่งผลต่อจิตใจของหลาน
หลายคนมักมีภาพจำว่าเด็กที่บูลลี่คนอื่นนั้นเป็นเด็กเกเร นิสัยไม่ดี แต่แท้จริงแล้วสาเหตุของการบูลลี่นั้นมีหลากหลายและลูกหลานของเราเองก็อาจกลายเป็นผู้กระทำการบูลลี่คนอื่นได้เช่นกัน
สาเหตุของการบูลลี่นั้นสามารถแบ่งเป็นหัวข้อหลัก ๆ ได้ 6 สาเหตุ
- ความสนุกสนาน เด็ก ๆ ล้วนชอบความสนุกสนานเป็นปกติ แต่เมื่อเด็ก ๆ ไม่ได้รับการดูแลสั่งสอนให้เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การรังแกคนอื่นจึงนับเป็นเรืองสนุกอย่างหนึ่งเหมือนกัน
- ความกดดันจากหมู่เพื่อน เพราะเพื่อนถือเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของเด็ก ๆ หากเพื่อนทำพฤติกรรมกลั่นแกล้งคนอื่น เด็ก ๆ ย่อมทำตามเพื่อนเผื่อให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้
- ปัญหาภายในตนเอง เด็กบางคนอาจมีปัญหาที่ทำให้จิตใจหรือร่างกายของเขาไม่มั่นคง จนต้องหาวิธีที่จะชดเชยความไม่มั่นคงนั้นด้วยการใช้ความรุนแรงเพื่อควบคุมผู้อื่น ให้ตนเองมีที่ยืนในสังคม
- ต้องการแก้แค้นเอาคืน เด็กที่รังแกคนอื่นหลายคนล้วนเคยถูกรังแกมาก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าในเมื่อไม่มีใครสามารถช่วยตนเองได้ ตัวเขาเองก็ต้องรังแกคนอื่นเพื่อให้ดูแข็งแกร่งขึ้นและเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในสังคม
- ความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ เด็กบางคนอาจมีความบกพร่องด้านการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา ซึ่งเกิดได้จากการเลี้ยงดูหรือเป็นมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้อาจมีการใช้ความรุนแรงเวลารู้สึกไม่พอใจ ขาดความสามารถให้การยับยั้งชั่งใจ
- ต้องการอำนาจบางอย่าง ต้องการอยู่เหนือผู้อื่นหรือได้รับการยอมรับจากผู้อื่น โดยมักใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้อำนาจมาและนำไปชดเชยความบกพร่องในเรื่องต่าง ๆ
สาเหตุการบูลลี่ทั้ง 6 ข้อนี้อาจมีบางจุดที่ดูคล้ายกันเพราะสาเหตุแต่ละข้อล้วนสามารถเชื่อมโยงกันและนำไปสู่พฤติกรรมการบูลลี่ผู้อื่นได้ แล้วพ่อแม่ควรจะทำอย่างไรดีหากรู้ว่าลูกของตนเองบูลลี่ผู้อื่น
หัวใจสำคัญคือเรื่องของ ‘การสื่อสาร’ คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าถึงสถาการณ์และสาเหตุที่เขารักแกผู้อื่น โดยในขั้นตอนนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเปรียบตัวเองให้เป็นเหมือนกับกระจก สะท้อนแค่ความรู้สึกของลูกและคำพูดที่เขาเล่าโดยไม่เข้าไปสอน เพื่อให้เขากล้าเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา (คุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้การพูดสะท้อนความรู้สึกของลูกได้ทาง บทเรียนที่ 2 ทักษะการสื่อสาร ในคอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า)
บอกให้ชัดเจนว่าต้องการให้ลูกทำพฤติกรรมอะไร
หลังจากที่รับฟังเรื่องราวของลูกแล้ว เมื่อรับรู้ได้ว่าเขากระทำความผิดจริง คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูก ๆ แก้ปัญหาพฤติกรรมนี้ได้ด้วยการบอกเขาว่า เมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้เขาทำอย่างไรหรือสามารถพูดข้อความป๊าม้า เช่น “เมื่อมีคนอื่นมาขอเล่นด้วย แม่จะภูมิใจมากถ้าหนูให้เพื่อนเข้ากลุ่มมาเล่นด้วยกัน หนูจะเป็นคนที่มีน้ำใจมาก ๆ เลย” การบอกลูกที่ชัดเจนด้วยข้อความป๊าม้านี้จะช่วยให้เด็ก ๆ มีตัวเลือกในการแสดงพฤติกรรมมากขึ้น อีกทั้งเด็ก ๆ ยังเข้าใจการบอกให้ ‘ทำ’ อะไรได้ง่ายกว่าการ ‘ไม่ทำ’ อะไรอีกด้วย
(เน๊ตป๊าม้ามีการสอนเรื่องวิธีการพูด ข้อความป๊าม้า ไว้ในบทที่ 3 การชม ของคอร์สจัดเต็มนะคะ)
ให้ลูกรับผิดชอบผลของการกระทำนั้น
และแน่นอนว่า เมื่อลูกกระทำผิด การลงโทษนั้นสามารถทำได้ แต่ควรอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมและพอดี โดยคุณพ่อคุณแม่อาจให้เขาไปทำการขอโทษเพื่อนเพื่อเป็นการทำความดีชดเชย หรือหากพบว่าเป็นการบูลลี่ทางออนไลน์ก็สามารถทำการยึดโทรศัพท์ของลูกได้ แต่ควรมีเหตุผลและเวลากำหนดที่ชัดเจนว่าเขาถูกยึดเพราะอะไรและจะได้รับคืนเมื่อเขาแก้ไขการกระทำนั้นหรือเมื่อถึงเวลาเท่าไร
(การลงโทษแต่ละแบบเหมาะกับพฤติกรรมแต่ละแบบ คุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้วิธีลงโทษได้ในบทที่ 5 ของคอร์สจัดเต็มนะคะ)
การบูลลี่หรือรังแกผู้อื่น ไม่ใช่การกระทำที่เหมาะสม แต่ทุกการกระทำล้วนมีสาเหตุเสมอ ไม่ว่าสาเหตุนั้นจะยอมรับได้หรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยและเปิดโอกาสให้เขาได้อธิบายถึงสาเหตุของเขาก่อน เพื่อให้เราได้เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงและให้ลูกได้รับรู้ว่าเขามีพ่อแม่ที่คอยรับฟังเขาเสมอ และท้ายที่สุดแล้วบรรยากาศและกฎระเบียบในบ้านจะเป็นเหมือนต้นแบบให้เขาได้เข้าใจและเรียนรู้พฤติกรรมที่ถูกต้องเพื่อนำไปใช่กับสังคมข้างนอกต่อไป
เรียนรู้วิธีเลี้ยงลูกเชิงบวกกับเน๊ตป๊าม้าได้ที่: www.netpama.com
หรือดู ‘Live ลูกโดนบูลลี่ พ่อแม่ช่วยยังไงดี’ แบบเต็มได้ที่ : https://fb.watch/m-QSU9Kudh/
References
https://childmind.org/article/what-to-do-if-your-child-is-bullying/