เหตุผลที่วัยรุ่นไม่อยากปรึกษาพ่อแม่
เหตุผลที่วัยรุ่นไม่อยากปรึกษาพ่อแม่
เรียบเรียงโดย น้องตัวกลม
- เด็กวัยรุ่นมักเริ่มมั่นใจในตัวเองว่าสามารถแก้ปัญหาเองได้ เพราะเมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เขาจะมีความมั่นใจในการคิด ตัดสินใจ กล้าลองผิดลองถูก เห็นว่าตัวเองมีความสามารถมากพอจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของตัวเอง
- พ่อกับแม่เอาเรื่องราวของลูกไปพูดต่อให้กับใครหลาย ๆ คนฟัง ซึ่งสิ่งนี้ยิ่งทำให้ลูกรู้สึกถึงการที่พ่อแม่กำลังทำลายความไว้ใจที่เขามีให้กับเรา
- ไม่อยากถูกพ่อกับแม่บ่น หลายครั้งที่วัยรุ่นไม่อยากปรึกษาพ่อแม่ เพราะคิดตามประสบการณ์ในวัยเด็กว่าเวลามีปัญหาอะไร พ่อแม่ก็มักจะบ่น พูดจาไม่ดี ไม่เชื่อใจในตัวเขา หรือบางครั้งก็ตัดสินใจแทนอยู่บ่อยครั้ง
- ลูกกลัวว่าพ่อแม่จะเสียใจ ไม่อยากเห็นพ่อแม่เครียด ลูกจะคิดว่าการคุยการปรึกษาเป็นการเพิ่มความเครียดให้พ่อแม่มากขึ้น
- ลูกรู้สึกไม่สนิทกับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่หลายท่านเองก็ต้องออกไปทำงาน ทำให้เด็กหลายคนเติบโตมากับ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่เลี้ยง หรือแม้แต่ญาติ เขาเลยขาดความรู้สึกสนิทสนม ไม่คุ้นเคย เคอะเขินที่จะเล่าหรือปรึกษาให้เราฟัง
พ่อแม่ควรปรับตัวอย่างไร ให้ลูกอยากปรึกษาและพูดคุยกับเรามากขึ้น
- ลดการตำหนิลง - อนุญาตให้ลูกแสดงความคิดเห็น รับฟังปัญหาของลูกให้มากขึ้น ลดบทบาทจากการเป็นผู้นำสายเผด็จการของบ้าน มาเป็นเพื่อนร่วมคิดให้มากขึ้น
- หาเวลาใกล้ชิด - อาจจะทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้นก่อน หรือพาลูกไปในสถานที่ที่เขาชอบ ชวนลูกพูดคุยในเรื่องที่เขาสนใจ เพื่อสร้างความคุ้นเคย เหมือนค่อยๆ เรียนรู้กันใหม่เลยค่ะ
- ชื่นชม - แสดงออกให้ลูกเห็นชัด ๆ ว่าพ่อกับแม่ภูมิใจในตัวเขาเวลาที่ลูกแก้ปัญหาได้ดี หรือหากลูกแก้ปัญหาไม่ได้ดีดั่งใจเรา ก็เปลี่ยนจากการตอกย้ำลูก เป็นการให้กำลังใจลูกแทน แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าลูกจะตัดสินใจอย่างไร เมื่อเขาหันมาเขาจะเจอพ่อกับแม่ที่อยู่ข้างๆ เขาเสมอค่ะ
- หากเจอปัญหาที่หนัก - สิ่งแรกเลยคือพ่อและแม่ควรตั้งสติ ไม่ตีโพยตีพาย หรือแสดงความตกใจแบบโอเวอร์มากเกินไปค่ะ เพราะในช่วงเวลานี้ลูกจะต้องการความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ให้ลองมองว่าเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสค่ะ ไม่ทำให้ลูกรู้สึกถูกทิ้งขว้าง ทำให้ลูกรู้ว่าเราสามารถที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหาไปด้วยกันได้
- ฝึกพูดคุยกับลูก - บางครั้งเด็กวัยรุ่นก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย เพียงแค่ชวนคุยและรับฟังในสิ่งที่ลูกสนใจในตอนนั้น ๆ แสดงความเป็นห่วงจิตใจของลูกให้มากขึ้น เช่น วันนี้แต่งตัวสวยเชียวนะ หรือ วันนี้ลูกดูเหนื่อย ๆ มีอะไรเล่าให้แม่ฟังได้เสมอเลยนะ แสดงให้ลูกเห็นว่าคุณชอบแค่ไหนที่ได้รับฟังเรื่องราวของเขา เช่น เวลาลูกเล่าอะไรให้ฟังสนุกดีนะ พ่อกับแม่ชอบมากเลยเวลาลูกมาเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟังพรุ่งนี้มาเล่าให้ฟังใหม่นะ
หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดต้องการเรียนรู้วิธีการสื่อสารเชิงบวกเพิ่มเติม เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตให้กับลูก สามารถมาเรียนได้ฟรีๆ ที่ คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า มีทั้งคลิปละครที่เข้าใจง่ายมากๆ ค่ะ และยังมีแบบฝึกหัดให้ลองทำด้วยน้า น้องตัวกลมมั่นใจว่าได้ความรู้ที่ใช้ได้จริงกลับไปอย่างแน่นอนค่ะ