ลูกชอบประชดว่า “ไม่รักพ่อ/แม่แล้ว” จะตอบอย่างไรดี
ลูกชอบประชดว่า “ไม่รักพ่อ/แม่แล้ว” จะตอบอย่างไรดี บทความโดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ
มีพ่อแม่หลายๆคนมาปรึกษาหมอด้วยเรื่อง พฤติกรรมของลูก และบ่อยครั้งพ่อแม่มักจะมาปรึกษาเรื่องลูกพูดไม่ดีด้วย ฟังแล้วเสียใจ จะตอบยังไงดี ถ้าลูกบอกว่า
"หนูโกรธแม่แล้ว ไปเป็นลูกคนอื่นดีกว่า"
"ไม่รักพ่อแล้ว"
"เกลียดๆๆ เกลียดแม่ที่สุดเลย"
"ไม่อยู่บ้านแล้ว จะหนีไปไกลๆ"
หมอคิดว่าคุณพ่อคุณแม่หลายๆคน คงเคยได้ยินประโยคนี้จากลูก เมื่อเราได้ยินคำพูดแบบนี้ ช่วยไม่ได้ที่หลายครั้งพ่อแม่จะเสียใจและน้อยใจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อได้ยินคำพูดเช่นนั้น
แต่จริงๆแล้วคำพูดเช่นนี้ เป็นคำพูดที่เจอได้เป็นปกติธรรมดา ที่คนเป็นพ่อเป็นแม่มักจะได้ยินคำพูดไม่ดีจากลูกสักครั้ง หรือถ้าพ่อแม่เองลองคิดย้อนไปในวัยเด็ก บางครั้ง เราก็อาจจะจำได้ว่าเราไม่ชอบในสิ่งที่พ่อแม่ของเราทำแล้วอาจจะพูดอะไรไม่ดีออกไป
ในความเป็นจริง แม้จะพูดคำว่า เกลียด ไม่รัก แต่เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้หมายความตามคำพูดนั้น คำพูดที่เกิดขึ้นมักมาจากอารมณ์ที่โกรธไม่พอใจ กับอะไรบางอย่าง ทำให้พูดแบบนั้นออกไป เด็กไม่ได้หมายความว่าจะเกลียด ไม่รัก จริงๆ หมอจึงไม่อยากให้พ่อแม่เข้าใจปฏิกริยาแบบนี้ ว่ามันเกิดเพราะอารมณ์ ถ้าเข้าใจ จะได้ไม่เป็นอารมณ์กับคำพูดแบบนี้ของลูกมากนัก
เพราะเมื่อเราเป็นอารมณ์มากกับคำพูดไม่ดี พ่อแม่รู้สึกโกรธ โมโหมาก น้อยใจมาก ก็ทำให้อารมณ์มีอิทธิพลกับพฤติกรรม บางครั้งก็อาจจะพูดไม่ดีตอบกลับลูกไป เช่น "เออดี ไม่ต้องมาเป็นแม่ลูกกันแล้ว ตัดขาดกันไปเลย" อะไรแบบนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง คุยกันไม่รู้เรื่อง
ถ้าลูกโกรธหงุดหงิด และมีคำพูดแสดงความไม่พอใจกับเรา สิ่งที่เราควรทำก็คือ ให้ความเข้าใจยอมรับในอารมณ์ที่เกิดขึ้นของลูก เป็นอย่างแรก บอกลูกว่า "พ่อ/แม่รู้ว่าลูกกำลังโกรธอยู่" และรอให้เขาสงบสติอารมณ์ เมื่ออารมณ์เย็นลง ก็ค่อยคุยกันดีๆ
พ่อแม่บอกเขาได้ว่าพ่อแม่ก็รู้สึกไม่ชอบที่ได้ยินคำพูดแบบนั้นของลูก แต่ก็อย่าลืมบอกเขาว่าเราเข้าใจความรู้สึก
ลูกก็จะรู้ว่าพ่อแม่เองก็ใส่ใจเขา และเข้าใจความรู้สึกเขา ทำให้เด็กมองเห็นตัวเองมากขึ้น เริ่มเข้าใจว่าเวลาที่เขาโกรธ อาจจะมีแนวโน้มที่ทำให้พูดจาไม่ดี ต่อไปเขาก็จะรู้ตัว เข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น นำไปสู่การจัดการที่เหมาะสม
แต่ต้องเริ่มที่ ผู้ใหญ่ให้ความเข้าใจกับอารมณ์เขาก่อน
การแสดงออก การกระทำที่เกิดขึ้น คำพูดที่ออกมา ล้วนแล้วแต่มีสาเหตุและที่มาที่ไป ถ้าพ่อแม่พยายามทำความเข้าใจ ก็จะไม่ไปเพ่งเล็งที่การแสดงออกของลูกมากเกินไป ควรไปดูที่สาเหตุและไปแก้ไขที่สาเหตุมากกว่า
เมื่อเข้าใจ อะไรๆก็จะง่ายขึ้น และความเข้าใจกันและกันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
และคุณพ่อคุณแม่สามารถมาฝึกฝนวิชาการสื่อสารกับลูกเชิงบวกแบบฟรีๆได้ที่ www.netpama.com ได้เสมอเลยค่ะ