window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

ลูกติดมือถือมากก้าวร้าวไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างขาดความรับผิดชอบพ่อแม่แก้อย่างไรให้ได้ผล !

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ลูกติดมือถือมากก้าวร้าวไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างขาดความรับผิดชอบพ่อแม่แก้อย่างไรให้ได้ผล ! 

 

“บ่น ดุด่า ต่อว่าลูก ขู่และยึดมือถือ กักบริเวณหรือพาลูกไปเรียนพิเศษเยอะๆจะได้ไม่ว่าง“ นี่คือการแก้ปัญหาการติดมือถือที่พบบ่อยๆ ซึ่งได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างและนับวันปัญหายิ่งหนักหนาและเรื้อรังใช่ไหมคะ

 

ปัญหาปวดใจที่เจอกันหลายบ้าน มีหลายเหตุผลที่พ่อแม่ตัดสินใจหยิบยื่นโทรศัพท์มือถือให้กับลูกของเรา เริ่มต้นอาจเป็นเครื่องมือเพื่อการติดต่อ เป็นตัวช่วยหนึ่งในการเลี้ยงลูก หรือให้เป็นรางวัลตามลูกขอเมื่อทำอะไรบางอย่างสำเร็จเพราะทนลูกรบเร้าไม่ไหว

 

อันที่จริงแล้ว การใช้มือถือหากมีข้อตกลงกับลูก “กำหนดกติกาและจำกัดเวลาในการเล่นชัดเจน" โดยเลือกแอปพลิเคชันให้เหมาะสมตามวัยของลูก ก็ดูไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากไม่มี “การควบคุมดูแล” มักจะเป็นต้นเหตุของปัญหาหนักใจให้กับเราในอนาคตอย่างแน่นอน

 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกของเราเริ่มจะติดมือถือมากเกินไป นั้นคือ ตื่นมาอย่างแรกที่ต้องหยิบจับคือมือถือ เล่นทั้งวันทั้งคืน ละเลยไม่สนใจคนรอบข้าง ขาดสังคมในชีวิตจริง ปวดหัว หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์ร้อน โมโหง่าย นอนไม่หลับ ไม่ดูแลตัวเอง ขาดความรับผิดชอบทั้งในงานตัวเองและงานบ้านที่ได้รับมอบหมาย

 

ปัญหาติดมือถือสำหรับลูกเล็กๆพ่อแม่อาจรู้สึกว่าควบคุมง่ายเพียงแค่ยึดอุปกรณ์ก็จบ แต่พอลูกเริ่มโตหรือเข้าสู่วัยรุ่นจะเริ่มไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ เพราะลูกจะไม่ยอม ต่อต้านก้าวร้าวรุนแรงจนพ่อแม่เริ่มรู้สึกสูญเสียการควบคุมไม่สามารถจัดการลูกต่อไปได้อีก เพราะมือถือนั้นได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเขาไปแล้ว

 

วันนี้เรามีแนวทางแนะนำพ่อแม่ในแก้ไขปัญหาช่วยลูกติดมือถือมาแนะนำกันค่ะ

 

ใช้ความรักความเข้าใจตั้งต้นในการแก้ไขปัญหา 

ข้อนี้สำคัญมากๆ คือพ่อแม่ต้องไม่โทษว่าเป็นความผิดลูก แต่ต้องเปิดใจยอมรับว่า การที่ลูกติดมือถือนั้น เริ่มต้นจาก “ตัวเรา” ที่หยิบยื่นมือถือให้ลูกโดยไม่ได้ควบคุมการใช้อย่างเหมาะสม การแก้ไขต้องใช้ความอดทนและความสม่ำเสมอซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของ "ทั้งเราและลูก" ที่จะต้องร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหานี้ไปด้วยกัน

 

สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกก่อนลงมือแก้ปัญหา

ย้ำความสำคัญของข้อนี้มากๆ เพราะหากเริ่มด้วยความสัมพันธ์ที่ติดลบ ลูกจะต่อต้านและจะไม่เชื่อฟังเรา

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเริ่มได้โดย ใช้เวลากับลูกให้มากขึ้น ชวนลูกพูดคุยในเรื่องทั่วไปที่ลูกสนใจ หยุดการบ่นขู่ต่อว่า แต่ให้เปิดใจรับฟังลูกให้มาก ถามถึงความสนใจด้านต่างๆของลูก ชวนลูกพูดคุยถึงแอพพลิเคชั่นที่ลูกใช้ รับฟังโดยไม่ตัดสิน ทำให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่รับฟังเขาและเราเป็นทีมเดียวกัน

 

พ่อแม่หลายคนอาจเลือกใช้วิธีง่ายๆเช่น ใช้อำนาจยึดอุปกรณ์โดยไม่พูดคุยทำความเข้าใจกับลูก สิ่งนี้อาจได้ผลได้ระยะสั้น แต่จะทำร้ายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกอย่างมากในระยะยาว และไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ผลอีกเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น 

 

หากเริ่มความสัมพันธ์ที่แย่นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้วจะยิ่งส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์อื่นๆระหว่างพ่อแม่และลูกอีกด้วย

 

เปิดใจพูดคุยและรับฟังลูกเพื่อหาสาเหตุของการติดมือถือ

พ่อแม่ต้องเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำลูกติดมือถือ ลูกเล่นอะไร ลูกติดอะไร โซเชี่ยลหรือเกม และสิ่งที่ลูกเล่นอยู่นั้นเป็นอย่างไร ทำไมลูกถึงชอบและใช้เวลากับมันนานมาก ฟังลูกให้จบเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เช่น ลูกเบื่อ ไม่มีกิจกรรมอื่นทำ ขาดวินัย ไม่มีสังคม โดนกลั่นแกล้ง หรือ ภาวะทางจิตใจบางอย่างของเด็กเองเช่น เหงา โดดเดี่ยว  เครียด หรือสมาธิสั้น เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมด้วยกันกับลูกต่อไป

 

สื่อสารกับลูกด้วยเทคนิค I message (ข้อความป๊าม้า)

เน้นบอกความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีต่อการติดมือถือของลูกโดยไม่ต้องดุด่าพร่ำบ่นตัวเขา แสดงให้ลูกรู้ว่าที่พ่อแม่เตือนเพราะความรักและความห่วงใยที่มีให้กับลูก

 

“แม่ฟังลูกแล้วเข้าใจจริงๆว่าการเล่นมือถือให้ความสุขกับลูกมาก ลูกได้เพื่อนออนไลน์เยอะแยะ แต่แม่รู้สึกเป็นห่วงจริงๆที่ลูกอยู่กับมือถือทั้งวัน ไม่ดูแลตัวเองไม่สนใจคนรอบข้าง บกพร่องในงานตัวเอง  ลูกว่าเราจะแก้ปัญหานี้ไปด้วยกันยังไงดีจ๊ะ “

(พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถเรียนรู้วิธีการสื่อสารข้อความป๊าม้ากับลูกได้ใน คอร์สจัดเต็ม บทที่ 2 ทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร)

 

หาทางออกร่วมกันกับลูก 

หลังจากทั้งเราและลูกเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกันแล้วให้หาทางออกร่วมกัน ควรเปิดโอกาสให้ลูกในการแก้ไข ร่วมกำหนดกติกาและเวลาในการใช้มือถือ และผลที่จะตามมาหากไม่ปฏิบัติตามทำข้อตกลง โดยการนำข้อมูลที่ได้จากการคุยกับลูกมาร่วมในการตัดสินใจ อย่าหักดิบในการใช้มือถือลูกโดยทันที แต่ให้ค่อยๆ ลดการใช้ลงทีละน้อยจนอยู่ในระดับที่พอเหมาะและเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย

 

ใช้เวลาร่วมกันกันลูก

หากิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจใช้เวลาร่วมกันกับลูก ใช้ข้อมูลจากการคุยกับลูกหาสิ่งที่ลูกชอบเบี่ยงเบนดึงดูดความสนใจลูกออกจากมือถือ เช่น เลี้ยงสัตว์เลี้ยง การออกไปปิคนิค พาลูกไปเที่ยวนอกบ้าน ชวนลูกทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะ และ อื่นๆ ที่ลูกชอบ 

 

เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก 

หากพ่อแม่เรียกให้ลูกเลิกเล่นมือถือในขณะที่ตัวเองยังคงใช้มือถืออยู่ตลอดเวลานั้นคงยากที่จะทำให้ลูกเชื่อฟัง ถึงแม้จะมีเหตุผลเรื่องการใช้มือถือทำงานหรือเพื่อผ่อนคลายก็ตาม แต่หากต้องการแก้ปัญหาการติดมือถือของลูกจริงจัง พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกดูว่า พ่อแม่เองก็ทำได้และเป็นตัวอย่างที่ดี แบ่งเวลาที่จะวางมือถือลงและให้ความสนใจกับลูกเต็มที่เช่น เวลาทานข้าว พูดคุย หรือเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกันกับลูก 

 

การแก้ปัญหาติดมือถือของลูกนั้นไม่ง่ายเลยและใช้เวลาค่ะ แต่หากพ่อแม่ตั้งใจจริง โดยตั้งต้นด้วย “ความรักและความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก” โดยใช้ความอดทนและความสม่ำเสมอพยายามไปด้วยกันกับลูก เราทำได้แน่นอน หรือหากคุณพ่อคุณแม่อยากได้วิธีการปรับและแก้ปัญหาพฤติกรรมของลูก แนะนำ คอร์สเรียนจัดเต็ม ของเน๊ตป๊าม้า คอร์สเรียนฟรีที่จะเป็นตัวช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ปรับพฤติกรรมลูกได้อย่างตรงจุดและถูกวิธี

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa