พี่น้องทะเลาะกัน ปัญหาคู่ใจในครอบครัวที่มีลูกหลายคน
พี่น้องทะเลาะกัน ปัญหาคู่ใจในครอบครัวที่มีลูกหลายคน
คนเป็นพ่อเป็นแม่มักอยากเห็นลูกมีคนที่พร้อมจะเป็นเพื่อนคู่คิด ค่อยช่วยแบ่งเบา แบ่งปันและช่วยเหลือแก้ปัญหาไปด้วยกัน รู้สึกห่วงใยและรักลูกเราเหมือนกับคนในครอบครัว โดยสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ความคาดหวังนี้ได้ไม่มากก็น้อยนั้นก็คือ การมีพี่น้องให้แก่ลูก ๆ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพี่น้องหลายคู่ก็มักพูดเหมือนกันว่าเมื่อมองย้อนกลับไปตนเองรู้สึกโชคดีที่มีอีกคนอยู่ แต่กว่าจะมาถึงจุดนั้นได้ เชื่อว่าพ่อแม่ก็จะพบเจอกับความปวดหัวของการมีเด็ก ๆ หลายคนอยู่ในบ้านหลังเดียวกันไม่มากก็น้อย หนึ่งในนั้นคือปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งของพี่น้อง
บทความนี้เลยจะมาช่วยบรรเทาความปวดหัวของคุณพ่อคุณแม่ ด้วยการแบ่งปันแนวทางวิธีรับมือกับปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน ซึ่งเมื่อเข้าใจมากขึ้นแล้วจะสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างไม่ยาก
- การทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติและสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะว่าเด็ก ๆ แต่ละคนที่เติบโตมาก็เปรียบเสมือนผ้าที่มีจุดสีหลากสีแต้มอยู่ พวกเขามักมีนิสัย พฤติกรรมและความต้องการที่ไม่เหมือนกันแม้จะเติบโตในครอบครัวเดียวกันก็ตาม จึงไม่เแปลกที่จะเกิดความขัดแย้งกันบ้างเป็นธรรมดา การทะเลาะกันของลูก ๆ แม้จะทำให้พ่อเครียดแม่ปวดหัวไปบ้างแต่การทะเลาะกันแต่ละครั้งจะเป็นประสบการณ์ให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะจัดการปัญหา ควบคุมอารมณ์ เรียนรู้ความต้องการของคนอื่นและรวมถึงการให้อภัย โดยมีผู้ใหญ่ในบ้านคอยเป็นกรรมการที่มีความยุติธรรมและสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการรับมือกับความขัดแย้งของเด็ก ๆ ได้
- การทะเลาะกันเพื่อแย่งความสนใจของพ่อแม่ คุณพ่อคุณแม่อาจทำพฤติกรรมที่สร้างรอยร้าวระหว่างพี่น้องโดยไม่รู้ตัว เช่น การพูดว่า “น้องยังพูดรู้เรื่องกว่าหนูเลยนะ” หรือ “ตอนพี่เขาอายุเท่าเราเขาได้เกรดสูงกว่านี้อีกนะ” คำพูดเปรียบเทียบระหว่างพี่น้องเช่นนี้เหมือนเป็นการสะสมทัศนคติที่ไม่ดีต่อกันให้แก่ลูก ๆ โดยที่พ่อแม่อาจจะไม่ทันรู้ตัว และนำไปสู่ความรู้สึกอิจฉา ต้องการความรักจากพ่อหรือแม่ และทะเลาะกันรุนแรงได้ และอาจดำเนินไปถึงการเข้าหน้ากันไม่ติดถึงแม้ทั้งคู่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม คุณพ่อคุณแม่จึงควรมอบความรักความเข้าใจให้ลูกแต่ละคน เพื่อให้พวกเขารับรู้ถึงความรักและคุณค่าของตัวเองไม่น้อยไปกว่ากัน โดยอาจเริ่มจากการทำสิ่งง่าย ๆ เช่น การชื่นชมให้กำลังใจลูกแต่ละคน การกอดกัน ไปจนถึงการทำ one on one time กับลูกแต่ละคนเพื่อเป็นการใช้ช่วงเวลาพิเศษกับลูก ๆ และเป็นเครื่องยืนยันว่าเขาได้รับความสนใจจากพ่อแม่เหมือนกับพี่หรือน้องของตนเอง
- หากสถานการณ์มีความรุนแรง การลงโทษเมื่อทะเลาะกันก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ควรใช้ วิธีที่เหมาะสม และการลงโทษนั้นต้องไม่มีการใช้ความรุนแรง โดยหนึ่งในวิธีที่เรามักได้ยินมาบ่อย ๆ นั้นคือการทำ Time out หรือการเข้ามุมสงบ โดยการทำ Time out สามารถทำได้ในเด็กเล็กไปจนถึงช่วงก่อนวัยรุ่น หากลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นแล้วควรปรับใช้ให้เหมาะกับช่วงอายุ ซึ่งการลงโทษในวิธีนี้จะเหมาะสมกับพฤติกรรมที่มีการใช้ความรุนแรง อาละวาด แย่งของเล่นหรือตีคนอื่น ในการใช้เทคนิคการลงโทษนี้คุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้ลูก ๆ เข้าใจว่าทำไมเขาถึงถูกลงโทษและพ่อแม่คาดหวังพฤติกรรมอะไรเมื่อเขาอยู่ในมุมสงบด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาในมุมสงบไปกับการรู้จักจัดการอารมณ์และคิดทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำ คุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการเข้ามุมสงบได้ใน บทที่ 5 ของ คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า
- ให้คำชมเมื่อพี่น้องทำพฤติกรรมที่เหมาะสม คำชมนั้นเปรียบเหมือนเป็นเวทมนต์วิเศษหากรู้จักใช้อย่างถูกวิธี คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้การชมที่เจาะจงถึงพฤติกรรมที่ดี และบอกความรู้สึกของตนเอง เช่น “การที่หนูแบ่งของเล่นให้น้องเล่นแบบนี้ แม่ดีใจมากเลย” หรือ “การที่หนูขอพี่เล่นของเล่นดี ๆ หนูทำถูกแล้วนะ พ่อชอบมากเลย” โดยการชมแบบนี้จะเรียกว่าการสื่อสารแบบ ป๊าม้า message จะช่วยส่งเสริมให้ลูก ๆ ทำพฤติกรรมที่ตนเองถูกชมบ่อยยิ่งขึ้น คำชมจึงเป็นสิ่งที่จะทำให้ลูก ๆ อยากทำพฤติกรรมดี ๆ นั้นต่อไป
การทะเลาะกันของพี่น้องคงไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นเรื่องดีแต่ทุกการทะเลาะนั้นจะช่วยสอนทั้งลูก ๆ และตัวของพ่อแม่ได้รู้จักวิธีการรับมือและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในการลงโทษ พ่อแม่ควรคำนึงเสมอว่าการลงโทษและการชมแต่ละรูปแบบก็เหมาะสมกับพฤติกรรมที่แตกต่างกัน หากเลือกจับคู่ผิดอาจทำให้พฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกรุนแรงยิ่งขึ้นและทำให้พ่อแม่ปวดหัว เหนื่อยใจหนักกว่าเดิม
คุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีกาลงโทษ การเลี้ยงลูกและการจัดการกับๆฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่าง ๆ ได้ทาง บทเรียนคอร์สจัดเต็มของเน๊ตป้าม้า
บทความโดย คุณจิ้งจอก