ลูกกำลังเข้าวัยรุ่น! ดูแลยังไง เข้าหายังไงดี ?
พอลูกเริ่มเข้าสู่ช่วงประถมปลาย เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนคงตกใจกับการเปลี่ยนแปลงของลูกในช่วงนี้เหมือนกัน เพราะจากที่ลูกเราเคยพูดอะไรไปก็เชื่อฟัง ว่านอนสอนง่าย ตอนนี้กลับกลายเป็นพอจะพูดให้ทำอะไรในรูปแบบเดิม ลูกกลับไม่ทำหรือทำตรงกันข้ามซะงั้น! หรือหลายคนอาจเริ่มสังเกตได้ว่าลูกเริ่มอยู่กับตัวเองมากขึ้น อยากได้พื้นที่เป็นของตนเอง เริ่มติดเพื่อนมากขึ้นและเริ่มติดเราน้อยลง
.
เหตุการณ์นี้อาจไม่ได้แปลว่าลูกเรามีปัญหาแต่อย่างใดค่ะ แต่นี่คืออาการของเด็กที่กำลังเติบโต กำลังเปลี่ยนผ่านจากช่วงวัยเด็ก เข้าสู่ช่วง ‘วัยรุ่น’ นั่นเอง
.
และเชื่อเหลือเกินว่ามาถึงจุดนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงอยากรู้เหมือนกันว่า ในฐานะพ่อแม่ ที่เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของลูก ที่อาจจะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง ‘ครั้งยิ่งใหญ่’ นี้ เราควรจะมีวิธีการเลี้ยงดูเขาอย่างไร หรือเข้าหาเขาอย่างไร เพื่อทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกยังคงดีดังเดิม หรือดียิ่งขึ้น ทำให้เรากับลูกยังคงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงนี้
.
#เข้าใจความเป็นวัยรุ่น
โดยปกติเด็กจะเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นในช่วงวัย 10-19 ปี (อ้างอิงจาก WHO) ซึ่งจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายบางอย่างเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ ไม่ว่าจะเป็นเสียงแตก หน้าอกใหญ่ อวัยเพศใหญ่ขึ้น (ในเพศชาย) หรือมีประจำเดือน มีหน้าอก สรีระเริ่มมีทรวดทรงเหมือนเป็นสาว (ในเพศหญิง) และหากลองลงลึกไปที่สมอง ในช่วงวัยรุ่นนี้สมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรู้คิด การวางแผน และการควบคุมอารมณ์ กำลังเริ่มเติบโตและพัฒนามากขึ้นอย่างก้าวกระโดด หากเทียบกับช่วงวัยเด็กที่อาจจะยังเติบโตช้า และมักจะใช้สมองส่วนอารมณ์มากกว่า
.
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ฮอร์โมน และสมองนี้ เลยเป็นสาเหตุทำให้วัยรุ่นมักจะมีความหุนหันพันแล่น มีความขึ้นและลงของอารมณ์ได้ง่ายเพราะกำลังหัดควบคุมอารมณ์อยู่จากการพัฒนาของสมองและร่างกายที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว
.
นอกจากนี้ หากเราพูดถึงเรื่องของพัฒนาการ เด็กที่กำลังเติบโตอยู่ในช่วงวัยรุ่นนี้จะเริ่มพัฒนาเรื่อง ‘ตัวตน (Identity)’ ของตนเองด้วยเช่นกัน คือเริ่มอยากค้นหาความเป็นตนเองด้วยตัวเอง เริ่มอยากใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองมากขึ้นเพราะเริ่มอยากเติบโต อยากเป็นผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นเขาจึงเริ่มอยากทำอะไรที่ตนเองคิดและอยากตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง นั่นเลยอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาอาจจะไม่เลือกทำตามที่เราบอกเหมือนกับช่วงที่เขาเป็นเด็กก่อนหน้านั้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คืออาจดื้อขึ้นได้โดยธรรมชาตินั่นเอง
พ่อแม่และการเข้าหาวัยรุ่น
มาจนถึงจุดนี้ เชื่อเหลือเกินว่าผู้ปกครองคงอาจจะหนักใจไม่น้อยเลยเหมือนกันกับการต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงนี้ของลูก และก็คงอยากรู้เหมือนกันว่าเราควรจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเข้าหาลูกเราในวัยนี้ให้ได้มากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ฮอร์โมน และสมองนี้ มันก็อาจจะสร้างความเสี่ยงบางอย่างให้ลูกของเราไปเผชิญกับอันตรายได้เช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนตัวเราก็เห็นด้วยมาก ๆ เลยที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเราก็ควรจะยังต้องอยู่ข้าง ๆ ลูกในช่วงเวลานี้เหมือนกัน ไม่ใช่ปล่อยปละเลยให้เขาได้ explore เต็มที่ แต่ก็ไม่ใช่การอยู่ข้าง ๆ แบบที่เข้มงวดมาก ๆ จนไม่ให้ได้เขา explore ตัวตนด้วยเช่นกัน (เพราะมันยิ่งไม่ได้ผลเลยล่ะ!) ซึ่ง #คุณนายข้าวกล่อง จะมีวิธีแนะนำการเข้าหาลูกวัยรุ่นอะไรบ้าง เราลองมาดูกันเลย
.
เน้นการรับฟังและการแสดงออกให้รู้ว่ารับฟัง
เนื่องจากวัยรุ่นจะมีความเชื่อในความคิดและทัศนคติของตนเองอย่างมาก การแนะนำเลยอาจไม่ใช่สิ่งที่เข้าหูสำหรับวัยรุ่นสักเท่าไหร่ แถมยิ่งทำให้วัยรุ่นเกิดการต่อต้านเรามากขึ้นด้วย การที่เราใจเย็นลง รับฟัง และแสดงออกให้เขารู้ว่าเรากำลังรับฟัง (active listening) เลยเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับวัยรุ่นมากกว่า เพราะนั่นแปลว่าเขาจะได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดและทัศนคติของเขาได้เต็มที่ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างดีเลยในการสร้างสัมพันธภาพระหว่างเรากับลูกวัยรุ่น ทำให้เขาเริ่มไว้เนื้อเชื่อใจเรามากขึ้น ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการจะพัฒนาการแสดงความคิดเห็น หรือการสร้างข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน โดยในส่วนของการแสดงออกให้เขารู้ว่าเรารับฟังนั้นก็สามารถทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นจากสายตา การพยักหน้าเพื่อตอบสนองเรื่องราวที่ลูกเล่า การทวนความในสิ่งที่ลูกเล่าเป็นภาษาของเราเอง หรือการสะท้อนความรู้สึกจากสิ่งที่ลูกเล่าก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่เราสามารถใช้เพื่อแสดงออกถึง active listening ได้เช่นกัน
.
การใช้เหตุผลในการพูดคุยและตั้งคำถามปลายเปิดให้ลูกได้คิด
สมมติว่าเราจะคุยเพื่อสร้างข้อต่อรองบางอย่าง แทนที่เราจะใช้การบอกให้ห้ามทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราอาจจะหันมาลองใช้เหตุผลในการพูดคุยมากขึ้น เหมือนเวลาเราทำข้อตกลงบางอย่างกับผู้ใหญ่ด้วยกัน
.
สมมติว่าเราจะดีลกับลูกเรื่องการกลับบ้านให้ไม่ดึกมาก เราอาจจะพูดคุยการดีลนั้นให้เหมือนเราคุยกับผู้ใหญ่มากขึ้น ลองชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางของเราที่เกิดขึ้นเมื่อลูกกลับบ้านดึกในหลาย ๆ มิติ ยกตัวอย่างเช่น อาจจะทำให้เราเป็นห่วง พูดถึงอันตรายต่าง ๆ ภายนอกจากการกลับดึก เรื่องการรบกวนการนอนของเราที่อาจจะต้องออกมาเปิดประตูบ้านให้ การนอน การทำการบ้าน การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ฯลฯ รวมถึงเน้นการให้ลูกมีส่วนร่วมในการทำข้อตกลงนี้ร่วมกัน เพื่อทำให้ลูกรู้สึกเป็นเจ้าของในการตัดสินใจนี้ เพื่อทำให้เขาได้รู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองตัดสินใจเช่นกันเหมือนเวลาเราคุยกับผู้ใหญ่
.
ซึ่งการชี้ให้เห็นถึงผลกระทบหลาย ๆ ด้าน รวมถึงการสร้างข้อตกลงร่วมกัน เราสามารถใช้เทคนิคการถามคำถามปลายเปิดช่วยเพิ่มเติมได้เหมือนกัน เพื่อกระตุ้นทำให้เขาได้คิดเพื่อให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราหมายความมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นสมมติเราอยากให้ลูกตระหนักถึงความเป็นห่วงที่เรามีให้ เราอาจจะให้ลูกลองจินตนาการดูก็ได้ว่า หากสมมติว่ามีคนในบ้านกลับดึกแล้วเราง่วงนอนแล้วต้องมารอเปิดประตูบ้านให้ เราจะรู้สึกอย่างไร เพื่อทำให้เขาเข้าใจความรู้สึกที่เราหมายความมากขึ้นประกอบการสร้างข้อตกลงร่วมกัน
.
หวังว่าเทคนิคหรือวิธีการดังกล่าวนี้จะพอช่วยผู้ปกครองมือใหม่ในการเลี้ยงลูกวัยรุ่นได้ไม่มากก็น้อยนะคะ #คุณนายข้าวกล่อง ขอเป็นกำลังใจสุด ๆ เลย (เพราะเชื่อเหลือเกินว่าคงสร้างความกลุ้มใจและปั่นป่วนใจต่อคุณพ่อคุณแม่ไม่น้อย!) และหากผู้ปกครอง คุณพ่อคุณพ่อแม่อยากจะลองศึกษาเทคนิคการเลี้ยงลูกเพิ่มเติม สามารถมาศึกษาต่อได้ฟรีเลยที่ www.netpama.com
.
บทความโดย: คุณนายข้าวกล่อง
.
ที่มา
https://www.who.int/health-topics/adolescent-health#tab=tab_1