window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

ลูกน้อยใจอยากได้อยากมีเหมือนเพื่อน พ่อแม่ควรทำอย่างไร

เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ลูกน้อยใจอยากได้อยากมีเหมือนเพื่อน พ่อแม่ควรทำอย่างไร  

วันนี้เราจะมาคุยเรื่องของการ สอนลูกให้เห็นคุณค่าในตัวเอง เข้าใจและยอมรับความแตกต่าง 

บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์

  

"เพื่อนมีมือถือรุ่นใหม่ๆ ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ซื้อของเล่นแพงๆ ใช้ของแบรนด์เนม มีบ้านสวยหลังใหญ่ กินอาหารร้านหรูๆ หนูอยากมีบ้าง ทำไมบ้านเราไม่มีเหมือนบ้านอื่น"

ลูกๆ เคยมาบ่นแบบนี้กับเราบ้างไหมคะ  

  

การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ไม่ใช่เฉพาะกับเด็กแต่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่อย่างเรา ยิ่งในยุคปัจจุบัน โลกนั้นกว้างขึ้นมาก ไม่แค่กับเฉพาะคนใกล้ตัว แต่เราสามารถเข้าถึงชีวิตของผู้อื่นได้ง่ายและรวดเร็วผ่านการพูดคุยหรือการแสดงออกโดยเฉพาะในโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการแชร์สิ่งดีๆในชีวิต เช่น การเดินทางท่องเที่ยวในและต่างประเทศ การช๊อปปิ้งซื้อสิ่งของราคาแพง รีวิวทานอาหารในร้านหรูๆ เมื่อเกิดการเปรียบเทียบแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกอื่นๆ ตามมา เช่น น้อยใจ โกรธ อิจฉา หรือรู้สึกตัวเองด้อยค่าที่ไม่มีเหมือนผู้อื่น 

  

เมื่อลูกเกิดความรู้สึกน้อยใจจากการเปรียบเทียบกับเพื่อน พ่อแม่สามารถช่วยลูกจัดการอารมณ์และความรู้สึกที่อาจจะเกิดขึ้นได้ดังนี้ 

  

ยอมรับในความรู้สึกและอารมณ์ของลูก  

ไม่ดุด่าหรือต่อว่าลูก เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้ระบาย รับฟังลูกด้วยท่าทีสงบ เข้าอกเข้าใจ ทำให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่ยอมรับ เข้าใจความรู้สึกและรับฟังเค้า ซึ่งบางครั้งเพียงแค่ให้โอกาสลูกได้ระบายแล้วลูกก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้เอง  

  

“หนูน้อยใจที่ไม่มีเหมือนเพื่อน ..ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นได้ แม่เข้าใจความรู้สึกลูกจริงๆ จ่ะ” 

  

ตั้งสติและยอมรับว่าเราไม่สามารถให้ลูกได้ทุกอย่างตามความต้องการของลูก   

หลายครั้งความรู้สึกผิดมักจะเกิดขึ้นในใจพ่อแม่ หรือว่าเป็นเพราะเราที่ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการให้ลูกได้ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่สามารถให้ลูกได้ทุกอย่าง ตรงกันข้าม หากให้ลูกทุกอย่างโดยเกินฐานะ จะกลับเป็นการทำร้ายลูกอย่างมากในภายหลัง ลูกจะมีนิสัย เกินตัว  ซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงในวันที่เราให้ลูกไม่ได้ ขอให้พ่อแม่หมั่นทบทวนตัวเอง ภูมิใจและมั่นใจในด้านดี ว่าเราได้มอบความรักความอบอุ่นให้กับลูกอย่างเต็มที่แล้ว ให้ความสุขและตอบสนองความต้องการพื้นฐานตามฐานะเท่าที่เราทำได้ หากพ่อแม่มั่นคงรักและเคารพในตนเองก็จะสามารถส่งสารส่งความรู้สึกต่อให้ลูกได้ 

  

สอนให้ลูกรักและเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem)  

สร้างความเข้มแข็งในจิตใจลูก ด้วยการรักลูกแบบไม่มีเงื่อนไข เคารพตัวตนของลูก รับฟังความคิดเห็น แสดงให้ลูกรู้ว่า แม้ว่าลูกมีข้อบกพร่อง แต่ลูกมีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากพ่อและแม่เสมอ คุณค่าอยู่ที่ตัวเราไม่ใช่ที่วัตถุหรือสิ่งของที่ใช้ หากลูกมั่นใจและภูมิใจในตัวเองมากพอ ถึงแม้บางครั้งจะเกิดการเปรียบเทียบกับผู้อื่นบ้าง แต่ลูกก็จะเข้าใจและยอมรับความแตกต่าง ยังคงภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง 

  

"ถึงพ่อแม่จะยังมีงบไม่พอที่จะพาลูกไปต่างประเทศ แต่หลังเลิกงานทุกวันพ่อแม่รีบกลับบ้านมาอยู่กับลูกทันที วันหยุดก็พาลูกไปเที่ยวนอกบ้านเท่าที่พ่อแม่สามารถทำได้ เพราะพ่อแม่รักลูกมากๆ นะจ๊ะ"

  

สอนให้ลูกเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของคนในสังคม  

โดยสื่อสารกับลูกด้วยคำพูดเชิงบวกอย่างสม่ำเสมอ ชวนลูกพูดคุยถึงความแตกต่าง ทั้งในด้านครอบครัว ฐานะ หรือ การใช้ชีวิต ปลูกฝังทัศนคติ “ไม่ตัดสินคนอื่นจากภายนอก” โดยไม่เปรียบเทียบ หรือ วิจารณ์ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ฐานะ การแต่งตัวหรือสิ่งของที่ผู้อื่นใช้ 

  

"คนเราอาจจะมีการใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามความชอบและฐานะการเงิน ทุกคนสามารถเลือกใช้สิ่งที่ตัวเองชอบได้ตามกำลังของแต่ละบ้าน โดยไม่ทำให้ตัวเองหรือคนอื่นเดือดร้อน"

  

"การสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดสะอ้านเหมาะสมกับกาละเทศะ ถึงจะราคาไม่แพงแต่ก็ทำให้เรามั่นใจและดูดีได้"

  

สอนให้ลูกแยกแยะระหว่างสิ่งที่ต้องการกับสิ่งที่จำเป็น  

ความต้องการและความจำเป็นของแต่ละคนแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน  

"แต่ละบ้านอาจมีเหตุผลต่างกัน  บางสิ่งเพื่อนลูกอาจจำเป็นต้องมีแต่มันไม่จำเป็นกับเรา บางอย่างจำเป็นสำหรับเราแต่ก็อาจไม่จำเป็นสำหรับเพื่อนๆลูกเช่นกัน"

  

"แม่เข้าใจจริงๆว่าลูกอยากได้ …ถึงแม้ของที่ลูกใช้จะไม่ใช่ของแพง แต่แม่เลือกของที่ดีมีคุณภาพที่สุดเท่าที่แม่จะสามารถซื้อให้ลูกได้นะจ๊ะ"

  

ตั้งเป้าหมายและวางแผนร่วมกันกับลูกหากลูกต้องการของสิ่งนั้นจริงๆ  

เปิดใจพูดคุยและรับฟังเหตุผลของลูก หากลูกต้องการของชิ้นนั้นจริงๆ ลองให้ลูกเขียนข้อดี ข้อเสีย และผลที่จะเกิดขึ้นจากการซื้อของชิ้นนั้น หากพิจารณาแล้วว่า มีเหตุผลเพียงพอ ถือเป็นโอกาสที่ดีจะสอนให้ลูกรู้จักวางแผน สะสมเก็บออมเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ  

 

ยกตัวอย่างเช่น หากลูกต้องการซื้อ แทปเลตราคาแพงและมีเหตุผลเพียงพอเหมาะสม เช่นใช้เพื่อการศึกษา พ่อแม่สามารถวางแผนร่วมกันกับลูก เช่น ข้อตกลงจ่ายคนละส่วน โดยส่วนหนึ่งให้ลูกได้รู้จักเก็บเงินออมของตัวเองเพื่อซื้อสิ่งของที่อยากได้ ลูกจะเห็นคุณค่าของเงินและสิ่งของนั้น  

  

ชื่นชมเมื่อลูกสามารถยอมรับและจัดการอารมณ์ของตัวเองได้   

การชื่นชมเพื่อเป็นกำลังใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการยอมรับความแตกต่างเพื่อควบคุมจัดการอารมณ์ของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อใดที่ลูกทำได้ จำเป็นมากๆ ที่พ่อแม่ต้องให้การชื่นชมเพื่อเป็นกำลังใจให้ลูก  

  

"แม่ดีใจและภูมิใจในตัวลูกจริงๆ  ที่ลูกเข้าใจและรู้คุณค่าของสิ่งของ ของที่เรามีอยู่แล้วก็ใช้ได้ เราไม่ต้องใช้เหมือนคนอื่นก็ได้"

  

ความรู้สึกจากการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาเสมอไป ขึ้นอยู่กับมุมที่เราจะเลือกมอง การเปรียบเทียบ อาจจะทำให้เราและลูกได้เห็นคุณค่าหรือรู้จักที่จะชื่นชมยินดี ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น พ่อแม่คือ คนสำคัญมากๆ ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการสอนให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น เพื่อสอนให้ลูกเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง มาสร้างมุมมองและทัศนคติที่ดีให้ลูกมีความสุขได้ในความแตกต่างของสังคมกันนะคะ 

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa